จุฬาฯ-มศว. เปิดตัว บทเรียนออนไลน์ รู้เท่าทันสื่อ คาดเปิดใช้ทั่วไป ส.ค. 61
จุฬา-มศว. เปิดตัว บทเรียนออนไลน์ รู้เท่าทันสื่อ คาดเปิดใช้ทั่วไป ส.ค.61 หวังสร้างความเข้าใจ วิเคราะห์ แยกแยะ รับผิดชอบสังคมกับผู้เรียน ผู้บริโภคสื่อ ด้านอาจารย์นิเทศย้ำวันนี้ Media Literacy ไทยยังไปไม่ถึงระดับเท่าทันสังคม
เมื่อวันที่ 17 ม.ค.61 ที่อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ และวิทยาลัยนานาชาติเพื่อศึกษาความยั่งยืน ม.ศรีนครินทรวิโรฒ จัดงานเปิดตัวบทเรียนออนไลน์ “การรู้เท่าทันสื่อ” (MEDLIT MOOC LAUNCH)
ดร.จริยุทธ์ สินธุพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงสถานการณ์การรู้เท่าทันสื่อในปัจจุบันเราใช้การรู้เท่าทันแบบการจับผิดสื่อโดยไม่ได้เข้าใจสื่อว่าจริงๆ สื่อสัมพันธ์กับชีวิตของเราอย่างไร สื่อสัมพันธ์กับระบบสังคม เศรษฐกิจ การเมืองอย่างไร และขณะเดียวกันสื่อมีศักยภาพอย่างไรได้บ้างขณะที่เราเป็นผู้ใช้ ทั้งการเป็นผู้รับและผู้สร้าง วันนี้คนไทยยังไปไม่ถึงจุดนั้น ในทางสายการศึกษาเองก็ยังเป็นการเรียนในเชิงพัฒนาความรู้ในเชิงปัจเจก ยังไปไม่ถึงการรู้เท่าทันสังคม
คำว่ามีวิจารณญาณในการใช้สื่อ ดร.จริยุทธ์ กล่าวว่า สิ่งนี้คือความรับชอบในเชิงสังคม เราทุกคนต้องรู้ว่าการกระทำของเราส่งผลต่อเรื่องอื่นๆ ได้อย่างไร ซึ่งวันนี้เรายังขาดในเรื่องนี้กับการบริโภคสื่อในสังคมไทย เพราะมักคิดว่าเราแชร์ในเฟซบุ๊คเป็นเรื่องของตัวเอง
ด้านอาจารย์ธนากร ทองประยูร ตัวแทนคณะจัดทำโครงการฯ กล่าวถึงความสำคัญของการรู้เท่าทันสื่อ หรือ Media Literacy ว่า ในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลง สื่อมีความสำคัญ โดยการออกแบบบทเรียนทำอย่างไรให้ผู้เรียนมีส่วนในการพัฒนาความรู้ ปัญญา และสามารถคิดวิเคราะห์แยกแยะ ผู้เรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับบทบาทของสื่อที่มีผลต่อวิถีชีวิตทางสังคมและวัฒนธรรมของคนไทย กระบวนการที่สื่อ หล่อหลอมความคิดและโลกทัศน์ของมนุษย์ ตลอดจนกระบวนการที่สื่อใช้ในการสร้างความเป็นจริงให้แก่สังคม
สำหรับการดำเนินในการพัฒนาบทเรียนครั้งนี้ อ.ธนากร กล่าวว่า เริ่มต้นจาการอบรมสัมมนาผู้เข้าร่วมโครงการในแต่ประเทศ เพื่อเรียนรู้ระหว่างกัน การสำรวจสถานการณ์การรู้เท่าทันสื่อจากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญและกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในแต่ละประเทศ เพื่อคัดกรองและพัฒนาเนื้อหาที่สำคัญของการรู้เท่าทันสื่อที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศนั้นๆ ก่อนที่จะนำมาทดลองพัฒนาเป็นบทเรียนออนไลน์ภายใต้คำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญจากเนเธอแลนด์และมาเลเซีย
โดยสิ่งที่คาดหวังว่าเมื่อผู้เรียนผ่านกระบวนการเรียนรู้ของ Thai MedLit MOOC แล้วนั้น อ.ธนากร กล่าวว่า (1) ผู้เรียนสามารถวิเคราะห์การเป็นตัวแทนของสื่อประเภทต่างๆ (Media Representation)และวัตถุประสงค์ของสื่อทัศน์ (Visual Media) (2) ผู้เรียนสามารถอธิบายได้ว่า สื่อสร้างความเป็นจริงและแนวคิดของโลกได้อย่างไร (3)ผู้เรียนสามารถสำรวจ สื่อชุมชน (Comminity Media)ในประเทศไทย และเปรียบเทียบบทบาทและกลไกของสื่อชุมชนในประเทศตนเองกับประเทศอื่น (4) ผู้เรียนสามารถแสดงความคิดเชิงสร้างสรรค์ และความคิดอย่างมีวิจารณญาณ กับข้อเท็จจริงและข้อมูลหลอกหลวงเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง และสุดท้าย (5) ผู้เรียนสามารถอธิบายถึงประเด็นปัญหาการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์(Cyber Bullying) และสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้หาวิธีป้องกันการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ที่เหมาะสม
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า บทเรียนออนไลน์ที่นำเสนอในครั้งนี้เป็นเพียงต้นแบบที่ทำขึ้นมาทดสอบผลของการศึกษาวิจัย ในส่วนบทเรียนที่จะนำมาเปิดใช้จริงคาดว่าจะสามารถใช้งานได้ในช่วงเริ่มปีการศึกษาที่ 1 ของปี 2561 นี้ สำหรับโครงการรู้เท่าทันสื่อเพื่อการเปลี่ยนแปลง เป็นโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการ ภายใต้การสนับสนุนของโครงการ ERASMUS+ แห่งสหภาพยุโรป และความร่วมือระหว่างมหาวิทยาลัยในยุโรปและเอเชีย อาทิ University of Vienna, Open University of the Netherlands, Academy of Journalism and Communication Hanoi, Universiti Malaysia Kelantan