สระบุรีแชมป์ฝุ่นพิษPM 2.5 กรีนพีซจี้กรมควบคุมมลพิษดูเเล หลังคนไทยตายปีละ 5 หมื่นราย
สระบุรี แชมป์ฝุ่นมลพิษขนาดต่ำกว่า 2.5 ไมครอนสูงสุดในไทย ตามด้วยกรุงเทพ สมุทสาคร ราชบุรี เชียงใหม่ พบทั่วไทยเกินค่ามาตรฐานWHO กรีนพีซเรียกร้องกรมควบคุมมลพิษดึงค่า PM2.5 คำนวนดัชนีคุณภาพอากาศ หลังคนไทยตายปี5หมื่นราย
เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 61 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดงานนิทรรศการศิลปะเรื่องมลพิษทาอากาศ และเสวนา “วิเคราะห์สถานการณ์มลพิษฝุ่นละออง PM 2.5 ปี พ.ศ. 2560 ในเมืองต่างๆ ของไทย"
น.ส.จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ปี2556 องค์กรอนามัยโลก (WHO) จัดให้ฝุ่นขนาดPM 2.5(ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน2.5 ไมครอน) อยู่ในสารก่อมะเร็ง ขณะที่จากการศึกษาของธนาคารโลก ชี้ว่ามลพิษอากาศในประเทศในปัจจุบันเป็นต้นเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึงราว 50,000 รายต่อปี และประชากรไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาอากาศที่เต็มไปด้วยมลพิษทางอากาศในระดับสูงกว่าค่ามาตรฐานของ WHO อย่างต่อเนื่อง โดยมาตรฐานของ WHO กำหนดให้ค่ามาตรฐานต่อปีของฝุ่นขนาด PM2.5 ต้องไม่เกิน 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรต่อปี แต่ค่ามาตรฐานที่ไทยกำหนดกลับอยู่ที่ 25ไมโครกรัม/ลบ.
น.ส.จริยา กล่าวอีกว่า ในปี 2560 ระดับมลพิษในอากาศที่บันทึกโดยสถานีตรวจสอบ 19 แห่งใน 14 พื้นที่ทั่วประเทศไทยยังคงเกินค่ามลพิษจำกัดสูงสุดของ WHO โดยพื้นที่ที่มีระดับค่าเฉลี่ยรวมของฝุ่นมลพิษ PM2.5 ตลอดทั้งปีสูงที่สุดคือ จังหวัดสระบุรี ที่วัดได้ 36 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และธนบุรีในกรุงเทพมหานครที่ 31 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยทั้งสองพื้นที่มีระดับค่ามลพิษสูงกว่าค่ามลพิษจำกัดสูงสุดของ WHO ถึงสามเท่าตัว
ส่วนพื้นที่อื่นๆ ที่อยู่ในเกณฑ์เสี่ยง ได้แก่ สมุทรสาคร ราชบุรี ขอนแก่น และเชียงใหม่ ซึ่งปรากฏค่ามลพิษในระดับสูงถึงระหว่าง 25-30 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยทั้งหมด 14 พื้นที่มีการตรวจวัดค่ามลพิษนั้นต่างมีระดับมลพิษสูงกว่าค่าจำกัดสูงสุดของ WHO ทั้งสิ้น ยิ่งไปกว่านั้น 9 จาก 14 พื้นที่ยังมีค่ามลพิษเกินมาตรฐานคุณภาพอากาศรายปีแห่งชาติอีกด้วย
“ผลกระทบจากฝุ่นละลองมลพิษในอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก PM2.5 ที่มีต่อสุขภาพของผู้คนนั้นถูกเพิกเฉยและละเลยโดยคนจำนวนมากรวมทั้งรัฐบาล” น.ส.จริยา กล่าว และว่า ขอเรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษติดตามตรวจสอบฝุ่นมลพิษ PM2.5 โดยนำมาคำนวนในดัชนีคุณภาพอากาศ เพื่อปกป้องคุ้มครองสุขภาพของประชาชนทุกคน
สำหรับฝุ่นมลพิษ PM2.5 คือ มลพิษฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ เกิดจากต้นเหตุสี่หลัก ได้แก่ การคมนาคมขนส่ง การเผาไหม้เครื่องยนต์ จากโรงงานการผลิตไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม การเผาขยะในที่โล่ง การเผาพืชเกษตร ซึ่งขนาดของฝุ่นที่เล็กมากสามารถเล็ดลอดขนจมูกเข้าสู่ร่างกาย และสามารถแพร่กระจายเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ถุงลมในปอด และผ่านเข้าสู่กระแสเลือดกระจายไปสู่อวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรัง และมะเร็ง