รองอธิการบดี มข. ชี้หลักสูตรไม่ผ่าน QA ถ้าทุกคนเข้าใจระบบก็ไม่ได้น่ากลัวหรือใหญ่โตอะไร
ผศ.ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี ยันตัวชี้วัดหลักสูตร สกอ.มีเหตุผล เพื่อไม่ให้มีการทำหลักสูตรจากคนเพียงไม่กี่คน เชื่อรับนักศึกษามาก ๆ ส่งผลต่อคุณภาพ ยันวัดมาตรฐานจะให้ดีต้องดูตัวอื่นประกอบด้วย ลั่นกรณีนี้ไม่โทษใคร ถ้าทุกคนเข้าใจระบบก็ไม่ได้น่ากลัว
ผศ.ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงมติคณะกรรมการการอุดมศึกษาให้ประกาศรายชื่อหลักสูตรที่ไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรจากผลการประเมินการประกันคุณภาพภายใน (IQA) เฉพาะในองค์ประกอบที่ 1 เป็นเวลา 2 ปีติดต่อกัน (ปีการศึกษา 2558 และ 2559) จำนวน 182 หลักสูตร จากทั้งหมด 9,099 หลักสูตร ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของความเข้าใจ ถือเป็นบทเรียนที่ต้องแก้ไขทุกฝ่าย และควรเป็นโอกาสในการปรับปรุงแก้ไขต่อไป
ผศ.ดร.เด่นพงษ์ กล่าวถึงการพาสื่อมวลชนไปเยี่ยมชมสภาพจริงการจัดการหลักสูตรปริญญาโท ปริญญาเอก สาขาวิชาเวชศาสตร์เขตร้อน หลักสูตรนานาชาติ ที่เป็น 2 หลักสูตรที่ไม่ผ่านมาตรฐาน (ในความหมายของ QA) ซึ่งมีการจัดการเรียนการสอนที่ดีมาก ๆ เป็นที่ยอมรับในผลงานโดยการนำผลการวิจัยไปใช้ในองค์การอนามัยโลก และมีการวิจัยที่ผลงานยอดเยี่ยม แต่ มข. ก็ประเมินให้หลักสูตรนี้ไม่ผ่านตามเกณฑ์ สกอ. เพราะต้องการให้รีบแก้ไข อีกทั้งอยู่ในวิสัยที่ทำได้ เพียงแต่ว่าหลักสูตรดังกล่าว เป็นสาขาวิชาเฉพาะมาก ๆ การรับอาจารย์ที่มีคุณวุฒิและคุณสมบัติดี ต้องใช้เวลา โดยปัจจุบันก็ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว
“เรื่องนี้ไม่โทษใคร ถ้าทุกคนเข้าใจระบบก็ไม่ได้น่ากลัวหรือใหญ่โตอะไร”
เมื่อถามถึงระบบประเมินภายในของมหาวิทยาลัย ผศ.ดร.เด่นพงษ์ กล่าวว่า เราประเมินทั้งหมด และให้คะแนนทุกองค์ประกอบ แต่เงื่อนไขที่ สกอ กำหนดคือ องค์ประกอบ 1 (เรื่องจำนวนและคุณสมบัติอาจารย์ การบริหารจัดการหลักสูตร ตามเกณฑ์มาตรฐาน) ซึ่งมี 4 ตัวชี้วัด หากไม่ผ่านตัวใดตัวหนึ่ง จะถือว่าไม่ผ่านมาตรฐานเลย แม้ตัวอื่นจะได้คะแนนเต็มทั้งหมดก็ตาม
“ที่เป็นปัญหาส่วนใหญ่คือ ไม่ผ่าน องค์ 1 ข้อ 1 เพราะกำหนดว่าต้องมีอาจารย์ประจำ 5 คนตลอดระยะเวลาหลักสูตร ซึ่งบางช่วงบางเวลาจะมีปัญหาเช่น อาจารย์เกษียณ อาจารย์ลาศึกษาต่อ แล้วรับคนเข้ามาทดแทนไม่ทัน แต่จะจัดให้มีอาจารย์พิเศษ หรือเชิญผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเข้ามาเสริมชั่วคราว แต่จะนับไม่ได้ เพราะไม่ถือว่า ทำงานเต็มเวลา ทั้งๆ ที่ไม่กระทบการจัดการเรียนการสอน” รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและสื่อสารองค์กร ม.ขอนแก่น กล่าว และว่า องค์ 1 อีก 3 ตัว จะเกี่ยวคุณสมบัติและผลงานอาจารย์ ซึ่งปกติไม่มีปัญหา เพราะถ้าไม่ตรงมหาวิทยาลัยจะไม่รับเข้าอยู่แล้ว
ทั้งนี้ ผศ.ดร.เด่นพงษ์ กล่าวถึงตัวชี้วัดนี้มองว่า มีเหตุผล เพื่อไม่ให้มีการทำหลักสูตรจากคนเพียงไม่กี่คน แล้วรับนักศึกษามาก ๆ ซึ่งคุณภาพไม่ดีแน่ ๆ แต่หากหลักสูตรใดไม่ผ่าน อาจต้องจะดูตัวอื่นประกอบด้วย เช่น ผลงาน หรือแนวทางแก้ปัญหาที่เชื่อถือได้ มาประกอบครับ เพราะคำว่า มาตรฐาน ทั่วไปจะเข้าใจคนละแบบกัน
เมื่อถามถึงการเปิดและปิดหลักสูตรใดหลักสูตรหนึ่งใช้เวลากี่ปี ผศ.ดร.เด่นพงษ์ กล่าวว่า อย่างน้อยตามระยะเวลาแต่ละหลักสูตร เช่น 4 ปี ก็ต้องใช้เวลา 4 ปี
“สกอ. ไม่ได้ปิดหลักสูตร เพราะไม่มีอำนาจ แต่สภามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะพิจารณาปิดเอง เช่นของ มข. เราเห็นว่าหลักสูตรหนึ่ง ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์แล้ว เราก็เริ่มกระบวนการปิดมาแล้ว 3 ปี โดยไม่รับนักศึกษา และขณะนี้มีนักศึกษาปีสุดท้ายแค่ 10 คน แบบนี้ไม่ควรประเมินทุกตัวชี้วัด แต่ต้องประเมินว่า ยังจัดการเรียนการสอนให้เด็กที่ค้างอยู่อย่างดี มีคุณภาพ ซึ่งนั่นคือที่เราทำ ฉะนั้น การประกาศต่อสาธารณะ ควรใช้ข้อมูลปัจจุบันที่สุดเพิ่มเติมด้วย เพราะประชาชนต้องการทราบปัจจุบัน ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงหนึ่งในความคิดของผู้บริหารการศึกษา อาจจะมีความคิดจากผู้มีส่วนร่วมอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น นักศึกษา อาจารย์ นักวิจัย ผู้ปกครอง ซึ่งน่าจะมีส่วนในการให้ข้อมูลแบบนี้บ้าง เพื่อพัฒนาให้ดีขึ้นไปด้วยกัน ”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ม.ขอนแก่น ชี้แจง 4 หลักสูตร ไม่ผ่านเฉพาะตัวชี้วัด ไม่เกี่ยวกับคุณภาพจัดการเรียนการสอน
ปีการศึกษา 58-59 จาก 182 หลักสูตรตกมาตรฐาน มหาวิทยาลัยไหน "ปิด- งดรับ.- รอปรับปรุง"
สกอ.เปิดชื่อหลักสูตรไม่ได้มาตรฐาน ม.รามฯ -ราชภัฏเชียงรายนำโด่ง
ครั้งแรก! สกอ.ประกาศ 182 หลักสูตรไม่ได้มาตรฐาน ทั้งตรี โท เอก
ดาวโหลด มติกกอ.หลักสูตรตกองค์ประกอบที่ 1
ขอบคุณภาพจาก https://www.kku.ac.th