‘ไทยพีบีเอส’ สื่อสาธารณะยุค 4.0 แตกต่างบนความยั่งยืน
“ปี 2561 ไทยพีบีเอสประกาศจุดยืนชัดเจนเป็นสื่อที่ขับเคลื่อนการเรียนรู้ไปสู่การเปลี่ยนแปลง และจะมุ่งเป้าไปอีก 2-3 ปีข้างหน้า ว่าจะเป็นสื่อที่มีพื้นที่เพื่อการเรียนรู้สำหรับทุกคน โดยเรียกยุทธศาสตร์นี้ว่า ความแตกต่างบนความยั่งยืน”
วันที่ 15 ม.ค. 2561 รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ Thai PBS ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน ในหัวข้อ “ความท้าทายของ Thai PBS ในวิกฤต”สื่อ ณ สำนักงานใหญ่ ส.ส.ท. อาคาร D ชั้น 3 ห้อง Training Room 3
รศ.ดร.วิลาสินี กล่าวว่า ปี 2561 ไทยพีบีเอสก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 2 ซึ่งท่ามกลางสถานการณ์สื่อแบบนี้ เรากำลังจะพัฒนาบุคลากรในองค์กรให้มีความสามารถหลากหลายภายในหนึ่งคน นักข่าวจะไม่ได้ทำหน้าที่เป็นผู้รายงานข่าวเท่านั้น แต่ไทยพีบีเอสจะถูกต่อยอดเป็นสื่อสาธารณะในยุค 4.0 หมายความว่า จะใช้ทั้ง ออนแอร์ ออนไลน์ ซึ่งจะเน้นให้มีผลิตภัณฑ์เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และสุดท้าย คือ ออนกราวด์ ที่จะถูกให้ความสำคัญเช่นกัน
“เราพยายามให้ 3 ส่วนนี้ ไปด้วยกัน เพราะปัจจุบันไทยพีบีเอสไม่ได้อยู่เฉพาะบนหน้าจอโทรทัศน์ หมายเลข 3 อีกต่อไปแล้ว” ผอ.ไทยพีบีเอส กล่าว
รศ.ดร.วิลาสินี อธิบายต่อว่า ต่อไปจะไม่เน้นแค่ข้อมูลข่าวสาร แต่จะมุ่งนำเสนอความรู้ความเข้าใจในเรื่องสาระบันเทิง การสร้างแรงบันดาลใจ การมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้นในสังคม และพยายามปลุกพลังประชาชนให้ลุกขึ้นมามีส่วนร่วมเป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ เกิดนักข่าวพลเมือง
ทั้งนี้ จุดแข็งของไทยพีบีเอสอีกอย่างหนึ่งที่ทำมาตลอด 10 ปี คือ การพยายามทำให้ประชาชนรู้เท่าทันสื่อ เพื่อจะมีส่วนช่วยเป็นต้นแบบในเรื่องเหล่านี้ได้
ในเรื่องของเนื้อหาข่าวสารปีนี้ ผอ.ไทยพีบีเอส กล่าวว่า เน้นหนักไปทางศูนย์ข่าวภูมิภาค ได้แก่ ศูนย์ข่าวขอนแก่นครอบคลุมภาคอีสาน ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ ครอบคลุมภาคใต้ ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ ครอบคลุมภาคเหนือ โดยนับจากนี้ไปศูนย์ข่าวภูมิภาคเหล่านี้จะเป็นเหมือนตัวแทนของไทยพีบีเอสลงพื้นที่ทำข่าวอย่างใกล้ชิดกับคนในพื้นที่และให้ประเด็นมีความเข้มข้นยิ่งขึ้น
“ปี 2561 ไทยพีบีเอสประกาศจุดยืนชัดเจนเป็นสื่อที่ขับเคลื่อนการเรียนรู้ไปสู่การเปลี่ยนแปลง และจะมุ่งเป้าไปอีก 2-3 ปีข้างหน้า ว่าจะเป็นสื่อที่มีพื้นที่เพื่อการเรียนรู้สำหรับทุกคน โดยเรียกยุทศาสตร์นี้ว่า ความแตกต่างบนความยั่งยืน”
10 ทิศทาง ก้าวใหม่ ไทยพีบีเอส
ทั้งนี้ ความแตกต่างบนความยั่งยืน ใน “10 ทิศทาง ก้าวใหม่” ของไทยพีบีเอส มีดังต่อไปนี้
1. จะเน้นเข้าถึงพลเมืองยุคดิจิทัลมากขึ้น ด้วยการพัฒนาคอนเทนท์ให้เป็น My Thai PBS ให้ทุกคนเป็นเจ้าของไทยพีบีเอสเพื่อที่ทุกคนจะสามารถออกแบบสิ่งที่ตนต้องการได้ ตอบโจทย์ในสิ่งที่สังคมชอบ และเข้าไปหาในทุกที่ ทุกแพลตฟอร์ม และทุกคอนเทนท์ที่สังคมต้องการ
2.เพื่อยืนยันว่าเราจะทำ My Thai PBS ได้ จำเป็นจะต้องอยู่บนฐานของงานวิชาการ เพราะฉะนั้นไทยพีบีเอสจะทำการพัฒนาระบบงานวิจัย วิชาการ เพื่อที่จะทำให้เราเข้าใจวิถีที่หลากหลายของผู้ใช้สื่อ
3.ไทยพีบีเอสไม่เชื่อว่าคนจะอยู่แค่บนจอโทรทัศน์ จึงได้มีการเปิดสถานที่เรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ให้แก่ประชาชน
4.ไทยพีบีเอสพยายามลดช่องว่างในการเข้าถึงข่าวสารของประชาชน
5.ไทยพีบีเอสจะยังคงให้ความสำคัญกับเนื้อหาที่เน้นไปสู้การแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนในสังคม ในเรื่องของการยกระดับสร้างความเป็นธรรมต่าง ๆ การแก้ปัญหาของประชาชนจะไม่หยุดอยู่เพียงแค่การรับเรื่องร้องทุกข์ แต่เราจะหาเครื่องมือการทำงานให้ไปต่อ
6.เรื่องของการสร้างงานให้เข้มแข็ง หลังจากเราร่วมมือกับเครือข่ายต่าง ๆ จนเกิดเป็นนักข่าวพลเมืองมากกว่า 6,000 คนทั่วประเทศ ปีนี้เราจะทำการพัฒนาแอปพลิเคชั่น ที่จะทำให้เราสามารถขยายพลังของนักข่าวพลเมืองได้มากขึ้นไปอีก อีกทั้งประชาชนยังสามารถเข้าไปสร้างเนื้อ มาออกแบบ มาวิเคราะห์ มาตรวจสอบความถูกต้องได้ เป็นแอปที่ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนใหม่ที่จะทำให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามาเป็นนักข่าวพลเมืองได้อย่างง่ายขึ้น
7.ให้ความสำคัญกับเนื้อหาและช่องทางที่เชื่อมพลเมืองไทยให้เป็นพลเมืองโลก จะมีรายการที่สร้างมุมมองแบบตะวันออก หรือแบบบูรพาวิถี โดยจะเน้นทำงานร่วมกับองค์กรสื่อที่อยู่ในภูมิภาคเอเชีย
8.การปฏิรูปการบริหารจัดการองค์กรภายใน ให้เกิดจริยธรรมและความโปร่งใส
9.สร้างความเข้มแข็งของกลไกการมีส่วนร่วมของภายนอก ให้เกิดการตรวจสอบ และมีฟีดแบคของประชาชนกลับมา
10.ประกาศรูปแบบการทำงานแบบใหม่ที่เรียกว่า Content Based Structure การบริหารจัดการที่ใช้เนื้อหาเป็นแกนนำในการทำงาน ตอนนี้ ไทยพีบีเอส มีครัวกลาง คือ ดึงผู้มีฝีมือจากสำนักต่าง ๆ ที่ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ เข้ามารวมกันอยู่เป็น 4 ครัว เพื่อทำประเด็นที่เป็น 4 วาระหลักของไทยพีบีเอสในปีนี้ คือ ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปวิถีชีวิต ปฏิรูปในมุมมองต่อการเป็นประชากรโลก และปฏิรูปทางการเมือง โดยมุ่งมั่นให้ 4 ครัว จากหลายสำนักมาทำงานร่วมกัน ให้เป็น SuperContent เกิดเป็นเนื้อหาที่ดีเยี่ยม ไม่ว่าจะออกมาเป็นรูปแบบข่าว รายการ หรือแบบไหนก็ตาม แต่ทุกคนจะมั่นใจได้ว่ามาจากการคิดการทำงานร่วมกันการผสมผสานของคนรุ่นใหม่จาก 4 สำนัก
“สื่อสาธารณะ” ต้องตอบโจทย์ ทั่วถึง-หลากหลาย-เป็นธรรม
ในเรื่องของการประเมินผลของไทยพีบีเอส รศ.ดร.วิลาสินี ระบุเป็นงานในส่วนของสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ ซึ่งตอนนี้กำลังพัฒนาในส่วนของรูปแบบจากการที่จะประเมินคุณภาพของสื่อสร้างสรรค์ อาจจะทำงานร่วมกับกลุ่มกองทุนสื่อสร้างสรรค์และปลอดภัย แต่ขณะนี้กระบวนการของไทยพีบีเอสจะประเมินในทุกมิติ เรตติ้งอาจเป็นส่วนหนึ่งที่เรานำมาดูว่าใครดูหรือไม่ดู แต่อาจจะไม่สำคัญมากนักสำหรับสื่อสาธารณะ
ที่สำคัญกว่า คือ เรื่องการตอบโจทย์ของความทั่วถึง ความหลากหลาย ความเป็นธรรม ซึ่งเราจะพัฒนาตัวชี้วัดในเรื่องเหล่านี้ออกมา ซึ่งไทยพีบีเอสจะทดลองใช้ก่อน หากถูกต้องและดีจะส่งต่อให้สื่ออื่น ๆ ด้วยเช่นกัน
ผอ.ไทยพีบีเอส ยังกล่าวถึงการแข่งขันของสภาพสื่อในปัจจุบัน ต้องเข้าใจว่าผู้คนสามารถใช้สื่อเองได้ สามารถสื่อสารกันเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งสำนักข่าว แต่สิ่งที่สื่อสาธารณะหรือไทยพีบีเอสควรจะต้องทำ คือ เติมเต็มในช่องว่างที่สื่ออื่นไม่ทำหรือมองข้าม เพราะฉะนั้นการทำงานในอนาคตคงเป็นการทำงานเพื่อตอบสนองประชาชนในรายย่อยหรือรายที่ห่างไกลจาการเข้าถึงของสื่อ ซึ่งหมายความว่ามันเป็นหน้าที่รับผิดชอบที่สื่อสาธารณะจะต้องทำ
“เราอาจจะไม่ต้องมานั่งทำเหมือนสื่ออื่น ๆ ทำ แต่จะทำในสิ่งที่สื่ออื่นไม่ทำ หรือจะทำในสิ่งที่เป็นความต้องการและคิดว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องยกขึ้นมาพูดในสาธารณะให้มากขึ้นเพื่อให้คนได้เห็นปัญหาที่ซ้อนเร้นอยู่ในสังคม ซึ่งไทยพีบีเอสมีนโยบายมีแนวคิดในเชิงแบบนี้” รศ.ดร.วิลาสินี กล่าวในที่สุด .