นักศศ.มธ. หนุน 'เมดิคัล ทัวร์ริสซึม' โชว์ปี 59 รายได้เข้าไทย 5 หมื่นล้าน
นักวิชาการ มธ. เผยโอกาสภาคบริการไทยบุกตลาดต่างชาติ หนุนชู “เมดิคัล ทัวร์ริสซึม” พัฒนายั่งยืน ต้องแก้ปัญหากำลังคน โดยเฉพาะพยาบาล สร้างระบบระงับข้อพิพาทผู้ป่วย-รพ. ตามหลักสากล หวังดึงผู้ป่วยต่างชาติเข้ามารักษา สถิติล่าสุด จำนวนคนอเมริกันรับบริการสุขภาพ “ไทย” เป็นรองแค่เม็กซิโก
วันที่ 18 ม.ค. 2561 คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ จัดสัมมนาวิชาการประจำปี 2561 ครั้งที่ 40 เรื่อง “Re-design ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน” ณ หอประชุมศาสตราจารย์สังเวียน อินทรชัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
รศ.ดร.อาชนัน เกาะไพบูลย์ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ (มธ.) นำเสนอในหัวข้อ “ภาคบริการของไทยกับบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” ตอนหนึ่งระบุถึงภาคบริการ “เมดิคัล ทัวร์ริสซึม” (Medical Tourism) หรือภาคบริการสุขภาพ ว่าปัจจุบันคนในประเทศพัฒนาแล้วนิยมเดินทางมารับบริการสุขภาพจากประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะจากไทย ซึ่งเป็น 1 ใน 4 องค์ประกอบของเมดิคัล ฮับ (Medical Hubs) และเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรม S-curve/New S-Curve ของรัฐบาลชุดปัจจุบันในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามารับการรักษาในไทย คิดเป็นร้อยละ 10 ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด มีมูลค่าราว 5 หมื่นล้านบาท ในปี 2559 หรือร้อยละ 30.4 ของรายได้จากการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติรวม เพราะสินค้ามีราคาสูง ทำให้ได้กำไรมาก ถือได้ว่า เมดิคัล ทัวร์ริสซึม ตอบโจทย์จุดนี้
นักวิชาการ มธ. ยังกล่าวถึงสิ่งที่เรามักพูดกันทั่วไปของเมดิคัล ทัวร์ริสซึม ว่าไทยเป็นประเทศที่มีโรงพยาบาลมากถึง 42 แห่งที่ได้รับมาตรฐาน JCI (Joint Commission International) และมีศักยภาพที่รองรับผู้ป่วยชาวต่างชาติ นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลชั้นนำของไทย ได้แก่ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ โรงพยาบาลกรุงเทพ และล่าสุด โรงพยาบาลสมิติเวช ติด 1 ใน 10 ของโรงพยาบาลดีที่สุดในโลก โดยการจัดอันดับของ Medical Travel Quality Alliance
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ไม่ค่อยพูดกัน และมีนัยยะสำคัญต่อการออกแบบนโยบาย คือ วันนี้เมดิคัล ทัวร์ริสซึม ของไทยไปไกลมาก เพราะมีจำนวนคนไข้ชาวต่างชาติในประเทศไทยมากกว่าคู่แข่งอย่างมาเลเซียถึง 3 เท่า ที่สำคัญ การเข้ามารับการรักษาไม่ใช่การตรวจสุขภาพของแรงงานข้ามชาติที่มาทำงานในไทย แต่เป็นการเข้ามารักษาจริง ๆ
นอกจากนี้ไม่ใช่กิจกรรมทางการแพทย์ทุกอย่างที่ Outsource เข้ามาเป็นเมดิคัล ทัวร์ริสซึม ได้ แต่เป็นกิจกรรมที่มีลักษณะร่วม กระจุกในกิจกรรมการผ่าตัดต่าง ๆ เช่น กระดูก เข่า สะโพก ทำฟัน มะเร็ง โรคหัวใจ เป็น High Value per unit และไม่ใช่การรักษาเร่งด่วน และหลายกิจกรรมต้องมีการพักฟื้น
รศ.ดร.อาชนัน กล่าวเพิ่มเติมถึงข้อมูลจำนวนนักท่องเที่ยว เมดิคัล ทัวร์ริสซึม ในแต่ละประเทศ ซึ่งรวบรวมโดยรอยเตอร์ ว่า เฉพาะคนสัญชาติอเมริกัน นิยมเข้ามารักษาในเม็กซิโกมากที่สุด รองลงมา คือ ไทย และถูกมองไทยเก่งทุกด้าน ขณะที่เว็บไซต์ของแคนาดา มองไทยเก่งในเรื่องการผ่าตัดแปลงเพศ คำถามคือจะปล่อยให้ภาพลักษณ์ทางการแพทย์เช่นนี้ถูกสื่อสารออกไปอย่างนั้นหรือไม่ ทั้ง ๆ ที่แพทย์ไทยมีความสามารถหลายด้าน ทั้งนี้ ไม่ได้ดูถูกวิชาการผ่าตัดแปลงเพศ
“การจะเดินหน้าเมดิคัล ทัวร์ริสซึม ให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น จะต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน แก้ปัญหากำลังคน โดยเฉพาะพยาบาล และวัตถุดิบทางการแพทย์ รวมถึงต้องมีกฎกฎระเบียบที่ชัดเจน เพื่อไทยจะได้เข้าถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในโลก เช่น การกำหนดขบวนการที่ชัดเจนและโปร่งใสเพื่อให้ลดการใช้วิจารณญาณ และสุดท้าย ถ้าจะเป็นศูนย์กลางของโลก ไทยต้องสร้างระบบระงับข้อพิพาทระหว่างผู้ป่วยกับโรงพยาบาลตามหลักสากล เพราะแน่นอนว่า คนอเมริกันนิยมมารักษาในประเทศที่หากได้รับความเสียหายจะต้องสามารถฟ้องร้องได้” นักวิชาการ มธ. ระบุ .