รัฐยังไม่ได้พบ "ดูนเลาะ" กับภาพบีอาร์เอ็นในสายตาคณะพูดคุยฯ
มีความคืบหน้ากระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งหลายฝ่ายให้ความสนใจ เพราะคณะพูดคุยของรัฐบาลเคยประกาศว่า ปีนี้จะประสบความสำเร็จเรื่องการจัดตั้ง "พื้นที่ปลอดภัย" อำเภอแรก
ขณะที่อีกหนึ่งประเด็นซึ่งถูกจับตาไม่แพ้กัน คือความพยายามประสานเพื่อพบปะพูดคุยกับ "ดูนเลาะ แวมะนอ" ที่ฝ่ายความมั่นคงไทยเชื่อว่าเป็นผู้นำสูงสุดคนปัจจุบันของบีอาร์เอ็น และบีอาร์เอ็นคือกลุ่มที่มีศักยภาพสูงสุดในการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่
แต่ข้อเท็จจริงจากคำบอกเล่าของผู้แทนคณะพูดคุยฯ จะตอบโจทย์ความคาดหวังของสังคมได้แค่ไหน เป็นเรื่องที่น่าติดตาม...
จับเข่าคุย "ปีกทหารบีอาร์เอ็น"
พล.ต.สิทธิ ตระกูลวงศ์ เลขานุการคณะพูดคุยสันติสุขฯของรัฐบาล บอกกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า การพูดคุยเพื่อสันติสุขฯครั้งล่าสุด ได้มีการพบปะกับตัวแทนบีอาร์เอ็น ซึ่งเป็นตัวแทนปีกทหารขององค์กรด้วย แต่ยังไม่ใช่ระดับหัวหน้า
"มีการส่งคนเข้ามาพูดคุย ถือเป็นแนวโน้มที่ดี" พล.ต.สิทธิ ระบุ
ไม่เข้าใจ...ทำไมต้อง "ดูนเลาะ"
ส่วนการนัดพบปะกับ ดูนเลาะ แวมะนอ ที่เชื่อกันว่าเป็นผู้นำสูงสุดของบีอาร์เอ็นนั้น เลขานุการคณะพูดคุยฯ บอกว่า ปัจจุบันไม่มีใครเข้าถึงผู้นำสูงสุดของบีอาร์เอ็นได้ แต่จากการพูดคุยกับตัวแทนบีอาร์เอ็นจากปีกทหาร พบว่ามีความคิดต่างชัดเจน ยืนยันว่าเป็นตัวจริงแน่นอน
"ผมรู้สึกแปลกใจว่าทำไมมีการพุ่งเป้าไปที่ดูนเลาะ เพราะดูนเลาะก็เป็นกลุ่มหนึ่ง จริงๆ แล้วบีอาร์เอ็นไม่เคยมีการประชุม ไม่มีการเคลื่อนไหวหรือขับเคลื่อนใดๆ มานานมากแล้ว ทุกวันนี้มักเป็นการแอบอ้างเท่านั้น จากการพูดคุยกับตัวแทนปีกทหารของบีอาร์เอ็น ได้รับข้อมูลว่าที่ผ่านมาไม่เคยมีมติของบีอาร์เอ็นในเรื่องต่างๆ เลย แต่ที่มีข่าวก็มาจากการแอบอ้างว่ามีการเปลี่ยนแปลงผู้นำ และมีการเคลื่อนไหวต่างๆ"
"พื้นที่ปลอดภัย" ใกล้สำเร็จ
พล.ต.สิทธิ ยืนยันว่า การพูดคุยมีแนวโน้มที่ดี มีคนใหม่ที่มีความคิดต่างเข้ามา รวมทั้งคนที่เคยลังเลก็เข้ามา ส่วนเรื่องการจัดตั้ง "พื้นที่ปลอดภัย" หรือ เซฟตี้ โซน อำเภอแรก ขณะที่อยู่ในขั้นตอนการเปิด "เซฟเฮาส์" และทราบพื่นที่ที่จะเปิดแล้ว
"เราจะเดินหน้าเรื่องจัดตั้งเซฟเฮาส์ ปัจจุบันยังอยู่ในกระดาษ จากนั้นจะมีการคุยกันระหว่างปาร์ตี้ A (คณะพูดคุยของรัฐบาลไทย) กับปาร์ตี้ B รวมทั้งผู้เกี่ยวข้อง หากไม่มีอะไรติดขัด ในอนาคตก็จะตั้งเป็นศูนย์สำหรับแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้"
แฉบางกลุ่มลุ้นเปิดช่องทางพูดคุยเพิ่ม
กระบวนการพูดคุยสันติสุขฯในปัจจุบัน มีรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก ถือเป็นช่องทางพูดคุยอย่างเป็นทางการที่รัฐบาลไทยรับรอง แต่ พล.ต.สิทธิ ก็ยอมรับว่า มีบางกลุ่มบางองค์กรที่เป็นองค์กรระหว่างประเทศ กำลังขับเคลื่อนพยายามตั้งกลุ่มพูดคุยใหม่อีกกลุ่มหนึ่ง โดยจะให้อินโดนีเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก
"ผมขอยืนยันว่า การพูดคุยกับรัฐบาลไทยมีช่องทางนี้ช่องทางเดียวเท่านั้น และมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก ไม่มีช่องทางอื่น ยืนยันว่ากลุ่มที่เข้ามาคุยตอนนี้เป็นกลุ่มที่มีความคิดต่างของจริง" พล.ต.สิทธิ ย้ำ และว่า โจทย์ใหญ่ขณะนี้คือจะทำอย่่างไรให้กลุ่มคนที่ยังลังเล เข้ามาร่วมโต๊ะพูดคุยมากขึ้น และสร้างความมั่นใจว่าช่องทางพูดคุยกับรัฐบาลไทย มีช่องทางนี้ช่องทางเดียว
"อักษรา" สานฝัน "ศูนย์สันติสุข"
ช่วงต้นสัปดาห์ที่สามหลังปีใหม่ พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯของรัฐบาล ออกแถลงการณ์สรุปความคืบหน้ากระบวนการพูดคุย โดยระบุตอนหนึ่งว่า ช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน ม.ค.61 ได้มีโอกาสพูดคุยกับหัวหน้ากองกำลังบีอาร์เอ็น ที่เข้าร่วมการพูดคุยฯ จึงทราบว่าในกลุ่มขบวนการมีทั้งผู้เห็นด้วยกับการพูดคุย และผู้เห็นต่าง นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่คิดว่าต้องแสดงศักยภาพให้สังคมรู้ว่าเป็น "ตัวจริง" แต่บางคนก็ไม่ทำ เพราะไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง และกำลังพูดคุยกับรัฐบาลเพื่อหาทางออกร่วมกัน
ที่สำคัญเห็นด้วยกับการสร้าง "พื้นที่ปลอดภัย" โดยปลอดภัยจากการก่อการร้าย และปลอดภัยจากปัญหาภัยแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น ยาเสพติด สำหรับ "พื้นที่ปลอดภัย" นี้ เมื่อเริ่มดำเนินการจะมีประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นสักขีพยาน
"เรื่องพื้นที่ปลอดภัยนั้น ปัจจุบันทั้งปาร์ตี้ A และปาร์ตี้ B รวมทั้งผู้อำนวยความสะดวก ได้รับทราบร่วมกันแล้วว่าเป็นพื้นที่ใด แต่ต้องแจ้งให้นายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) รับทราบก่อน หลังจากนั้นจะเป็นขั้นตอนของการเตรียมพื้นที่ ซึ่งใช้เวลา 3-4 เดือน เพื่อดำเนินการตามข้อกังวลของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ทั้งในเรื่องมาตรการรักษาความปลอดภัยพื้นที่ มาตรการรักษาความปลอดภัยบุคคล และความพร้อมของผู้ที่จะเข้ามาร่วมดำเนินการ ภายใต้ศูนย์ประสานงาน หรือ 'เซฟเฮาส์' เมื่อทุกฝ่ายมีความพร้อม ทางผู้อำนวยความสะดวกจะร่วมเป็นสักขีพยานในการเปิดศูนย์ประสานงาน และประกาศให้สังคมได้รับทราบว่าเป็นพื้นที่อำเภอใด เพื่อให้ประชาชนและนักวิชาการทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่นั้นต่อไป"
พล.อ.อักษรา บอกด้วยว่า ในอนาคต ศูนย์ประสานงานแห่งนี้จะแปรสภาพเป็น "ศูนย์สันติภาพ" เพื่อให้สามารถดูแลความปลอดภัยในทุกพื้นที่ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง
ไร้วี่แววพบ "ดูนเลาะ" ประเทศที่สาม
เป็นที่น่าสังเกตว่า การพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ รอบล่าสุดที่ทั้ง พล.อ.อักษรา และ พล.ต.สิทธิ ยืนยันตรงกันว่ามีการพบปะกับผู้แทนปีกทหารของบีอาร์เอ็นนั้น เป็นการพูดคุยกับผู้เห็นต่างจากรัฐในร่มของ "มารา ปาตานี" หรือไม่ เพราะมีรายงานข่าวจากหน่วยงานความมั่นคงว่า การพบพูดคุยกับปาร์ตี้ B คือ มารา ปาตานี ที่ประเทศมาเลเซีย ในช่วงหลังปีใหม่นั้น ถูกเลื่อนออกไปอย่างกะทันหัน และไม่มีกำหนด
ส่วนความเป็นไปได้ในการพบปะกันส่วนตัวระหว่าง ดูนเลาะ แวมะนอ กับ พล.อ.อักษรา ในประเทศที่สาม เพื่อดึงบีอาร์เอ็นภายใต้การนำของนายดูนเลาะ ร่วมโต๊ะพูดคุยสันติสุขฯด้วยนั้น ข่าวจากหน่วยงานความมั่นคงยืนยันว่า การนัดพบกันของบุคคลทั้งสองยังไม่เกิดขึ้น
ขณะที่คนในบีอาร์เอ็น ให้ข้อมูลกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า ดูนเลาะต้องการคุยและตกลงส่วนตัวกับ พล.อ.อักษรา เพื่อดูท่าทีก่อน จึงจะตัดสินใจว่าจะส่งตัวแทนเข้าร่วมโต๊ะพูดคุยกับรัฐบาลไทยด้วยหรือไม่
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 พล.ต.สิทธิ ตระกูลวงศ์
2 พล.อ.อักษรา เกิดผล
อ่านประกอบ : พล.ต.สิทธิ : ตั้งเซฟเฮาส์ถกพื้นที่ปลอดภัย - จำเป็นไหมคุย "ดูนเลาะ แวมะนอ"