เรียน-สอนกลางเปลวไฟ..."เด็ก-ครูใต้"ใจยังสู้
ซากกล้องโทรทัศน์วงจรปิดบริเวณหน้าโรงเรียนบ้านสายหมอ หมู่ 6 ต.บางเขา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ที่ถูกคนร้ายลอบวางเพลิงเผาช่วงกลางดึกของวันที่ 9 ต่อเนื่องเช้ามืดวันที่ 10 มกราคม ก่อนจะวางระเบิดซ้ำในช่วงเช้า ทำให้ทหารพรานได้รับบาดเจ็บถึง 6 นาย เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นหน้าสถานศึกษาในช่วงก่อนเทศกาลวันเด็กแห่งชาติเพียงไม่กี่วัน
และปีนี้วันเด็กตรงกับวันเสาร์ที่ 13 มกราคม ก่อนวันครูเพียง 3 วันเท่านั้น เหตุร้ายที่เกิดขึ้นจึงกระทบขวัญและกำลังใจของทั้งครูและนักเรียนมากพอสมควร
แต่ด้วยภาระหน้าที่ความรับผิดชอบ ทำให้ ยาเบ็น เรืองจรูญศรี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสายหมอ ไม่ยอมสั่งปิดการเรียนการสอนเป็นการชั่วคราว แต่ขอให้ครูทุกคนมาสอนตามปกติ และเลื่อนงานวันเด็กมาจัดในวันศุกร์ที่ 12 มกราคมแทน เพื่อให้เด็กๆ ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน และลืมเรื่องราวร้ายๆ ที่เกิดขึ้นใกล้กับโรงเรียนของพวกเขา
"พอเกิดเหตุแบบนี้ขึ้น ขวัญกำลังใจทั้งครูและนักเรียนก็ลดลงไปนิดหนึ่ง เนื่องจากโรงเรียนของเราไม่เคยประสบเหตุการณ์ลักษณะนี้มาก่อน แต่ผมเห็นว่าช่วงนี้ใกล้กับเทศกาลวันเด็ก และได้จัดกิจกรรมในวันศุกร์ที่ 12 คุณครูก็ต้องเตรียมจัดงาน เพื่อเด็กๆ เพื่อลูกๆ ของเรา เพื่อให้ได้สนุกสนานและได้แสดงออกถึงความสามารถของเด็กๆ ครูทุกคนจึงมาโรงเรียนทุกวัน ปฏิบัติหน้าที่กันเหมือนเดิม" ยาเบ็น บอก
การตัดสินใจไม่ปิดการเรียนการสอน แม้จะมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่รอบๆ โรงเรียน ถือเป็นแนวทางใหม่ของครูและผู้บริหารสถานศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยืนหยัดทำหน้าที่ต่อไปในการยกระดับการศึกษาให้กับๆ เด็กในดินแดนแห่งนี้ เนื่องจากการปิดการเรียนการสอนบ่อยๆ ย่อมกระทบต่อคุณภาพทางการศึกษา จนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส อยู่ในอันดับร้ั้งท้ายของประเทศ
"เราจะปฏิบัติหน้าที่พัฒนาคุณภาพนักเรียนต่อไป คงไม่มีใครทอดทิ้งเด็กนักเรียนของเราไปได้ เพราะการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ ทุกคนที่เข้ามาเป็นครูก็พร้อมจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด" ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสายหมอ กล่าว
แนวทางนี้สอดคล้องกับนโยบายของสมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เห็นด้วยกับการไม่ปิดการเรียนการสอนหลังเกิดเหตุรุนแรงกับครูหรือโรงเรียน เพราะไม่ใช่วิธีการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง หนำซ้ำยัง "เข้าทาง" กลุ่มก่อความไม่สงบที่ต้องการทำลายการศึกษาของเด็กๆ ในพื้นที่ด้วย
บุญสม ทองศรีพราย ผู้อำนวยการสำนักงานสมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยอมรับว่า ในฐานะแกนนำองค์กรครู ก็เคยตัดสินใจให้ปิดโรงเรียนไปหลายๆ ครั้ง แต่หลังๆ มองว่าการปิดโรงเรียนไม่ใช่การแก้ไขปัญหา แต่การสร้างกำลังใจและดูแลซึ่งกันและกันเพื่อให้เกิดพลัง จะแก้ไขปัญหาได้มากกว่า
"ถ้าเราปิดโรงเรียน ก็จะเข้าทางคนที่ไมหวังดีต่อแผ่นดินนี้ที่ไม่ต้องการให้การศึกษาเดินไปข้างหน้าอยู่แล้ว" บุญสม อธิบาย
ตลอด 14 ปีไฟใต้ ความรุนแรงที่ถูกจุดขึ้นได้คร่าชีวิตครูไปแล้วถึง 184 คน ในจำนวนนี้เป็นการเข้ามายิงถึงในโรงเรียน ต่อหน้าต่อตาเด็กนักเรียนถึง 11 คน โดยปี 2550 มีครูตกเป็นเป้าหมายมากที่สุดถึง 52 ราย แน่นอนว่าสถานการณ์เช่นนี้ทำให้ขวัญกำลังใจของครูใต้ ตกต่ำอย่างหนัก
"ครูคือเป้าหมายที่ชัดเจน เพราะตัวเลข 184 รายอธิบายได้แบบนั้น แน่นอนว่ามันได้กลายเป็นความทนทุกข์ ความกังวล และความกลัวที่เกิดขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อน เรารู้ดีว่าเราคือเป้าหมาย และเป็นเป้าหมายอ่อนแอด้วย ไม่มีโอกาสที่จะไปตอบโต้ ไม่มีสมรรถนะหรือพลังที่จะไปสู้รบกับใคร เราตั้งรับอย่างเดียว คนที่ไม่เข้าใจวิถีชีวิตของครูใต้ ลองมานั่งในพื้นที่ ณ เวลานั้น จะรู้ว่าเวลาไปโรงเรียนเหมือนไปรบ ไปสู้รบในสงคราม ไม่รู้ว่าวันนี้จะได้กลับบ้านหรือเปล่า เป็นวลีที่พูดกันมาตลอดว่า เช้าไป...เย็นไม่ได้กลับ" ครูบุญสม เล่าถึงวิกฤตการณ์ที่ครูตายไม่ต่างจากใบไม้ร่วงในช่วงกว่า 1 ทศวรรษที่ผ่านมา
ชีวิตที่แขวนอยู่บนเส้นด้ายของครูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐมากพอสมควรตลอด 14 ปี ทั้งเรื่อง "เบี้ยเสี่ยงภัย" ที่เพิ่มขึ้นจาก 2,500 บาทต่อเดือน เป็น 3,500 บาทต่อเดือน การคุ้มครองจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายกองกำลังที่เข้มงวด บูรณาการ จนความสูญเสียลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด รวมถึงการให้สิทธิพิเศษในการปรับวิทยฐานะให้กับครู
สำหรับวันครูปีนี้ สมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้มีข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาลเพิ่มอีก 2 ข้อ คือขอให้คงสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลให้กับครอบครัวของครูที่เสียชีวิตจากสถานการณ์ความไม่สงบ และมอบเงินเยียวยาให้ครอบครัวละ 4 ล้านบาท ซึ่งเรื่องนี้เคยผ่านมติครม.มาหลายปีแล้ว แต่ยังไม่มีผลในทางปฏิบัติ
ครูบุญสม บอกว่า ที่ขอทั้งหมดก็เพื่อให้ครูมีขวัญกำลังใจในการทำหน้าที่สอนเด็กๆ ให้เป็นคนดี มีความรู้ และพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ทัดเทียมกับพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ
"ขออวยพรให้ครูมีคุณภาพชีวิตที่ดี อยู่อย่างปลอดภัย และอยากยืนยันว่าเรายังคงมุ่งมั่นพัฒนาการศึกษา เพราะเล็งเห็นว่าการศึกษาเท่านั้นที่จะพาประเทศชาติไปสู่อนาคตที่ก้าวไกล"
เช่นเดียวกับ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสายหมอ ที่แม้จะเผชิญหน้ากับเหตุรุนแรงหน้าโรงเรียนมาหมาดๆ แต่เขาก็ยังหวังจะเห็นสันติสุขเกิดขึ้นจริงในดินแดนบ้านเกิด
"อยากเห็นภาพสันติสุขเกิดขึ้นในพื้นที่ อยากเห็นรอยยิ้มของคนในพื้นที่ เห็นทางสว่างในการแก้ไขปัญหา" เขากล่าว และฝากถึงเพื่อนครูเนื่องในโอกาสวันครู 16 มกราคม
"อยากให้ครูทุกคนเป็นครูที่ดีของนักเรียน เมื่อครูดี นักเรียนก็จะดูแบบอย่างของครู และอยากให้ครูทุกคนตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด แม้จะอยู่ท่ามกลางความเสี่ยงและความไม่สงบก็ตาม" ยาเบ็น กล่าว
ขณะที่หนูน้อยจากโรงเรียนบ้านสายหมอ ด.ญ.รุสนา ยูนุห์ วัย 8 ขวบ บอกว่า วันครูที่จะถึงนี้ ขอให้ครูสอนพวกเราไปนานๆ หนูจะขอเป็นเด็กดีของครูและของพ่อแม่ โตขึ้นอยากเป็นครู ขออย่าให้มีใครมาทำร้ายครู
เป็นเสียงเรียกร้องจากเด็กๆ ที่จะเป็นอนาคตของพื้นที่ชายแดนใต้...
แม้ปัจจุบันเหตุร้ายกับครูใต้จะเกิดขึ้นน้อยกว่าในอดีตมาก แต่ทุกฝ่ายก็ต้องไม่ประมาท เพราะสถานการณ์ที่ปลายด้ามขวานยังไม่มีอะไรแน่นอน แม้จะมีโศกนาฏกรรมทางการศึกษาเกิดขึ้นมานานถึง 14 ปีแล้วก็ตาม
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------
เรื่อง / ภาพ : นาซือเราะ เจะฮะ
บรรยายภาพ :
1 ครูยาเบ็น และเด็กๆ โรงเรียนบ้านสายหมอ
2 ครูบุญสม ทองศรีพราย
3 เด็กนักเรียนตัวน้อยๆ
อ่านประกอบ :
วันครูของครูชายแดนใต้...วังวนแห่งความสูญเสีย
ควันหลงวันครูที่ชายแดนใต้...เพรียกหาความปลอดภัยและสวัสดิการที่ดี