สยามแห่งอดีต กับไทยปัจจุบัน
การเข้าใจอดีตให้ถ่องแท้ จะช่วยให้เราเข้าใจปัจจุบันได้ดีขึ้น วันนี้จะขอพูดเรื่องประชากรในอดีตเป็นสำคัญ
สยามเก่านั้นทราบกันไหมครับว่ามีผู้คนอาศัยอยู่เบาบางมาตลอด เหตุก็เพราะร้อนชื้นในระดับโลก ป่าไม้หนาแน่นเข้าถึงยาก บุกเบิกเป็นที่ทำกินก็ยากมาก มาเลเรีย และเชื้อโรคโปรดปรานอากาศอย่างนี้มาก ส่วนมนุษย์นั้นอยู่ยาก เกิดง่าย แต่ก็ตายง่ายตั้งแต่ยังเป็นทารกหรือเด็กน้อย คนอายุสั้น ทั้งเจ้าทั้งสามัญชน ทั้งเศรษฐีทั้งยาจก อายุคาดการตกอยู่ราว 28 ขวบ คนอายุเกินห้าหกสิบปีหายากมากๆ โรคภัยไข้เจ็บรวมทั้งโรคระบาดนั้นชุกชุมมาก
ดินแดนอื่นรอบๆ เราก็เป็นเช่นนั้น เขมร พม่า มลายู มอญ ไทใหญ่ ประชากรยิ่งเบาบางกว่าเราเสียอีก มีแต่พม่าและเวียดนามที่ผู้คนจะมีมากสักหน่อย เหตุนี้ ระบอบศักดินาของเราจึงไม่ถือพื้นที่ เนื้อที่ หรือที่ดิน เป็นสำคัญ กลับถือเอาการกุมคนกุมไพร่เป็นหลัก ที่ดินของสยามเป็นของถูกเกือบจะเป็นของฟรี ก็ว่าได้ เพราะมีล้นเหลือ สิ่งที่มีค่าล้ำกลับกลายเป็นกำลังคนหรือแรงงาน
สภาพเช่นนี้เกือบตรงข้ามกับไทยในรอบสี่ห้าสิบปีหลังมานี้ ที่เรามีประชากรมากขึ้นจนมีเป็นสามสิบล้านและขึ้นต่อไม่หยุดจนถึงกว่าหกสิบล้านคน จึงได้เกิดมีแรงงานราคาถูก หรือ ค่อนข้างถูก และด้วยเหตุนี้เอง อุตสาหกรรมของเราจึงเริ่มขึ้นมาได้เมื่อสักสี่ห้าสิบปีมานี้เอง
สังคมสยามจนถึงสมัย ร.6 นั้น ต้องขอย้ำครับ อยู่เป็นชนบทและป่าเขาเกือบหมด มีเมืองเล็กๆ น้อยๆ อยู่บ้าง ยกเว้นมีกรุงเทพฯ เป็นเมืองใหญ่เมืองเดียว ผู้คนของเรายังไม่มีนามสกุล มีเพียงแต่ชื่อ และก็ไม่มีสัญชาติ สังคมเล็กๆ ใกล้ชิด ไม่สลับซับซ้อน เป็นไปตามสายเลือดและหมู่บ้านที่อาศัยอยู่บันทึกของครอบครัวตระกูล หรือ ประวัติของพื้นที่ ชุมชน และบ้านเมือง แทบไม่มี ประวัติศาสตร์ก็เพิ่งจะเริ่มเขียนกัน สยามในอดีตนั้น ชัดแจ้ง ครับ เป็นสังคม ”บอกเล่า” มากกว่า “ อ่านเขียน” คนส่วนใหญ่ หรือพูดว่าเกือบทั้งหมด น่าจะถูกกว่า ไม่รู้หนังสือเลย การอ่านการเขียนน่าจะอยู่ในแวดวงผู้คนไม่เกินห้าเปอร์เซนต์ของประชากร
ทีนี้บางคนเอาไทยไปเทียบกับญี่ปุ่น ว่าทั้งสองประเทศพัฒนาสู่ความทันสมัยมาพร้อมๆกัน เริ่มในสมัย ร.5 กับ จักรพรรดิเมจิของญี่ปุ่น เริ่มเวลาตรงกัน แล้วทำไมเราจึงดักดานอยู่กับการเกษตรนานเหลือเกิน ส่วนญี่ปุ่นนั้นเริ่มทำอุตสาหกรรมได้เกือบทันทีและทำอย่างรวดเร็วมาก จนไล่ทันฝรั่งได้ ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง พอสงครามโลกครั้งที่สองก็รบกับอังกฤษและอเมริกาอย่างน่าดูสูสี
ถามว่า สยามนั้นจะเร่งรีบสร้างอุตสาหกรรมตั้งแต่ ร.5 ร่วมสมัยกับญี่ปุ่นสมัยเมจิได้หรือไม่ ตอบว่าไม่ได้ ครับ ทำไม เพราะเราไม่มีแรงงาน
ประชากรทั้งประเทศในขณะนั้นมีไม่เกินสี่ห้าล้านคน ยังเป็นสังคมขาดแรงงานอุตสาหกรรม ชาวนายังเป็นไพร่เป็นทาส ไม่ใช่แรงงานเสรีแบบชาวญี่ปุ่น คนส่วนใหญ่อยู่ในชนบทอันใหญ่ไพศาล และกล่าวได้ว่ายังไม่มีภาษากลางที่ใช้ร่วมกันทั้งชาติ ยังไม่อาจทิ้งนาทิ้งไร่ ทิ้งบ้านทิ้งช่องข้ามถิ่นเข้ามาอยู่เมือง สำคัญยิ่งกว่าคือ ชาวนายังอยู่ในพันธนาการของศักดินา และ ต่อมา ถึงจะหลุดออกมาได้ หลังจาก ร.5 ทรงเลิกไพร่เลิกทาส แต่พวกเขาก็ยังเข้ามาเป็นกรรมกรในโรงงานในกรุงหรือในเมืองไม่ได้ ด้วยเหตุว่าในสมัย ร.5 นั้น ชนบทกับเมืองของสยามห่างไกลกันมาก เหมือนอยู่คนละโลก เมืองหรือนคร อันเป็น”ที่อยู่” ของโรงงาน นายทุนและของภาคอุตสาหกรรมนั้น ก็แทบไม่มี ยิ่งกว่านั้น แรงงานจากชนบทหากจะมีอยู่บ้าง ก็ยังมาเป็นกรรมกรยากมาก ด้วยเหตุที่ไม่รู้หนังสือกันเลย อย่าว่าแต่จะไม่มีกรรมกร ครับ อันที่จริงคำว่า”กรรมกร” นั้นในตอนนั้น ยังไม่มีในภาษาไทยเสียด้วยซ้ำ เราใช้คำว่า “จับกัง” หรือ “กุลี”
ภาวะการขาดแคลนแรงงานสำหรับเศรษฐกิจตลาดที่เริ่มทำจริงจังขึ้นในสมัย ร.5 นั้น ในที่สุดก็แก้ไขได้ด้วยการนำเข้าคนจีนในหลายทศวรรษจาก ร.5 มาจนถึง ร.6 -7 จำนวนเรือนแสนเรือนล้าน ลูกหลานเหลนของผู้อพยพเหล่านี้ เวลานี้ก็ได้กลายเป็นคนไทยเชื้อสายจีนมากมายในสังคมไทย
ทราบไหมครับว่าทางรถไฟที่รัฐบาลสยามสร้างไปสู่ทุกภาคของประเทศนั้น ล้วนสร้างขึ้นด้วยแรงงานจีนเป็นหลักและมีญี่ปุ่นเสริมบ้าง ไม่ใช่ด้วยแรงงานไทยเลย เพราะไม่มี ครับ ในตอนนั้น สองข้างทางรถไฟสยามอันยาวเหยียดนั้น ได้ฝังร่างฝังวิญญาณของกรรมกรชาวจีนไว้จำนวนมากโปรดทราบว่า บรรดาชาวจีนที่พากันอพยพมาอยู่ และกลายเป็นคนไทยเชื้อสายจีนในทุกวันนี้ ไม่มีใครเริ่มต้นจากการเป็นคนชั้นกลางหรือคหบดี หากในตอนแรกเริ่มนั้น ล้วนเข้ามาเป็น “จับกัง” เข้าป่าลึกฝ่าดงมาเลเรียวางรางรถไฟทั่วประเทศ มาขุดคลองรังสิต มาลากรถ มาแบกหามสินค้าเข้าออกโกดัง หรือท่าเรือ มาขุดเหมืองแร่ในภาคใต้ ถางป่า บุกเบิกการทำสวนทำไร่ และ เลี้ยงสัตว์ในภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ อย่างขนานใหญ่
ถ้าทราบอดีตของสยามจะเข้าใจได้ดีด้วยว่าทำไมเจ้านายไทยและคนไทยจึงไม่รังเกียจคนจีน ที่จริงไทยเราไม่รังเกียจชาติพันธ์ุหรือเผ่าชนไหนๆ แทบทั้งนั้น เป็นอย่างนี้กันแต่โบราณกาล ลัวะ มอญ เขมร ที่อยู่ในสยามมาก่อนเรา เราก็ผสมกลมกลืนกับเขามากกว่าที่จะรังเกียจเขา และเชลยสงครามจากเขมร ลาว พม่า มลายู นั้น เราก็ไม่เดียดฉันท์ กลับกลืนเขาเข้ามา พวกเชลยหรือครัวเรือนที่เราไปกวาดต้อนมาจากเชียง ม่วน ทุ่งไหหิน สิบสองปันนา สิบสองจุไท หัวพันทั้งห้าทั้งหก อันส่วนใหญ่เป็น “ลาว” เป็น ”ไต” หรือ ”ผู้ไท” อันเป็นญาติสนิทกันทางภาษาและชาติพันธ์นั้น เรายิ่งไม่รังเกียจ ครับ ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ ตอบได้ว่า ก็เดิมมานั้นเราไม่มี ”สัญชาติ” สัญชาติจะมาเกิดเอาในสมัย ร.6 แล้วเท่านั้น จึงเป็นเวลานานมากที่เราไม่มี “ชาตินิยมไทย” ที่จะไปรังเกียจชาติพันธ์ุอื่นๆ ย้ำนะครับว่าคนไทยที่หมายถึงคน “ชาติไทย” นั้น เพิ่งสถาปนากันขึ้นมาราวร้อยปีเอง
คนไทยนั้นในอดีตสืบหา “เลือดไทยแท้” ได้ค่อนข้างยาก เพราะเราได้ผสมกันหลายพ่อมากแม่ มีหลายเชื้อหลายชาติ แล้วค่อยๆ กลืนกลายจนเป็นไทย แบบที่ว่ากันตามสะดวก ไม่เร่งรัด ครับ ค่อยๆ ทำ ทำอย่างนี้มาได้เกือบตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนาน ถามต่อว่า ทำไมเราทำได้ล่ะ ตอบว่า ก็ด้วยขนาดและลักษณะทางประชากรในอดีตนั่นเอง ช่วยให้เรา”ใจกว้าง” ราว “แม่น้ำ” ครับ
ก็เราเดิมนั้นมีคนน้อยมาก แล้วที่ดินก็มีเหลือเฟือ ดังที่กล่าวมาแล้ว เราจึงมักจะเห็นผู้คนใหม่ๆ มากๆ จากที่อื่นๆ ใกล้หรือไกล เป็น ”ทรัพย์สิน” อันมีค่า เป็น “ขุมกำลัง” ใหม่ เป็น “รี้พลสกนธ์ไกร” รัฐสยามจึงยินดีต้อนรับเขา กลมเกลียวและผสมกลมกลืนกับเขา
ในทางตรงข้ามถ้าเราคิดรังเกียจหรือกีดกันคนจากที่อื่นที่จะมาเพิ่มมาสมทบ ก็จะต้องอยู่อย่างลำบากขาดแคลนต่อไป แม้ประเทศเราจะมีศักยภาพทางภูมิประเทศ ด้วยมีธรรมชาติที่ดี ด้วยดินที่ดี ด้วยมีน้ำชุ่มฉ่ำ ฝนไม่ขาด แล้งแทบไม่มี มีแร่ธาตุล้ำค่า มีภูเขา ทะเล และที่ราบที่อุดมสมบูรณ์ แต่ อย่าลืม ครับ หากขาดแคลนคน ขาดกำลัง ย่อมไม่อาจไปแปรเปลี่ยนศักยภาพที่ดีเหล่านั้นมาเป็นเศรษฐกิจและการพัฒนาที่เป็นจริงได้
หมายเหตุ : เรื่องและภาพ Fb page เอนก เหล่าธรรมทัศน์ AnekLaothamatas