“บัณฑูร ล่ำซำ” กับภารกิจใช้โจทย์ป่าน่าน ทดลอง “ปฏิรูป” บริหารราชการฯ เชิงพื้นที่
“ทำเกษตรชั้นต่ำอยู่ไม่ได้ โลกนี้มีอะไรมากกว่านี้ อย่าคิดอับจน อย่าคิดเพิ่มแค่ 5-10% แต่ให้คิดเพิ่มเท่าตัว เพราะคณิตศาสตร์ชีวิตบีบไว้อย่างนั้น พื้นที่แค่นี้ ถ้าสร้างรายได้ต่อไร่ต่อหัวไม่ได้ อย่าหวังจะชนะในชีวิตนี้ อย่าบอกว่าทำไม่ได้ เพราะมีหินกว่านี้ทำได้มาแล้ว แต่ขั้นต้นต้องตกลงกันก่อน”
นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดบ้านเจ้าสัว ณ เมืองน่าน บรรยายในหัวข้อ “Nan Sandbox การทดลองปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินเชิงพื้นที่ โดยใช้โจทย์ป่าต้นน้ำน่านเป็นเป้าหมาย” พร้อมพบปะผู้นำชุมชนในโครงการรักษ์ป่าน่าน เพื่อหวังหาแนวทางแก้ไขปัญหาสภาพผืนป่าเสื่อมโทรมจากการบุกรุกปลูกพืชเชิงเดี่ยว
นายบัณฑูร เล่าว่า หลายปีที่ผ่านมา มีการหยิบยกเรื่อง จ.น่าน ขึ้นมา จนกลายเป็นที่สนใจอย่างมีนัยยะสำคัญในระดับสูงของการบริหารราชการแผ่นดินระดับประเทศ โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่ครั้งแรกเมื่อปีที่ผ่านมา ตอนนั้นพูดได้กว้าง ๆ แต่หลังจากนั้น พูดได้เกือบเต็มที่แล้วว่ารัฐบาลอนุมัติ
คำว่า “อนุมัติ” ในที่นี้ หมายถึง การยอมรับว่าโครงสร้างเดิมการแก้ไขปัญหาป่าน่านของภาครัฐผ่านกลไกระดับกระทรวง และจังหวัดนั้น แก้ปัญหาไม่ตก ซึ่งความจริงแล้ว ถือเป็นการยอมรับที่กล้าหาญ และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง
ซีอีโอแบงก์กสิกรไทย กล่าวต่อว่า ปัจจุบันเห็นได้ชัดใน 10 ปีที่ผ่านมา ป่าต้นน้ำหายไป 28% โดยไม่ต้องมาถกเถียงกัน เพราะมีหลักฐานเป็นภาพถ่ายจากดาวเทียมไทยโชต ที่ฟ้องความล้มเหลวของการบริหารงานประเทศ เพราะภาครัฐและภาคประชาชนไม่สามารถทำงานร่วมกันได้ "ต่างโทษกัน ต่างอยู่ในมุมของตัวเอง ต่างมีข้ออ้าง ต่างมีความกดดันและต่างมีความอับจนของตัวเอง" แต่ตอนจบคนที่แพ้คือประเทศไทยและประชาชนที่อยู่ในประเทศไทย
ฉะนั้น ตัวเลขที่หนักหนาขั้นนี้ มาถึงวันนี้รัฐบาลปัจจุบันถือว่ามีความกล้า และมีวิสัยทัศน์หนึ่งที่จะยอมให้มีการทดลองการแก้ไขปัญหาในรูปแบบใหม่
นายบัณฑูร ระบุว่า รัฐบาลบริหารประเทศมา 3 ปีกว่าแล้ว เรื่องใหญ่หนึ่งคือการแก้ไขปัญหาปากท้อง ซึ่งเป็นความกดดันมาก เพราะเป็นเรื่องยาก อย่างที่ตั้งข้อสังเกตไป “รวยกระจุก จนกระจาย” มีคนรวยอยู่ไม่กี่เปอร์เซนต์ ที่เหลือกระเสือกกระสน โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรม เนื่องจากพืชผลทุกชนิดได้ราคาไม่คุ้มต้นทุน ปัญหาเหล่านี้ยังแก้ไม่ตก
เรื่องต่อมาที่รัฐบาลพยายามแก้ไข คือ การทำอย่างเป็นระบบ โดยประกาศความตั้งใจปฏิรูป ซึ่งเขาเข้าไปเกี่ยวข้องในบางคณะ เห็นความเข้มข้นในวิธีการปฏิรูป โดยเฉพาะการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งเป็นตัวใหญ่ เพราะถือเป็นการยอมรับว่าระบบที่มีอยู่เดิมไม่ตอบโจทย์ปัญหาของประเทศ ฉะนั้นการที่รัฐบาลประกาศแผนปฏิรูปออกมานั้น หมายถึงการยอมรับว่า ต้องหาทางแก้
“ความจริงคนอยู่ในคณะปฏิรูปต่าง ๆ รวมถึงคณะที่ผมเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยมีความตั้งใจดีกับประเทศ พยายามหารูปแบบใหม่ที่จะแก้ แต่มีแผนทำได้ขั้นหนึ่งแล้ว และส่งการบ้านให้รัฐบาลแล้ว หลังจากนี้จะต้องถกกันต่อไป ทั้งนี้ จะแก้ทันทีไม่ได้ เพราะไม่มีใครสามารถแก้ทั้งระบบในวันเดียว ฉะนั้นจำเป็นต้องหาโครงการทดลอง”
“โครงการป่าต้นน้ำน่าน” ถูกหยิบยกเข้าไปเป็นตัวอย่างหนึ่งที่จะเสนอให้รัฐบาลอนุมัติให้ยอมทำรูปแบบใหม่ลักษณะ Sandbox ใช้พื้นที่จังหวัดน่านเป็นห้องทดลองเล็ก ๆ เพื่อค้นหาวิธีการทำงานใหม่ และเราหวังว่าจะแก้ไขปัญหาได้ ท้ายที่สุด บทเรียนที่ได้รับจะนำไปขยายผลสู่จังหวัดอื่นด้วย
ส่วนรูปแบบจะมีคณะกรรมการดำเนินการที่มี ‘บัณฑูร ล่ำซำ’ เป็นประธาน ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องทุกระดับในจ.น่าน เพื่อทำงานเป็นทีม ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้จะทำงานภายใต้คณะกรรมการกำกับเชิงนโยบายที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
“คณะกรรมการกำกับเชิงนโยบายทำหน้าที่คอยกำกับอยู่ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และรัฐมนตรีจากกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพาณิชย์ เพราะฉะนั้นรัฐบาลยังคุมอยู่ แต่คุมอีกรูปแบบหนึ่ง เพราะที่ผ่านมาพิสูจน์ได้ว่า การคุมผ่านกระทรวงไม่ก่อให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการแก้ไขปัญหา”
นายบัณฑูร มองว่า กระบวนการทำงานนี้เป็นรูปแบบที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนในการทดลองแก้ไขปัญหาของประเทศ ที่สำคัญเขาไม่ได้กินเงินเดือนของรัฐ แต่เป็นคนทำหน้าที่อาสาคุยให้ได้รูปแบบเพื่อกลับไปเสนอรัฐบาล
"ถ้ารัฐบาลตกลงก็ต้องไปแก้กฎกติกาเพื่อให้ข้อตกลงนี้สามารถทำได้ ซึ่งเป็นความแปลกที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน"
ทั้งนี้ ป่าสงวนแห่งชาติของจ.น่าน มี 6.4 ล้านไร่ หายไปแล้ว 1.8 ล้านไร่ เขาชี้ชัดว่า จะต้องไปแก้ทั้งระบบ แต่การทำอย่างนั้นได้ต้องพบกันครึ่งทางระหว่างรัฐกับประชาชน จึงจะเป็นประชารัฐและประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพราะประชาธิปไตยไม่ใช่การเลือกตั้งอย่างเดียว แต่ประชาธิปไตย รัฐต้องรับทราบและหาแนวทางแก้ไขความทุกข์ร้อนของประชาชน โดยต้องพยายามทั้งสองฝั่ง หากรักษาป่า แต่ไม่รักษาปากท้องประชาชน ทุกอย่างจะล้มหมด ประเทศจะไม่มีความหมายอีกต่อไป
ซีอีโอแยงก์กสิกรไทย กล่าวอีกว่า ไม่อยากเล่นเกมเล็ก ไม่อยากให้คิดแค่เล็ก ๆ แต่ต้องคิดใหญ่ให้พ้นอย่างแท้จริง เป็นพื้นที่มีชีวิตที่ดี อนาคตที่ดีสำหรับลูกหลานในการทำมาหากิน รักษาความยั่งยืนของธรรมชาติ ที่มีคุณูปการความเป็นไปในการรักษาภูมิอากาศของประเทศ จึงอยากให้ตั้งโจทย์อย่างนี้
"ผมสังเกตจากการสัมผัส จะพบว่า คนใน ไม่กล้าคิดใหญ่ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะไม่มีใครกระโต๊กกระต๊ากด้วย เมื่อพูดไปไม่มีใครฟัง จึงคิดเล็ก ๆ แต่ครั้งนี้มีคนฟังและฟังถึงระดับสูงสุดของระบบราชการแผ่นดินแล้ว
ถามว่าที่ครม. อนุมัติให้ไปทำนั้น ให้ไปทำอะไร เพราะขั้นแรกพื้นที่ทั้งจังหวัด ภาคเกษตรเกือบทั้งหมดผิดกฎหมาย เป็นสภาวะทนไม่ได้ อยู่ดี ๆ ประชาชนทั้งจังหวัดอยู่ในสภาวะผิดกฎหมาย อันสืบเนื่องมาจากการประกาศเป็นป่าสงวนเมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว เมื่อประชาชนมีข้อจำกัดอยู่ในป่าไม่ได้ และกฎระเบียบไทยเยอะมากจนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ จนกระทั่งต้องมีการปฏิรูปกฎหมายอย่างแรง ซึ่งกำลังทำอยู่
เจ้าหน้าที่รัฐพอมีกฎหมายมา ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ก็ผิดอีก ในที่สุดประเทศไทยออกกฎหมายให้กลายเป็นพันธนาการให้ทั้งประเทศแก้ปัญหาไม่ได้ ถ้าแก้ปัญหาต้องแก้กฎหมายก่อน นายกรัฐมนตรีจึงต้องใช้มาตรา 44 ตลอดเวลา”
นายบัณฑูร ตอกย้ำว่า เราต้องทำให้ประชาชนมีสิทธิในการใช้ประโยชน์ที่ดินป่าสงวน มีสิทธิทำมาหากินในป่าสงวน ส่วนหนึ่งจะได้พ้นจากความไม่ถูกกฎหมาย
ทั้งนี้ ตัวเลขที่เสนอไปถึง ครม. คือ ขณะนี้ป่าสงวนเหลือเพียง 72% ดังนั้น เราจะพบกันครึ่งทางระหว่างรัฐกับประชาชน ให้มีพื้นที่กลับมาเป็นป่าได้บ้าง แต่ต้องมีสิทธิทำมาหากินในพื้นที่ป่าสงวนด้วย แต่เป็นในรูปแบบที่แตกต่างจากเดิม ไม่ใช่การปลูกข้าวโพดหรือพืชเชิงเดี่ยว เพราะตัวเลขคำนวณออกมาแล้ว ชีวิตอยู่ไม่ได้ ในพื้นที่ที่มีจำกัดอย่างนี้
“ทำเกษตรชั้นต่ำอยู่ไม่ได้ โลกนี้มีอะไรมากกว่านี้ อย่าคิดอับจน อย่าคิดเพิ่มแค่ 5-10% แต่ให้คิดเพิ่มเท่าตัว เพราะคณิตศาสตร์ชีวิตบีบไว้อย่างนั้น พื้นที่แค่นี้ ถ้าสร้างรายได้ต่อไร่ต่อหัวไม่ได้ อย่าหวังจะชนะในชีวิตนี้ อย่าบอกว่าทำไม่ได้ เพราะมีหินกว่านี้ทำได้มาแล้ว แต่ขั้นต้นต้องตกลงกันก่อน โดยจะต้องไม่มีใครผิดกฎหมายอีกต่อไป “เซ็ตซีโร่” และเริ่มต้นใหม่ ตกลงกันให้ได้"
นี่คือจุดเริ่มต้นใหม่ ที่ผู้บริหารแบงก์กสิกรไทย ชี้ให้เห็นถึงปัญหา ส่วนรัฐบาลมีหน้าที่ไปแก้กฎกติกาต่าง ๆ ก็ต้องไปเอาตัวเลขที่รัฐบาลรับได้ แต่บอกไม่ได้ว่าตัวเลขนั้นคือเท่าไหร่ "ผมยังไม่ได้เจรจากับใครเลย แต่มองว่าเราต้องพบกันครึ่งทาง"
นายบัณฑูร อธิบายถึงตุ๊กตาการจัดสรรที่ดินป่าสงวนจ.น่าน ว่า ปัจจุบันยังเป็นป่าที่มีต้นไม้ใหญ่ 72% ส่วนอีก 28% เป็นเขาหัวโล้นแล้ว ฉะนั้นจะเปลี่ยนให้เขาหัวโล้นแบ่งเป็นพื้นที่ปลูกป่า 18% ได้หรือไม่ แต่ยังทำงานใต้ต้นไม้ได้ มีพื้นที่ทำกินได้ ที่เหลืออีก 10% เป็นป่าสงวนตามกฎหมาย ไม่ต้องปลูกต้นไม้ใหญ่ แต่ปลูกพืชอะไรก้ได้ เพราะในเมื่อพื้นที่จำกัด ปลูกพืชชั้นต่ำไม่ได้
พร้อมกันนี้เขาเสนอให้แต่ละตำบลจัดทำตัวเลขสถานการณ์ตัวเอง เสร็จแล้วแต่ละตำบลต้องไปตกลงกันว่าจะจัดสรรพื้นที่อย่างไร ซึ่ง 99 ตำบล ตัวเลขย่อมไม่เหมือนกัน แต่ความเป็นอยู่หนักหนาพอ ๆ กัน ดังนั้นต้องทำให้ตอนจบบวกกันแล้วเราจะได้ตัวเลข 18 กับ 10 ได้หรือไม่ อย่าบอกว่าทำแล้วไม่พอกิน เราจะไม่ยอมให้แบบนั้นเกิดขึ้น เพราะเราตั้งเป็นสมมติฐานตั้งแต่ต้น ว่าถ้าความสามารถต่อไร่ต่อคนในการสร้างรายได้แต่ละที่ไม่สูงถึงขั้นเลี้ยงชีวิตได้ จะล้ม แต่จะตั้งเป้าต่ำไมได้
“ปลูกอะไรยังไม่รู้ แต่ตั้งเป้ามาว่า 1 ไร่ของท่านจะมีรายได้เท่าไหร่ แล้วเราจะไปหาทางที่จะทำให้รายได้นั้นเกิดขึ้นให้ได้ ด้วยการค้นหาวิธีการทำมาหากินเกษตรหรืออย่างอื่นเพื่อทำให้ได้ แต่ถ้าตั้งเป้าต่ำ จะไปไม่ถึง “
ส่วนการจะยกเลิกการปลูกข้าวโพด หรืออะไรตรงนั้น แล้วคนนั้นจะเอาอะไรกิน คำนวณมาของเดิมได้เท่าไหร่ รับปากจะไปหาเงินมาชดเชย ไม่ใช่งบประมาณหลวง เพราะถ้าเป็นงบประมาณหลวง ล้มตั้งแต่วันแรก
"ผมไปหามาแล้วกัน อาจจากองค์กรสีเขียวต่าง ๆ ไม่ใช่หน้าที่ของท่าน เพื่อชดเชยการสูญเสียโอกาสปลูกข้าวโพด บอกมาเลยต้องการไร่ละเท่าไหร่ เพื่อเลี้ยงชีวิต 2 ปี
เราจะใช้เงินนั้นซื้อเวลาในการหาทางปลูกอะไรสักอย่างที่เข้าท่ากว่าเดิม แล้วระหว่างทางซื้อเวลา ต้องหาวิธีการทำมาหากินแบบใหม่ ซึ่งเป็นโจทย์ที่ยากมาก แต่ถ้าไม่ฝันให้ไกล ก็จะไม่ได้ ฉะนั้นขอไปตายเอาดาบหน้า” ซีอีโอ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวในที่สุด . .