‘ผอ.ไทยพีบีเอส’ ประกาศ 10 ทิศทางใหม่ ปี 61 เน้นเข้าถึงพลเมือง ยุคดิจิทัล
“ผอ.ไทยพีบีเอส” ประกาศ 10 ทิศทางใหม่ ปี 2561 ก้าวสู่สถานีสื่อภายใต้ยุทธศาสตร์ “ความแตกต่างบนความยั่งยืน” ขับเคลื่อนเป็นพื้นที่เรียนรู้สำหรับทุกคน
วันที่ 15 ม.ค. 2561 รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ Thai PBS ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน ในหัวข้อ “ความท้าทายของ Thai PBS ในวิกฤต”สื่อ ณ สำนักงานใหญ่ ส.ส.ท. อาคาร D ชั้น 3 ห้อง Training Room 3
รศ.ดร.วิลาสินี กล่าวตอนหนึ่งถึงทิศทางของไทยพีบีเอส ปี 2561 ว่า จะเป็นสื่อที่ขับเคลื่อนการเรียนรู้ไปสู่การเปลี่ยนแปลง และจะมุ่งเป้าไปอีก 2-3 ปีข้างหน้าให้เป็นสื่อที่มีพื้นที่เพื่อการเรียนรู้สำหรับทุกคน ภายใต้ยุทธศาสตร์ความแตกต่างบนความยั่งยืน ได้แก่
1. จะเน้นเข้าถึงพลเมืองยุคดิจิทัลมากขึ้น ด้วยการพัฒนาคอนเทนท์ให้เป็น My Thai PBS ให้ทุกคนเป็นเจ้าของไทยพีบีเอสเพื่อที่ทุกคนจะสามารถออกแบบสิ่งที่ตนต้องการได้ ตอบโจทย์ในสิ่งที่สังคมชอบ และเข้าไปหาในทุกที่ ทุกแพลตฟอร์ม และทุกคอนเทนท์ที่สังคมต้องการ
2.เพื่อยืนยันว่าเราจะทำ My Thai PBS ได้ จำเป็นจะต้องอยู่บนฐานของงานวิชาการ เพราะฉะนั้นไทยพีบีเอสจะทำการพัฒนาระบบงานวิจัย วิชาการ เพื่อที่จะทำให้เราเข้าใจวิถีที่หลากหลายของผู้ใช้สื่อ
3.ไทยพีบีเอสไม่เชื่อว่าคนจะอยู่แค่บนจอโทรทัศน์ จึงได้มีการเปิดสถานที่เรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ให้แก่ประชาชน
4.ไทยพีบีเอสพยายามลดช่องว่างในการเข้าถึงข่าวสารของประชาชน
5.ไทยพีบีเอสจะยังคงให้ความสำคัญกับเนื้อหาที่เน้นไปสู้การแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนในสังคม ในเรื่องของการยกระดับสร้างความเป็นธรรมต่าง ๆ การแก้ปัญหาของประชาชนจะไม่หยุดอยู่เพียงแค่การรับเรื่องร้องทุกข์ แต่เราจะหาเครื่องมือการทำงานให้ไปต่อ
6.เรื่องของการสร้างงานให้เข้มแข็ง หลังจากเราร่วมมือกับเครือข่ายต่าง ๆ จนเกิดเป็นนักข่าวพลเมืองมากกว่า 6,000 คนทั่วประเทศ ปีนี้เราจะทำการพัฒนาแอปพลิเคชั่น ที่จะทำให้เราสามารถขยายพลังของนักข่าวพลเมืองได้มากขึ้นไปอีก อีกทั้งประชาชนยังสามารถเข้าไปสร้างเนื้อ มาออกแบบ มาวิเคราะห์ มาตรวจสอบความถูกต้องได้ เป็นแอปที่ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนใหม่ที่จะทำให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามาเป็นนักข่าวพลเมืองได้อย่างง่ายขึ้น
7.ให้ความสำคัญกับเนื้อหาและช่องทางที่เชื่อมพลเมืองไทยให้เป็นพลเมืองโลก จะมีรายการที่สร้างมุมมองแบบตะวันออก หรือแบบบูรพาวิถี โดยจะเน้นทำงานร่วมกับองค์กรสื่อที่อยู่ในภูมิภาคเอเชีย
8.การปฏิรูปการบริหารจัดการองค์กรภายใน ให้เกิดจริยธรรมและความโปร่งใส
9.สร้างความเข้มแข็งของกลไกการมีส่วนร่วมของภายนอก ให้เกิดการตรวจสอบ และมีฟีดแบคของประชาชนกลับมา
10.ประกาศรูปแบบการทำงานแบบใหม่ที่เรียกว่า Content Based Structure การบริหารจัดการที่ใช้เนื้อหาเป็นแกนนำในการทำงาน ตอนนี้ ไทยพีบีเอส มีครัวกลาง คือ ดึงผู้มีฝีมือจากสำนักต่าง ๆ ที่ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ เข้ามารวมกันอยู่เป็น 4 ครัว เพื่อทำประเด็นที่เป็น 4 วาระหลักของไทยพีบีเอสในปีนี้ คือ ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปวิถีชีวิต ปฏิรูปในมุมมองต่อการเป็นประชากรโลก และปฏิรูปทางการเมือง โดยมุ่งมั่นให้ 4 ครัว จากหลายสำนักมาทำงานร่วมกัน ให้เป็น SuperContent เกิดเป็นเนื้อหาที่ดีเยี่ยม ไม่ว่าจะออกมาเป็นรูปแบบข่าว รายการ หรือแบบไหนก็ตาม แต่ทุกคนจะมั่นใจได้ว่ามาจากการคิดการทำงานร่วมกันการผสมผสานของคนรุ่นใหม่จาก 4 สำนัก .