ส.โลกร้อน-NGOค้านมติครม.เขื่อนแม่วงก์หวั่นกระทบผืนป่า-ชุมชน“ธีระ"ยันเขื่อนแก้น้ำท่วมภัยแล้ง
เลขาธิการมูลนิธิสืบฯ ชี้เขื่อนแม่วงก์ส่งผลกระทบผืนป่าตะวันตก ทำลายแหล่งอาหารเกษตรชุมชนเตรียมเดินหน้าคัดค้านมติครม. ขณะที่สมาคมโลกร้อนออกแถลงการณ์จวกรัฐงบงิบงบประมาณ ขู่ระดมชาวบ้านใช้รธน.ยับยั้งโครงการ “ธีระ”ยันแก้ปัญหาน้ำท่วม มอบกรมชลฯเร่งสำรวจผลกระทบ คาดสร้างได้หลังก.ค.
วันที่ 11 เม.ย.55 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมว.กษ.) แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนภายหลังคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการให้มีการสร้างเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ภายใต้งบประมาณดำเนินการ 13,280 ล้านบาท มีระยะเวลาดำเนินการโครงการทั้งสิ้น 8 ปี (ปีงบประมาณ 2555 – 2562) ว่าคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รับไปดำเนินการตามขั้นตอน โดยกรมชลประทานจะดำเนินการสำรวจด้านธรณี ปฐพีวิทยา สภาพภูมิประเทศ รังวัด ปักหลักเขต ดำเนินการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนกรกฎาคม 2555 จากนั้นจึงเริ่มการก่อสร้างได้
รมว.กษ. กล่าวต่อว่า โครงการเขื่อนแม่วงก์เป็นโครงการหนึ่งในแผนพัฒนาลุ่มน้ำสะแกกรัง ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2525 - 2529) โดยตัวเขื่อนจะสร้างปิดกั้นลำน้ำวงก์ที่เขาสบกกในเขตตำบลแม่เลย์ อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ลักษณะทั่วไปของโครงการประกอบด้วย เขื่อนหัวงาน และอาคารประกอบพร้อมอาคารฝายทดน้ำและระบบชลประทาน มีลักษณะเป็นเขื่อนหินถมแกนดินเหนียว มีอาคารระบายน้ำล้น และอาคารระบายน้ำลงลำน้ำเดิม มีปริมาณน้ำเก็บกักที่ระดับปกติ 258 ล้านลูกบาศก์เมตร (ปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยต่อปี 260 ล้านลูกบาศก์เมตร) สามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนได้ประมาณ 237 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี โดยจะส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้นกว่า 291,900 ไร่ และพื้นที่ชลประทานด้านท้ายเขื่อนที่ราษฎรร้องขอเพิ่มเติมอีกจำนวน 10,000 ไร่ รวมถึงจะช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่โครงการและพื้นที่ท้ายน้ำ
“เขื่อนแม่วงก์จะแก้ไขปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยซ้ำซากในพื้นที่ลุ่มน้ำสะแกกรังที่มีพื้นที่รับน้ำฝนทั้งหมด 5,056 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีปริมาณน้ำท่าตามธรรมชาติรายปีเฉลี่ย 1,300 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ในเขตจังหวัดนครสวรรค์ กำแพงเพชร และอุทัยธานี รวมทั้งในพื้นที่หลายจังหวัดของลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล” นายธีระกล่าว
อย่างไรก็ตามต่อข้อซักถามถึงการเตรียมมาตรจ่ายค่าชดเชยและค่าเวนคืน รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า เป็นการเร็วเกินไปที่จะพูดถึงการจ่ายค่าชดเชย ต้องรอให้การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้วเสร็จจึงจะให้คำตอบได้ ส่วนประเด็นผลกระทบด้านทรัพยากรป่าไม้ และสัตว์ป่านายธีระ บอกสั้นๆว่าได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูแลภายใต้การกำกับของกบอ.
ด้านนายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวกับศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศราว่า เขื่อนแม่วงก์จะเป็นสาเหตุสำคัญที่จะทำให้เกิดความสูญเสียพื้นที่ป่าแน่นอน เพราะป่าอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ ประโยชน์ที่จะได้จากเขื่อน 200 กว่าล้านลูกบาศก์เมตรลดผลกระทบน้ำท่วมได้น้อยมาก พื้นที่ราบลุ่มการเกษตรจะได้รับความเสียหาย อีกทั้งป่าแม่วงก์ยังเป็นแหล่งอาศัยและแหล่งแพร่ขยายพันธุ์เสือโคร่ง ที่ใกล้สูญพันธุ์ และเป็นพื้นที่ป่าริมน้ำแหล่งอาหารชุมชนที่อุดมสมบูรณ์มากแห่งหนึ่งของประเทศ ซึ่งมีงานวิจัยระบุว่า ปัจจุบันมีสัตว์ป่าจำนวนมากอพยพจากพื้นที่มรดกโลกเข้ามาอาศัยอยู่ในผืนป่าแม่วงก์จำนวนมาก เรื่องนี้จึงน่าเป็นห่วงว่าประเทศไทยจะสูญเสียทรัพยากรที่สำคัญไป ทางออกในเรื่องแก้ปัญหาน้ำท่วมมีหลายแนวทาง รัฐบาลควรเลือกทางที่เสียหายน้อยที่สุด
“รัฐบาลควรคิดโครงการขนาดเล็กที่ทำแล้วไม่มีผลกระทบหรือมีก็ควรให้น้อยที่สุด เช่นการตัดทางเบี่ยงน้ำเล็กๆเข้าพื้นที่การเกษตรหรือตัดเส้นทางน้ำเข้าเขื่อนทับเสลา อุทัยธานีดีกว่าจะทำโครงการขนาดใหญ่ที่ทำให้เสียพื้นที่ป่าสักทองที่อุดมสมบูรณ์ มีวิธีการอื่นมากมายที่สามารถทำได้และเกิดความสูญเสียน้อยกว่า มูลนิธิสืบฯไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งและจะเดินหน้าคัดค้านโครงการเขื่อนแม่วงก์ถึงที่สุด” เลขาฯมูลนิธิสืบฯ กล่าว
นอกจากนี้ในวันเดียวกัน นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ออกแถลงการณ์คัดค้านเขื่อนแม่วงก์ โดยระบุว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2555 เห็นชอบให้สร้างโครงการเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์-กำแพงเพชร ในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ซึ่งติดต่อกับผืนป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวร พื้นที่ป่ามรดกโลกทางธรรมชาติ โดยมีข้ออ้างป้องกันน้ำท่วม และช่วยเหลือเกษตรกรให้มีน้ำใช้เพื่อการเกษตร ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคเหนือตอนล่างมีเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางมากกว่า 10 เขื่อน แต่ไม่สามารถป้องกันปัญหาน้ำท่วมเมื่อปี 2554 ได้ อีกทั้งโครงการดังกล่าวคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีมติไม่เห็นชอบในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ไปแล้วตั้งแต่ปี 2545
การก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์จะทำให้ประเทศชาติต้องสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ไปมากกว่า 13,000 ไร่ ต้องสูญเสียผืนป่าแหล่งดูดซับก๊าซที่ก่อปัญหาโลกร้อน โดยมีไม้สักหนาแน่นเป็นอันดับสองของประเทศไทยรองจากอุทยานแห่งชาติแม่ยม จ.แพร่ นอกจากนั้นลักษณะเด่นของผืนป่าแม่วงก์คือ มีสภาพเป็นป่าลุ่ม ซึ่งแตกต่างจากป่าในบริเวณที่สูงกว่า เพราะเป็นที่อยู่อาศัย แหล่งน้ำ และแหล่งหากินของสัตว์ป่า โดยเฉพาะในหน้าแล้ง สัตว์ป่าบางชนิดจะอาศัยอยู่เฉพาะที่ลุ่มหรือใกล้แม่น้ำเท่านั้น
ทั้งนี้ เมื่อมีการเสนอโครงการเมื่อปี 2528 กรมชลประทานเสนอใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 3,187 ล้านบาท โดยมีความจุของน้ำเหนือเขื่อน 380 ล้านลูกบาศก์เมตร ต่อมาเดือนสิงหาคม 2554 กรมชลประทานเพิ่มงบประมาณเป็น 9,629 ล้านบาท โดยลดความจุของน้ำเหนือเขื่อนเหลือ 258 ล้านลูกบาศก์เมตร จากนั้นระยะเวลาผ่านไปไม่ถึง 8 เดือน กลับมีการเพิ่มงบประมาณในการก่อสร้างกว่า 13,000 ล้านบาท
“โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 วรรคสอง ซึ่งรัฐบาลต้องดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย หากรัฐบาลรวบรัดดำเนินการ สมาคมฯและชาวบ้านจะใช้กระบวนการยุติธรรมตามมาตรา 60 และมาตรา 67 วรรคสาม เพื่อยับยั้งและเพิกถอนโครงการดังกล่าวแน่นอน” นายศรีสุวรรณ กล่าว