ตั้งคณะทำงานพูดคุยสันติภาพเลยดีไหม
เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ "การเจรจา" หรือเรียกให้ถูกก็คือ "การพูดคุยสันติภาพ" หรือ peace talk หรือ peace dialogue กับกลุ่มแกนนำขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกลากให้กลายเป็นประเด็นทางการเมือง
มีการกล่าวหากันไปมาว่าการเจรจาเป็นต้นเหตุของการก่อวินาศกรรมขนาดใหญ่กลางเมืองหาดใหญ่ และอำเภอเมืองยะลา เมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่ไม่มีหลักฐานอะไรยืนยันในทำนองนั้น
สัจธรรมและประสบการณ์การแก้ไขความขัดแย้งทั่วโลกชี้ชัด "ทุกปัญหาจบลงบนโต๊ะเจรจา หาใช่ปากกระบอกปืน" ยังสามารถนำมาใช้ได้กับปัญหาชายแดนใต้ของไทย และหากจะพูดไป การเจรจา หรือ "พูดคุยสันติภาพ" ก็ทำกันมาทุกยุคทุกสมัย
ฝ่ายทหารก็ทำ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ก็ทำ รัฐบาลทักษิณก็ทำ รัฐบาลประชาธิปัตย์ก็ทำ และรัฐบาลชุดปัจจุบันก็ทำ
หากจะผิดก็คงผิดตรงที่กระบวนการเจรจา หรือ "พูดคุยสันติภาพ" ดำเนินไปโดยขาดเอกภาพ คณะที่ไปพบปะพูดคุยไม่ได้มี "อำนาจเต็ม" หรือได้รับมอบหมายจาก "รัฐบาลไทย" ในฐานะรัฏฐาธิปัตย์
เหตุนี้เองที่ทำให้การ "พูดคุยสันติภาพ" จบลงแบบไร้ความหมาย เป็นดั่งคลื่นกระทบฝั่ง พูดกันไป คุยกันไป ด่ากันไป สรุปแล้วไม่มีอะไรในกอไผ่ กลุ่มก่อความไม่สงบที่ชายแดนใต้ก็ยังยิง ฆ่า วางระเบิดเช่นเดิม
พลิกดูนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557 ที่จัดทำโดย สมช. ซึ่งกระบวนการจัดทำได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านพอสมควร และได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี รวมถึงรัฐสภารับทราบ
ในวัตถุประสงค์ข้อ 8 (จาก 9 ข้อ) ของการแปรนโยบายสู่การปฏิบัติ ระบุเอาไว้ว่า เพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมและเอื้อต่อการพูดคุยในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งและการให้หลักประกันในการเข้ามามีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการเสริมสร้างสันติภาพ มีวิธีการคือ
1.ส่งเสริมการพูดคุยระหว่างกลุ่มคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในเรื่องหลักการ เป้าหมาย และรูปแบบของการกระจายอำนาจที่เหมาะสมบนพื้นฐานความเป็นพหุสังคมของจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่อยู่ภายใต้เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ และเป็นหลักสากลที่ได้รับการยอมรับ ไม่ใช่เป็นเงื่อนไขนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน
2.ส่งเสริมความต่อเนื่องของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพกับกลุ่มบุคคลที่มีความเห็นและอุดมการณ์แตกต่างจากรัฐที่เลือกใช้ความรุนแรงต่อสู้กับรัฐ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยดำเนินการอย่างเป็นเอกภาพ และเพิ่มความร่วมมือกับต่างประเทศ หรือองค์กรที่ไม่ใช่ภาครัฐ เพื่อสนับสนุนกระบวนการพูดคุยดังกล่าว
นี่คือกรอบนโยบายที่ทุกหน่วยต้องถือปฏิบัติ เพียงแต่สิ่งที่ไม่ได้นำมาปฏิบัติคือ "ดำเนินการอย่างเป็นเอกภาพ" ฉะนั้นหลังจากนี้เป็นไปได้หรือไม่ที่ สมช.หรือรัฐบาลจะเป็น "เจ้าภาพ" ตั้งคณะทำงานขึ้นมาดำเนินกระบวนการ "พูดคุยเพื่อสันติภาพ" อย่างโปร่งใส เป็นทางการ และนำผลการดำเนินการมารายงานต่อประชาชน รวมทั้งแจกแจงงบประมาณที่ใช้ด้วย
สำหรับความรู้สึกของหน่วยงานความมั่นคงบางหน่วยโดยเฉพาะ "ทหาร" และผู้คนในสังคมบางส่วนที่ยังเชื่อว่า การเจรจาเป็นการยอมรับความพ่ายแพ้ ประเด็นนี้ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลและ สมช.ที่จะต้องทำความเข้าใจกันต่อไป เพราะแท้ที่จริงแล้วการเจรจาหรือ "พูดคุยสันติภาพ" คือจุดเริ่มต้นของชัยชนะอย่างยั่งยืนมากกว่า
ที่สำคัญต้องแยกแยะระหว่าง "การเจรจา" หรือ peace negotiation กับ "การพูดคุยสันติภาพ" หรือ peace talk ว่าเป็นคนละอย่างกัน โดยอย่างหลังไม่มีการ "ต่อรอง" เหมือนอย่างแรก ซึ่งก็น่าเชื่อว่าการพบปะพูดคุยกับขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนที่ผ่านมา คงทำได้เพียงการพูดคุยสันติภาพเท่านั้น เพราะไม่มีใครหรือหน่วยไหนมีอำนาจเต็มสำหรับการต่อรอง หรือหากไปต่อรองก็ไม่มีใครเชื่อ
และหากหวาดกลัวเรื่องการเจรจาต่อรอง ก็ต้องทำให้การเจรจาขึ้นมาอยู่ในที่สว่าง เพื่อให้เห็นกันจะๆ ว่าไปคุยกันเรื่องอะไร และที่สำคัญจะเป็นการขีดวงป้องกันไม่ให้คนที่ไม่เกี่ยวข้อง รวมทั้งอดีตนายกรัฐมนตรี แอบดอดไปเจรจาโดยไม่มีหน้าที่หรืออำนาจด้วย
----------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. ขณะสนทนากับ "ชมรมต้มยำกุ้ง" ซึ่งหมายถึงร้านอาหารไทยในมาเลเซีย แต่กลับมีสื่อบางแขนงและฝ่ายการเมืองนำมาตีข่าวว่าเป็นการไปเจรจากับแกนนำขบวนการพูโล โดยคนที่ถูกทำลูกศรชี้ ถูกระบุว่าคือ นายซำซูดิง คาน แกนนำพูโล ทั้งที่จริงๆ คือ นายวันซำซูดิง ดินวันฮูเซ็น ประธานชมรมต้มยำกุ้ง ซึ่งล่าสุดเจ้าตัวออกมาโวยว่าได้รับความเสียหาย และถูกสันติบาลมาเลย์จับตา
หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้ ตีพิมพ์ในคอลัมน์แกะรอย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 10 เม.ย.2555 ในชื่อ "ทะเลาะกันทำไมเรื่องเจรจา..."