ปัญหาสื่อละเมิดสิทธิ นักวิชาการชี้เหตุธุรกิจยังต้องอิงทุน ต้องขายข่าว
นักวิชาการ ชี้ปัญหา สื่อละเมิดสิทธิ เน้นพาดหัวรุนแรง ตีตราเหยื่อ ตัดสินคน สร้างทัศนคติเชิงลบ เหตุรูปแบบธุรกิจยังต้องอิงทุน ข่าวต้องขาย
เมื่อวันที่ 10 ม.ค.61 ที่ร้านกชาติ Cafe แอมเนสตี้ประเทศไทย กลุ่มช่างภาพ Realframe และคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดเสวนา ”เมื่อ 'สื่อ' ละเมิด 'สิทธิ'"
ดร.สังกมา สารวัตร อาจารย์คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวถึงปัญหาหลักๆ ของสื่อที่ละเมิดสิทธิ เห็นได้ชัดจากการใช้คำพาดหัว สื่อมีการละเมิดมาตรฐานความคิด ยกตัวอย่างกรณีพาดหัวว่า ตุ้งติ้งโดนฆ่า ของหนังสือพิมพ์เจ้าหนึ่ง แบบนี้คือการละเมิดสิทธิของคนคนนึง ทั้งยังตีตราทัศนคติเชิงลบต่อคนคนนั้น ทั้งนี้การละเมิดสามารถแบ่งออกได้ตามกลุ่มดังนี้
กลุ่มที่1 การละเมิดสิทธิผู้เสียหาย ความเป็นข่าวเราต้องรู้ว่าอันไหนคือเรื่องสาธารณะ ตรงไหนคือเรื่องส่วนตัว หรือกรณีอย่าง เปรี้ยวที่ตกเป็นข่าวฆ่าหั่นศพ ต่อมาสื่อก็ยกพาดหัวขอบคุณฆาตกรว่าช่วยทำให้หมอนขายดี กลายเป็นว่า สื่อสร้างความคิดแบบไอดอล
กลุ่มที่2 การให้เนื้อเข้าที่เข้าใจผิดหรือบิดเบือน เช่น กรณีดังในอดีตอย่างคดี เชอรี่แอน นำเสนอข่าวผู้ต้องหาในขณะล่ามกุญแจมือ จับนั่งแถลง ยิงคำถามให้สารภาพ เป็นต้น
กลุ่มที่3 ภาษา มุมภาพ มุมกล้อง
กลุ่มที่4 มีวัตถุประสงค์ของแต่ละข่าวในลักษณะโจมตี อย่างกรณีตัดต่อ ให้ข่าวเท็จนักทำงานในพื้นที่สามจังหวัด เป็นต้น
กลุ่มที่5 ตีตราประทับเชิงลบต่อสังคม กรณีชัดๆ เช่นพาดหัวว่า คนม้งขนยาบ้า กลายเป็นการนำเสนอตีตรา พาสังคมคิดรวมไปว่าถ้าเป็นคนม้งจะหมายถึงคนค้ายา
ดร.สังกมา กล่าวอีกว่า คำว่า การรับผิดชอบต่อสังคม แต่สิ่งหนึ่งที่สื่อไปติดคือการไปตัดสินคนคนนั้นว่าดีหรือไม่ สมมติมีคดีเด็กวัยรุ่นฆ่าชิงทรัพย์ เราก็จะพยายามบีบคนคนนั้น โดยขาดการมองในระดับนโยบายว่าเกิดอะไรขึ้นกับเด็กคนนั้น ทั้งหมดอาการของสังคม สิ่งที่จะช่วยได้ คือการเปิดพื้นที่ความหลากหลาย เช่นกรณีสีเสื้อ ความหลากหลายทางเพศ เป็นต้น แต่วันนี้สื่อทำงานแบบเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็เป็นข่าวได้ อย่างเพลงต๊ะตุตวง ก็เป็นข่าวได้
“มุมสิทธิมนุษยชน ทุกคนเกิดมามีเสรีภาพ มีสิทธิของความเป็นมนุษย์มาตั้งแต่นั้น แต่สิทธิของสิ่อ ความเป็นอิสระต่างๆ คือหน้าที่สำคัญและไม่ได้มากันเอง แต่เกิดจากการต่อสู้กันมานาน เมื่อเราทำหน้าที่สื่อเราต้องตระหนักว่าสิ่งที่เสนอคือสิ่งสำคัญ สื่อมวลชนมีหน้าที่ เมื่อมีหน้าที่ก็มาพร้อมกับสิทธิ” ดร.สังกมา กล่าว และว่า สื่อมีหน้าที่ถึงจะมีสิทธิ ได้รับสิทธิคนปกป้องว่า ห้ามโดนละเมิดสิทธิ ห้ามโดนอุ้มหาย แต่สิทธิมนุษยชนของแต่ละคนไม่ต้องมีหน้าที่เพราะมีมาแต่เกิด การทำหน้าที่ของสื่อที่คอยเป็นหมาเฝ้าบ้านมองว่าประเด็นที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของส่วนรวมหรือไม่อย่างกรณีดานาสายป่าน เป็นต้น ดร.สังกมากล่าว
ดร.สังกมากล่าวถึงสิ่งที่ท้าทายที่สุดของคนทำสื่อคือ ภูมิทัศน์คนทำสื่อที่กระจัดกระจาย เราอยู่ในยุคที่เกิดสื่อใหม่ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายโดนง่าย ตัวสื่อกลายเป็นว่าปัญหาความไม่น่าเชื่อ ความรวดเร็ว การตลาดแบบใหม่ ปัญหาความเที่ยงตรง เรื่องจริยธรรมทั้งหลาย การแชร์ที่รวดเร็ว การคอมเมนต์ที่รวดเร็ว ดังนั้นคนที่ทำสื่อกระแสหลักจะอยู่ได้ ต้องนึกถึงการอิงในฐานของสิทธิ เพื่อการพิจารณาในการทำงาน จะเป็นกองบรรณาธิการ ช่างภาพ นักข่าวต้องเข้าใจเรื่องนี้ร่วมกัน ประเด็นที่สอง ในเมื่อสื่อจะกลายเป็นแหล่งข้อมูล เราต้องรักษาฐานตรงนี้เอาไว้ในได้ คนอ่านยังโหยหาสำนักข่าวที่เชื่อถือได้ และเจาะลึก สิ่งที่จะทำให้สื่อเหล่านี้อยู่ได้คือการเคารพในสิทธิ และรับผิดชอบในหน้าที่น่าเชื่อถือ ตรวจสอบได้ และมีความลึกไม่ใช่ตามกระแส ลอยๆ ไปหายไปรอกระแสใหม่เข้ามา
ดร.สังกมา กล่าวด้วยว่า รูปแบบการทำธุรกิจของสื่อเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิได้เช่นกันดังนั้นกลายเป็นว่าสำนักข่าวที่คอยตามขุดคุ้ยไม่มีงบไม่มีสปอนเซอร์ลงมา แต่กลับกันในต่างประเทศ เขาจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ในประเด็นสาธารณะ กองทุนที่หนุนเสรีภาพสื่อเพื่อประโยชน์สาธารณะ ประเทศไทยวันนี้สื่อถอยหลังออกมา เราจะสู้กันยังไงกับเสรีนิยมใหม่ เพราะสุดท้ายเราปฏิเสธเรื่องทุนไม่ได้ ข่าวต้องขายได้ แต่ต้องรับผิดชอบ เจาะลึกด้วย ซึ่งสิ่งนี้คือความท้าทาย