กลุ่ม รพ.ศูนย์ฯโวยยิ่งลักษณ์ บิ๊ก พท. ล็อคตำแหน่งเลขา สปสช.แลกประโยชน์ 3 พันล้าน
สพศท.-สผ.พท. ร้องให้การเลือกเลขาฯ สปสช. 11 เม.ย.เป็นโมฆะ ระบุผู้เข้ารอบ 3 ราย-กรรมการสรรหาฯคุณสมบัติไม่โปร่งใส ปูดนักการเมืองใหญ่ล็อคตำแหน่งเลขาฯ มีผลประโยชน์กองทุนฯ 3 พันล้าน
จากกรณีที่สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปแห่งประเทศไทย(สพศท.) ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการสรรหาตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ในวันที่ 11 เม.ย.นี้ แทนตำแหน่งที่หมดวาระลง โดยมีการรณรงค์ให้โรงพยาบาลทั่วประเทศขึ้นป้าย “ต้านคนมีปัญหานั่งเลขาฯ สปสช.” ล่าสุดสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.) ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีเรื่อง “ขอให้การสรรหาเลขาธิการสปสช.เป็นโมฆะ”
โดยอ้างถึงความไม่เหมาะสมโปร่งในคุณสมบัติของผู้เข้ารับการสรรหาทั้ง 3 ราย และระบุว่า นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ประธานกรรมการสรรหา มีคุณสมบัติขัดบทบัญญัติมาตรา 31 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เนื่องจากเป็นผู้เข้าร่วมงานกับ สปสช.มาตลอดในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม และนายนายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการสรรหาฯก็มีคุณสมบัติขัดมาตรา 32(12) เนื่องจากเป็นผู้ได้รับการสนับสนุนหรือมีส่วนได้เสียกับกิจการของสำนักงาน จึงเป็นเหตุให้องค์ประกอบกรรมการเป็นโมฆะจึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรียกเลิกการสรรหาเลขาฯ สปสช.ครั้งนี้ และดำเนินการสรรหาใหม่
พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธาน สพศท. เปิดเผยกับศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา ว่าการสรรหาเลขาธิการ สปสช. ในวันที่ 11 เม.ย.นี้มีความพยายามเร่งรีบ ทั้งๆที่ตัวบุคคลซึ่งเข้ารับการสรรหา 3 รายยังมีปัญหาและข้อเคลือบแคลงจากสังคม ทั้งนี้ตำแหน่งเลขาธิการ สปสช.มีหน้าที่หลักคือการบริหารงบประมาณจำนวนหลายแสนล้านบาท ดังนั้นผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งต้องมีความโปร่งใส แต่กลับพบว่าหนึ่งในผู้ที่เข้ารับการสรรหามีปัญหาเรื่องการบริหารเงินถึงขั้นถูกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิ ชี้มูลความผิด
“เช่น พบการจ้างที่ปรึกษาโดยให้เงินเดือนถึงหลักแสนบาททั้งๆที่ไม่สามารถทำได้ตามระเบียบ หรือการนำเงินค่ารักษาพยาบาลรายหัวของประชาชนไปว่าจ้างมหาวิทยาลัยให้ทำงานให้กับสำนักงาน ซึ่งชัดเจนว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมน่าเคลือบแคลง”
พญ.ประชุมพรกล่าวพญ.ประชุมพร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ผู้เข้ารับการสรรหาคนอื่นก็ยังมีปัญหา จึงเรียกร้องไปยังผู้มีอำนาจโดยเฉพาะนายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการ สปสช. อย่าเร่งรีบสรรหาเลขาฯ สปสช. แต่ควรตรวจสอบบุคคลทั้ง 3 ให้เกิดความโปร่งใส
ด้าน พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.) กล่าวว่าได้ยื่นหนังสือเปิดผนึกถึง น.ส.ยิ่ง ลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตั้งแต่เมื่อวันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยมีสาระสำคัญคือทราบว่ามีนักการเมืองใหญ่ในพรรคเพื่อไทยรายหนึ่ง ได้สั่งให้กรรมการสรรหาฯ เลือกผู้เข้ารับการสรรหาคนหนึ่งมาดำรงตำแหน่งเลขาฯ สปสช. โดยมีผลประโยชน์ต่างตอบแทนเป็นสินบนจากเงินกองทุน สปสช. 3,000 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ผ่านเข้ารอบเพื่อรับการสรรหาเป็นเลขาฯ สปสช. 3 คน ได้แก่ นพ.วินัย สวัสดิวร อดีตเลขาฯ สปสช., นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สมเกียรติ วัฒนสิริชัยกุล ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.)
ซึ่ง นพ.ชาญวิทย์ เปิดเผยว่า ส่วนตัวชัดเจนในการทำงานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันว่าจุดยืนรักษาประโยชน์ให้ราชการ ทั้งนี้ที่ผ่านมาเคยถูกสอบสวนเรื่องข้อเสนอให้ยกเลิกการประกวดราคา ซึ่งเป็นการสอบสวนในฐานะกรรมการไม่ใช่ในฐานะส่วนตัว ซึ่งศาลได้พิพากษาแล้วว่ามติที่ตนเองเสนอชอบด้วยกฎหมายและสามารถรักษาผลประโยชน์ของรัฐได้ ยืนยันว่าสามารถชี้แจงทุกข้อเคลือบแคลงได้ ส่วน นพ.วินัย เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวแต่เพียงสั้นๆว่าทั้งหมดเป็นเรื่องเก่าซึ่งได้ชี้แจงไปหมดแล้ว ไม่เข้าใจเจตนารมณ์ของกลุ่มแพทย์ผู้เปิดประเด็นว่าต้องการหวังผลอะไร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อีกด้านหนึ่ง ก่อนหน้านี้ มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มเครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพและชมรมแพทย์ชนบท ออกกมาต่อต้านขบวนการล้มระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ของฝ่ายการเมืองและกลุ่มธุรกิจยาและโรงพยาบาลเอกชน