ไล่ดูหมดเส้นทางเงินบ.-ผู้เกี่ยวข้อง!ดีเอสไอ ลุยสอบเครือข่ายธุรกิจ'เสี่ยกำพล'3 พันล.
พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล รองอธิบดีดีเอสไอ แจงแนวทางตรวจสอบเครือข่ายธุรกิจ 'เสี่ยกำพล' 3 พันล. คดี ‘วิคตอเรีย ซีเครท’ ยันไล่ดูหมดเส้นทางการเงินนิติบุคคล-บุคคลที่เกี่ยวข้อง รับการดำเนินงานอาจล่าช้าเหตุต้องตรวจสอบหลายหน่วยงาน ลั่นให้ความสำคัญเด็กที่เป็นเหยื่อถูกบังคับค้ากามด้วย
สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ติดตามนำเสนอข้อมูลเชิงลึกเครือข่ายธุรกิจของนายกำพล วิระเทพสุภรณ์ ผู้ต้องหาถูกออกหมายจับในความผิดฐานร่วมกันค้ามนุษย์ในคดีสถานอาบอบนวดชื่อดัง ‘วิคตอเรีย ซีเครท’ พร้อมครอบครัวจำนวน 34 บริษัท คิดเป็นมูลค่าสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 3,000 ล้านบาท (อ่านประกอบ:เปิดขุมข่ายธุรกิจ ‘เสี่ยกำพล’ 34 บริษัท 2.5 พันล. - อสังหาฯ อาบอบนวด รร.กวดวิชา)
ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 ม.ค.2561 พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการตรวจสอบคดีนี้ว่า ในวันนี้ (22 ม.ค. 2561) ดีเอสไอได้มีการประชุมหารือกันแล้ว และได้แนวทางว่าจะไปตรวจสอบทั้งนิติบุคคลรวมไปถึงบุคคลและเส้นทางการเงินที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อดูว่าจะมีความเชื่อมโยงกับวิคตอเรีย ซีเคร็ตอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้อาจจะช้าเพราะดีเอสไอไม่ได้มีเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมด สำหรับหน่วยงานที่จะไปตรวจสอบนั้นก็จะมีการไปตรวจสอบทั้งกับข้อมูลธนาคาร กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ ตรวจสอบการเสียภาษีกับกรมสรรพากร
"ทางดีเอสไอจะพยามยามเร่งดำเนินการตรวจสอบให้เสร็จโดยเร็ว แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับความร่วมมือของหน่วยงานที่เป็นเจ้าของข้อมูลด้วย ซึ่งในวันที่ 26 ม.ค. ดีเอสไอจะได้ประชุมหารือถึงผลการดำเนินการจากการสั่งการในที่ประชุมวันนี้อีกครั้งหนึ่ง"
เมื่อถามถึงเรื่องการจัดกลุ่มพยานที่เกี่ยวข้อง นายทรงศักดิ์กล่าวว่า มีการแบ่งกลุ่มกันแล้ว โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่สมัครใจมาค้าประเวณี 2.กลุ่มที่เป็นเด็กและ 3.กลุ่มที่ถูกบังคับขู่เข็ญให้มาค้าประเวณี และทางดีเอสไอก็ได้แบ่งวิธีปฏิบัติให้เหมาะสมแล้ว โดยจะต้องให้ความสำคัญกับเด็กที่เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง และให้ความสำคัญกับกลุ่มที่ถูกบังคับขู่เข็ญเป็นอันดับสอง จากการตรวจสอบพบว่ามีเด็กถูกนำมาค้าประเวณีประมาณ 14 คน ส่วนกลุ่มที่ถูกบังคับขู่เข็ญมานั้นพบว่าคนไทยเพียงคนเดียว สำหรับกลุ่มที่ค้าประเวณีโดยสมัครใจนั้นพบว่ามีทั้งกลุ่มคนไทย คนพม่า และคนลาว
เมื่อถามถึงเรื่องการคุ้มครองพยาน พ.ต.อ.ทรงศักดิ์กล่าวว่า เรื่องนี้มีการพูดคุยกันอยู่ โดยพบว่ามีเหยื่อบางส่วนได้รับความคุ้มครองจากทางกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดังนั้น ทางดีเอสไอก็จะไปดูว่าจะต้องไปคุ้มครองคนอื่นๆนอกจากผู้ที่เป็นเหยื่อหรือไม่ มีความสำคัญอย่างไรที่ต้องไปคุ้มครองเขาเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อรูปคดี