เลขาฯ กกอ.ชี้อุดมศึกษาไทยต้องผลิตคนมีคุณภาพสนองตลาด ผ่านหลักสูตรยืดหยุ่น รู้หลายศาสตร์
เลขาฯ กกอ.ชี้ทิศทางของอุดมศึกษาไทยในอนาคตแก่นักวิจัย สกว. ต้องผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพสนองความต้องการของตลาด ปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 เน้นความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมและภาคประชารัฐมากขึ้น และสร้างความเป็นเลิศเฉพาะตัวเพื่อเป็นพื้นฐานการเติบโตระยะยาวอย่างยั่งยืน
เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวบรรยายในงานประชุมวิชาการนักวิจัยรุ่นใหม่ พบ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ครั้งที่ 17 ซึ่งจัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ถึงเ “ทิศทางการขับเคลื่อนวัตกรรมการวิจัยในอุดมศึกษา” ว่า แม้ประเทศไทยจะลงทุนด้านการศึกษามาก แต่คุณภาพจัดการศึกษาของคนไทยและคัดกรองคนยังทำได้ไม่ดีนัก ปัจจุบันเจ้ามือใหญ่ของการดูแลนักศึกษากำลังเปลี่ยนแปลง จากเดิมเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏซึ่งมี 38 แห่ง เคยดูแลนักศึกษาเกือบ 6 แสนคน แต่ขณะนี้เริ่มหดตัวเล็ก ๆ คนที่ดูแลมากที่สุดคือ มหาวิทยาลัยรัฐในกำกับที่มีนักศึกษาประมาณ 5.4 แสนคน ส่วนสถาบันอุดมศึกษาเอกชนใกล้จะหายไป เป็นสถานการณ์ที่จะเห็นมากขึ้น โดยเฉพาะภาคเหนือตอนล่าง มีศูนย์รับนักศึกษาใหม่ไม่ถึง 4%
กลุ่มต่อมาคือมหาวิทยาลัยของรัฐ ในส่วนของราชภัฏ จำนวนบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐปัจจุบันมีจำนวน 1.78 แสนคน แบ่งเป็นสายวิชาการ 5.98 หมื่นคน และสายสนับสนุน 1.18 แสนคน เราต้องพยายามพัฒนาคุณวุฒิของบุคลากร ในสายวิชาการมีผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกเกือบ 2.8 หมื่นคน และมีตำแหน่งทางวิชาการระดับศาสตราจารย์เพียง 650 คน และมีอาจารย์ที่อยู่ในระหว่างทำตำแหน่งทางวิชาการ 3.82 หมื่นคน ในอนาคตอีก 15 ปีข้างหน้า ข้าราชการพลเรือนจะมีอาจารย์รุ่นใหม่เข้ามาน้อยลดลงมาก เพราะจะเปลี่ยนระบบเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยแทน
ดร.สุภัทร กล่าวถึงปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการอุดมศึกษาไทย ประการสำคัญคือ กับดักความรู้และนวัตกรรมของโลกตะวันตก ในกลุ่มประเทศพัฒนาให้ความสำคัญกับการวิจัยและเทคโนโลยี การพัฒนาต่อยอด การออกแบบสร้างสรรค์ การตลาดและการขาย รวมถึงการจัดการและห่วงโซ่อุปทาน ดังนั้นเราจึงต้องสร้างเทคโนโลยีด้วยตนเองและควบคุมการตลาดให้ได้ ดังเช่นบริษัทของเกาหลีที่สามารถต่อยอดนวัตกรรมของตนเองพร้อมกับการสนับสนุนของรัฐบาลจึงขึ้นไปแข่งขันในระดับโลกได้ เราต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง เรียนรู้ทักษะ/เทคโนโลยีใหม่ ตามให้ทันสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ เรียนรู้นวัตกรรม ตลอดจนพัฒนาตนเองและสื่อสารในระดับนานาชาติ ต้องมี 10 ทักษะจาก 6 แรงขับ เพื่อก้าวสู่อนาคต ได้แก่ ชีวิตยืนยาว เครื่องจักรและระบบต่าง ๆ ที่เฉลียวฉลาดมากขึ้นจนสามารถทำงานทดแทนมนุษย์ได้ การเพิ่มขึ้นของเครื่องมือตรวจวัดและกระบวนการต่าง ๆ ที่ทำให้ทุกอย่างโปรแกรมไว้ได้ เครื่องมือสื่อสารใหม่ ๆ เทคโนโลยีสังคมที่จะผลักดันให้เกิดโครสร้างหรืองานผลิตรูปแบบใหม่ และศูนย์กลางของการปฏิบัติหรือการทำงานที่เชื่อมต่อกับโลกาภิวัตน์ ประชากรของเราต้องเผชิญกับกระแสโลกในศตวรรษที่ 21 ทั้งด้านเศรษฐกิจและการค้า สิ่งแวดล้อมและพลังงาน เทคโนโลยี สังคมสูงวัยและสุขภาพ การขยายตัวของเมือง ความแตกต่าง โลกาภิวัตน์และเครือข่าย
สำหรับโครงสร้างประชากรไทยนั้น เลขาธิ กกอ. กล่าวว่า จะมีคนอายุยืนมากขึ้น เพราะมีระบบสาธารณสุขที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ คนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ขณะเดียวกันมีเด็กเกิดจำนวนน้อยลงโดยในปี 2560 มีเด็กเกิดเพียง 7.4 แสนคน ซึ่งส่งผลผลกระทบต่อจำนวนผู้เรียนต่อในระดับอุดมศึกษา รัฐบาลไทยตัดช่วงอายุคนที่ประมาณ 80 ปี และได้วางแผนไว้แล้วว่าจะดูแลคนไทยตั้งแต่ก่อนเกิดถึงตายอย่างไร
"การจัดการศึกษาของไทยจะต้องคุยกันมากขึ้นท่ามกลางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปมา ขณะที่ความยากจนและการย้ายถิ่นฐานก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กหายไปจากระบบ ออกไปสู่ตลาดแรงงานตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ปัญหาของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และอาจารย์มหาวิทยาลัย คือ มีนักศึกษาเข้าสู่อุดมศึกษา 51% แล้วอีก 49% หายไปไหน ส่วนตัวเชื่อว่าการศึกษาเปลี่ยนชีวิตคนได้ถ้าเราให้โอกาส และเด็กจะสร้างอนาคตให้กับประเทศ" ดร.สุภัทร กล่าว และว่า เราต้องมองภาพอนาคตที่จะมีผลต่ออุดมศึกษาไทย ทั้งการเปลี่ยนแปลงของประชากร เยาวชน นักศึกษาและบัณฑิตในอนาคต การเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงาน การปรับตัวเข้ากับยุคเศรษฐกิจฐานความรู้ การกระจายอำนาจ เทคโนโลยีและยุคสารสนเทศ การเปลี่ยนแปลงบริบทโลกและอาเซียน ความรุนแรงและความขัดแย้งในสังคม ตลอดจนการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาล ซึ่งสถาบันอุดมศึกษาไทยจะเป็นกลไกสำคัญในการช่วยแก้ไขปัญหาและวิกฤติของประเทศ โดยนำองค์ความรู้ที่มีอยู่ไปช่วยชี้แนะแนวทางเพื่อการแก้ปัญหาและการพัฒนาประเทศ โดยแนวทางการดำเนินการขับเคลื่อนตามแนวนโยบายประเทศไทย 4.0 จะต้องขับเคลื่อนมหาวิทยาลัย 4.0 สร้างการวิจัยและพัฒนา ความรู้และนวัตกรรม ความร่วมมือจากภาคเอกชน ให้การศึกษาและสร้างคน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม
ส่วนสถาบันอุดมศึกษาจะมีบทบาทในการสร้างเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ แก้ปัญหาและตอบสนองความต้องการของท้องถิ่นทั้งภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม และภาคท้องถิ่นชุมชน รวมถึงบทบาทในการสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการ สร้างบุคลากรด้านวิจัยและพัฒนาในภาคอุตสาหกรรมที่ทำงานเต็มเวลา โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีนักวิจัยเต็มเวลามากที่สุด จากการสำรวจปี 2015 คือ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม รองลงมาคือ สารเคมีและเคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ส่วนกลุ่มการศึกษาอยู่ในอันดับ 8 มหาวิทยาลัยวิจัยและมหาวิทยาลัยของรัฐจะต้องสร้างองค์ความรู้ในด้านสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรม สุขภาพ พลังงาน วิทยาศาสตร์สังคม เกษตรและอาหาร
สิ่งที่เกิดผลกระทบกับอาจารย์มหาวิทยาลัย คือ การคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยเปลี่ยนระบบใหม่ การผลิตและพัฒนาครู โดยการลงทุนพัฒนาประเทศผ่านสถาบันอุดมศึกษาจะเป็นการดำเนินงานที่จะสนับสนุนการลงทุนพัฒนาอย่างเป็นระบบในอนาคตระยะยาว เป็นการกำหนดจุดเน้นของสถาบันอุดมศึกษา สร้างเอกลักษณ์และเป็นเลิศในบริบทของสถาบัน
ทั้งนี้ทิศทางของอุดมศึกษาไทยในอนาคต จะต้องผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพสนองความต้องการของตลาด ผ่านหลักสูตรที่ยืดหยุ่น หลากหลาย รู้หลายศาสตร์ ปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลก ปรับหลักสูตรให้ต่อเนื่องกันมากขึ้น บูรณาการความรู้ระหว่างคณะ มีเป้าหมายที่คิดร่วมกับผู้ใช้ กลุ่มเป้าหมายเปิดกว้างและเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา เน้นการจัดการเรียนรู้ข้อเท็จจริง สถานที่จริง ทำงานได้จริง พัฒนานวัตกรรมและสร้างผู้ประกอบการมากขึ้น การใช้เทคโนโลยีในการเรียนการสอนผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตมากขึ้น แต่ประเทศไทยยังมีข้อจำกัดเรื่องการศึกษาทางไกล ปัญหาการวัดและประเมินผลของผู้สำเร็จการศึกษาในระบบ เครดิตธนาคารของไทยจึงจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง
“มหาวิทยาลัยต้องสร้างความเข้มแข็งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งจะต้องทำควบคู่กันไปทั้งองค์ความรู้พื้นฐานกับวิจัยประยุกต์ โดยเฉพาะศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการและนวัตกรรมของ สกอ. ต้องเน้นสู่การทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น รวมถึงความร่วมมือกับภาคประชารัฐในการพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่ มหาวิทยาลัยต้องเป็นที่พึ่งทางวิชาการ ระบบข้อมูล สารสนเทศ กลไกการจัดการ การเตรียมความมพร้อมในระดับพื้นที่หรือท้องถิ่น การวิจัยและการบริการวิชาการที่มองการใช้ประโยชน์หรือผู้ใช้ประโยชน์ชัดเจนตั้งแต่แรก สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดยความร่วมมือกับภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรมและภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม การค้นหาและสร้างความเป็นเลิศเฉพาะตัวเพื่อเป็นพื้นฐานการเติบโตระยะยาวอย่างยั่งยืน” เลขาธิการ กกอ.กล่าวในที่สุด