มอ.แจง 3 หลักสูตรวิศวะ โท -เอก ควบรวมแล้ว ยันไม่นิ่งนอนใจนศ.ที่ค้างท่อ
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แถลงข่าวผลการตรวจสอบ 8 หลักสูตรที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน สกอ. ยันบางข้อมูลมีความคลาดเคลื่อนที่ไม่ตรงกันยันตลอด 50 ปี พยายามขับเคลื่อนให้มีเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำ และผลักให้สูงกว่านั้นเสมอ จนได้เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติของประเทศไทย
วันที่ 19 ม.ค. 2561 ณ ห้องประชุมชั้น 2 ศูนย์ส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์แถลงข่าวผลการตรวจสอบหลักสูตรที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) โดย ผศ.ดร.ภัทร อัยรักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และสารสนเทศ รศ. ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล รองอธิการบดีฝ่ายระบบวิจัยและบัณฑิตศึกษา ศาสตราจารย์ ดร.ดำรงศักดิ์ ฟ้ารุ่งสาง คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย ประธานหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง ผ่านสถานีวิทยุ ม.อ.หาดใหญ่
ผศ.ดร.ภัทร กล่าวว่า กรณีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีหลักสูตรไม่ผ่านการประเมิน 2 ปีติดต่อกัน 8 หลักสูตร (ปีการศึกษา 2558 และ 2559) นั้น แบ่งเป็น
- หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมเครื่องกล (สถานะรอปรับปรุง) ไม่เข้าเกณฑ์ต้องไปประกาศ
- หลักสูตรวิศวกรรมมหาบัณฑิต สาขาการจัดการอุตสากรรม (สถานะรอการปรับปรุง) ก็ไม่ควรอยู่ในรายชื่อนี้เช่นกัน
- หลักสูตรศึกษาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สาขาภาวะผู้นำและนวัตกรรมทางการศึกษา (สถานะรอการปรับปรุง) ไม่ควรอยู่ในรายชื่อสกอ. เป็นความผิดพลาดข้อมูลที่ไม่ตรงกันระหว่าง มอ.และสกอ.
"ทางเราทราบข้อมูลสั้นมาก จึงไม่สามารถแก้ไขข้อมูลตรงนี้ได้ทัน"
ผศ.ดร.ภัทร กล่าวถึงหลักสูตรที่อยู่ในรายชื่อไม่ผ่านการประเมิน แต่มีกระบวนการปรับปรุงเรียบร้อยแล้ว ใช้เวลาที่ยาวนาน เพราะการเปลี่ยนหลักสูตรไม่สามารถทำได้ทันทีทันใด สมมุติหากผิดพลาดการหาอาจารย์ไม่ตรงเกณฑ์ คำว่าไม่ตรงเกณฑ์ ก็ต้องตีความเป็น 2 ประเภท ไม่ตรงเกณฑ์ที่ถูกเขียนไว้ และไม่ตรงเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐาน บางครั้งเกิดความสับสน เรามองว่าน่าเข้ามาตรฐานตามที่เราเข้าใจ บางหลักสูตรยังต้องตีความกัน เป็นต้น
"หลักสูตรที่ไม่ผ่านเกณฑ์ในบางข้อแล้วมีการปรับปรุงแล้ว คือ หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สาขาวิศวกรรมวัสดุ หลักสูตรวิศวกรรมมหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมวัสดุ ปริญญาโท ปริญญาเอก และ หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต วิศวกรรมเหมืองแร่ มีการควบรวม 3 หลักสูตรนี่เรียบร้อยแล้ว เราไม่นิ่งนอนใจนักศึกษาที่ค้างท่อ เข้ามาก่อนที่หลักสูตรมีรายชื่อ เราสามารถแก้ปัญหานักศึกษาไม่จบได้อย่างเป็นระบบ ผ่านตามเกณฑ์ สกอ."
ผศ.ดร.ภัทร กล่าวถึงหลักสูตร วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิตสาขาวิจัยทางทันตแพทยศาสตร์ นั้น ไม่มีนักศึกษามานานแล้ว นักศึกษาที่จบไปจบโดยหลักสูตรไม่มีปัญหา ที่มอ.ยังไม่ปิดหลักสูตรนี้เพราะมีบางสาขาวิชาจากหลักสูตรอื่นมาขอเรียน แต่ไม่จบจากตัวหลักสูตรนี้ ทั้งนี้ทำเรื่องแจ้งปิดไปยังสกอ.ไปเมื่อปลายปี 2560
หลักสูตรศึกษาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาหลักสูตรและการสอน ผศ.ดร.ภัทร กล่าวว่า ได้ชะลอการรับนักศึกษา ปี 2559 ปี 2560 และปรับปรุงตามเกณฑ์สกอ.อยู่ระหว่างการเสนอต่อที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย
"มอ.มีหลักสูตร 300 กว่าหลักสูตร ระดับปริญญาตรีไม่ได้รับผลกระทบเลย ครอบคลุม 5 วิทยาเขต นักศึกษากว่า 4 หมื่นคนเราดูแลทุกคนไม่ให้จบหลักสูตรที่ไม่ผ่านเกณฑ์ สกอ. เราคำนึงถึงคุณภาพทางการศึกษามา 50 ปี พยายามขับเคลื่อนให้มีเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำ ผลักให้สูงกว่านั้นเสมอ จนเราได้เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติของประเทศไทย"
ส่วนปัญหาทรัพยากรบุคคล ขาดแคลนอาจารย์ ผศ.ดร.ภัทร กล่าวว่า บางหลักสูตรขาดอาจารย์ ส่วนใหญ่เกณฑ์ที่กังวลเรื่องของบุคคลากรประจำหลักสูตร เป็นเกณฑ์ที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ หากบุคลากรเรายังไม่เกณฑ์เราจะไม่สามารถรับคนเพิ่มขึ้นได้ หรือหากบุคลากรของเราเกณฑ์เราก็ไม่สามารถหาคนมาใช้ได้ในหลักสูตรได้ทันที ตรงนี้เราทำแผนรองรับไว้แล้ว ฉะนั้นผลทางเทคนิกการส่งข้อมูลที่ไม่ถูกต้องไม่ตรงกันบ้างทั้งสองฝั่งอยู่บ้าง
'ขอขอบคุณสกอ.ยกประเด็นนี้ขึ้นมา ทำให้เรากลับมารีวิว และที่ผ่านมาไม่นิ่งนอนใจ มีแก้ไขอยู่เสมอ เมื่อประกาศเราก็แก้ไขย้อนกลับไปเป็นปี"
ด้าน รศ. ดร.พีระพงศ์ กล่าวขอบคุณ สกอ.ที่เป็นกระจกเงาสะท้อนให้เห็นปัญหาทั้งหมดของประเทศ มอ. 8 หลักสูตรนั้น 3 หลักสูตร ไม่ติดในรายชื่อ เป็นการสื่อสารไม่ถูกต้อง ต้องตัดทิ้ง อีก 4 หลักสูตรแก้ไขเรียบร้อยแล้ว และอีก 1 หลักสูตรกำลังแก้ไขให้เรียบร้อยภายในวันที่ 20 มกราคม 2561
"เกณฑ์การประเมิน ส่วนใหญ่ที่ไม่ผ่านคือเกณฑ์เรื่องอาจารย์ บางครั้งอาจารย์ลาออก ขาด 1 คนแก้ไขระหว่างประเมินไม่ทัน หาอาจารย์มาเสริมไม่ทันในช่วงนั้น ส่วนคุณภาพการเรียนการสอน ระดับบัณฑิตศึกษา ให้ความสำคัญกับงานวิจัย เน้นคุณภาพที่สูงกว่าระดับประเทศเพื่อให้มั่นใจว่าการศึกษาอยู่ระดับแนวหน้าของประเทศ อาเซียน และระดับโลก"
รศ. ดร.พีระพงศ์ กล่าวถึงทางปฏิบัติเมื่อหลักสูตรมีปัญหาจะหยุดรับนักศึกษาก่อน เช่น หลักสูตร วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิตสาขาวิจัยทางทันตแพทยศาสตร์ แต่กระบวนการปิดหลักสูตรต้องใช้เวลาระดับหนึ่งทำให้เกิดความลักลั่นกัน จริงๆแล้วเราทราบต้องดำเนินการปิด แต่เริ่มจากการหยุดรับนักศึกษาก่อน ส่วนนักศึกษาก็โอนย้าย ให้ทำวิจัยตามมาตรฐาน ตามคุณภาพทุกอย่าง จึงรับรองได้ว่า นักศึกษาของเรามีคุณภาพตามเกณฑ์ทุกประการ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ปีการศึกษา 58-59 จาก 182 หลักสูตรตกมาตรฐาน มหาวิทยาลัยไหน "ปิด- งดรับ.- รอปรับปรุง"