“สุรวิทย์” ยืนยันวัคซีนมะเร็งปากมดลูกต่อรองได้เข็มละ 200บ.ถือว่าคุ้มทุน
รมช.สธ.โต้คนค้านซื้อวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ระบุต้องผ่าน คกก.วัคซีนแห่งชาติก่อน แต่ยืนยันเข็มละ 200 บ.ป้องกันได้ 50% ลดผู้ป่วย 7%ใน 5 ปีถือว่าคุ้ม แพทย์ชี้ผู้หญิงเมืองเสียงโรคกว่าชนบท
จากกรณีที่ น.ส.กรรณิการ์ กิตติเวชกุล กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ออกมาคัดค้านการที่ นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมช.สธ.) มีนโยบายจะจัดซื้อวัคซีนป้องกันไวรัสHPVรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกให้เด็กอายุ 12 ปีในราคาเข็มละ 500 บาท รวมเป็นงบประมาณ 600 ล้านบาท
ซึ่ง น.ส.กรรณิการ์ ระบุว่าเป็นราคาที่สูงเกินจริง และในแง่กระบวนการควรผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติก่อน ในขณะที่ นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ หัวหน้าโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ ระบุที่ผ่านมาว่ามีบริษัทยา 2 แห่งพยายามนำวัคซีนดังกล่าวเข้ามาเสนอขายให้ไทยในทุกรัฐบาล ทั้งนี้หากจะซื้อก็ควรเป็นราคาที่คุ้มทุน ซึ่งเคยมีการขายให้ประเทศยากจนเพียงเข็มละ 150 บาท และประเด็นที่สำคัญคือไม่ได้ป้องกันโรคได้ 100%
ล่าสุดวันที่ 10 เม.ย.นพ.สุรวิทย์ ย้ำกับศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศราว่า ราคาวัคซีนในตลาดอยู่ที่เข็มละ 1,000 บาท แต่จะพยายามต่อรองให้ได้ราคา 200-300 บาทเท่ามาเลเซีย และต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติก่อนจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถกำหนดกรอบเวลาดำเนินโครงการได้ และแม้การฉีดวัคซีนจะป้องกันไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคได้เพียง 2-3 สายพันธุ์ หรือสามารถป้องกันโรคได้เพียง 50-70%เท่านั้น แต่ก็ถือว่าคุ้มทุนแล้ว
“เราส่งเสริมให้ประชาชนได้รับวัคซีนHPV เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกให้มากที่สุดภายใน 5 ปี อย่างน้อย 7% จากเดิมเกิดผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นปีละ 10,000 คน เสียชีวิตปีละ 5,000 คน” รมช.สธ.กล่าว
ด้าน รศ.ดร.นพ.หัชชา ศรีปลั่ง หน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลมะเร็งปากมดลูก ล่าสุดถึงปี 2553 พบว่าผู้ป่วยในจังหวัดสงขลามีจำนวนลดลงร้อยละ 4 ต่อปี และอีก 2 ปีข้างหน้า ผู้ป่วยจะลดเหลือ 10 คนต่อประชากร 1 แสนคน ในส่วนของผู้ที่เข้ารับการคัดกรองพบว่าผู้หญิงที่เข้ารับการคัดกรองในชนบทมีจำนวนมากกว่าในเมือง เนื่องจากรูปแบบการประชาสัมพันธ์เคาะประตูบ้านของสถานีอนามัยได้ผลดีเฉพาะในพื้นที่ชนบท อีกทั้งสถาบันมะเร็งแห่งชาติไม่ประชาสัมพันธ์ในสื่อกระแสหลักอย่างทั่วถึง ส่งผลให้ผู้หญิงในเมืองขาดการเข้าถึงข้อมูล
“จำนวนผู้ป่วยในจ.สงขลาลดลง เนื่องจากมีการคัดกรองล่วงหน้าต่อเนื่อง 7 ปี ส่วนจ.ขอนแก่น กำลังเริ่มแผนคัดกรองผู้ป่วยรายใหม่จึงมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกับอีกหลายจังหวัดที่เพิ่งเริ่มสำรวจตามแผนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) คาดว่าอีก 2 เดือนข้างหน้าจะทราบผลการสำรวจผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกทั่วประเทศ” รศ.ดร.นพ.หัชชา กล่าว .