‘ดร.นิพนธ์’ ชี้พ่อค้าใช้ช่องโหว่รัฐออกใบรับรอง ‘ออร์แกนิค’ ปีละครั้ง ซื้อจากตลาดสี่มุมเมืองใส่ยี่ห้อแทน
“ดร.นิพนธ์” ชี้ช่องไทยแข่งขันออร์แกนิคในตลาดโลก ปรับตัวสินค้าให้มีมูลค่าสูง ต้องสร้างมาตรฐานระดับสากล ระบุปัจจุบันเจาะยุโรปเฉพาะตลาดล่าง เหตุยังขาดความเชื่อมั่น ฤดูขาดแคลน พ่อค้าซื้อจากตลาดสี่มุมเมือง ติดยี่ห้อสวมรอยเป็นสินค้าปลอดภัย
วันที่ 16 มกราคม 2561 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดนำเสนอผลการศึกษา “เนวทางการปรับตัวของภาคเกษตรเพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของไทย” ณ โรงแรม เซ็นจูรี่ ปาร์ค กรุงเทพฯ
รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตอนหนึ่งถึงความสามารถในการแข่งขันสินค้าออร์แกนิคของไทยในตลาดโลก ว่าต้องปรับตัวไปสู่สินค้าที่มีมูลค่าสูงมากขึ้น ข้อกังวลหนึ่ง คือ เวลาส่งออกไปต่างประเทศ ผ่านมาตรฐานของรัฐบาลไทยเท่านั้น ซุปเปอร์มาเก็ตในต่างประเทศไม่ยอมรับ ทำให้สินค้าส่วนใหญ่ที่ส่งออก โดยเฉพาะไปยังโซนยุโรปจึงเข้าถึงเฉพาะตลาดล่าง
“สินค้าออร์แกนิค ได้มาตรฐานของรัฐบาลไทย แต่ในระดับโลกไม่ยอมรับ ฉะนั้นหากจะขายสินค้าเหล่านี้ให้ราคาสูงขึ้น ต้องให้เกษตรกรปรับตัวผลิตและส่งออกให้ตรงตามมาตรฐานระดับสากลที่ซุปเปอร์มาเก็ตต่างประเทศยอมรับ” นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าว
ส่วนการจะสร้างมาตรฐานให้เกิดการยอมรับในระดับสากลนั้น รศ.ดร.นิพนธ์ ระบุว่า ต้องออกใบรับรองมาตรฐาน สำหรับประเทศไทยโชคดีที่มีกรมวิชาการเกษตรและสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ผลักดันเรื่องอาหารปลอดภัยมาก่อนประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ซึ่งปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรได้ถ่ายโอนภารกิจการออกใบรับรองให้แก่บริษัทเอกชน และหันมาทำหน้าที่ตรวจสอบมาตรฐานของบริษัทเอกชนแทน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ยังพบปัญหาว่าเกษตรกรจะรับการตรวจเพื่อขอใบรับรองปีละ 1 ครั้ง ถามว่า เกษตกรหรือพ่อค้าเบี้ยวหรือไม่
นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวต่อว่า เท่าที่ได้ยินมา คือ ปัญหาของพ่อค้า พบเห็นหลายรายแล้วว่า ตามปกติเป็นสินค้าอินทรีย์ แต่บางฤดูผักและผลไม้ไม่เพียงพอ พ่อค้าบางรายจะไปซื้อสินค้าที่ตลาดสี่มุมเมือง และมาใส่ยี่ห้อแทน ซึ่งทำให้เกิดความไม่น่าเชื่อถือ ฉะนั้นเรื่องเหล่านี้ต้องร่วมมือกันตรวจสอบและแก้ปัญหา เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ระหว่างรัฐ เอ็นจีโอ และเกษตรกร เพื่อเกษตรกรจะขายสินค้าได้ในราคาสูงขึ้น แม้จะลงทุนสูงขึ้นก็ตาม และหากทำให้ผู้บริโภคในประเทศไทยเชื่อถือได้ ผู้บริโภคต่างประเทศจะให้ความเชื่อถือตาม และส่งผลดีต่อเกษตรกรส่งออกในที่สุด