ยกระดับระบบยุติธรรม 'ชัชชาติ' ชี้ไทยยังขาดนักกฎหมายที่ทันโลก เข้าใจเทคโนโลยี
ดร.ชัชชาติ ชี้เทคโนโลยีเปลี่ยนไปเร็ว แต่ไทยยังขาดนักกฎหมายที่ตามทันโลก ขาดความเข้าใจประชาชน ยกกรณี ห้ามนั่งกระบะ ห้ามชาร์จไฟ ตัวอย่างเจตนาดีแต่ไม่รู้จักพฤติกรรมคน
เมื่อวันที่ 8 ม.ค.61 คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนาวิชาการ “การสรรค์สร้างนักนิติศาสตร์รุ่นใหม่สู่สังคมไทยและสังคมโลก” ที่ห้องประชุมชั้น 4 คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ
ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงนักกฎหมายที่สังคมไทยต้องการ่า ปัจจุบันเทคโนโลยีหมุนเร็วมากขึ้น สิ่งที่ตามมาคือการรูปแบบการกำกับดูแลที่ต้องปรับเปลี่ยนให้ทันไปตามเทคโนโลยี ยกตัวอย่างเรื่องการซื้อของออนไลน์ที่วันนี้สามารถทำได้ง่ายได้ สะดวกสบาย อนาคตการฟ้องร้องอันเกิดขึ้นจากการซื้อสินค้าออนไลน์พวกนี้ก็จะมากขึ้นเช่นเดียวกัน
"กฎหมายก็ต้องปรับเพื่อตามให้ทัน เพราะออนไลน์ซื้อตอนไหน จากใครที่ไหนก็ได้ คดีที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคเมื่อปี 2559 มีมากถึง 777,125 คดี"
ดร.ชัชชาติ กล่าวอีกว่า วันนี้เทคโนโลยีอย่างคิวอาร์โค้ดก็นิยมแพร่หลาย ร้านค้าร้านข้าวแกงก็เริ่มมาใช้การจ่ายเงินผ่านระบบนี้ หรือกรณีอย่างศาล การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ ที่เรียกว่า Electronic Court หรือ e-Court ซึ่งก็คือระบบศาลอิเล็กทรอนิกส์ที่ศาลแขวงพัทยาเริ่มนำมาใช้ โดยคู่ความมีบัตรอิเล็กทรอนิกส์ มีคิวอาร์โค้ดสามารถขอรับสำเนาคำพิพากษาได้ทันที
“แค่ปี2560 ปีเดียวสภานิติบัญญัติแห่งชาติผ่านกฎหมายมาแล้ว 300 ฉบับ อนาคตก็จะมีกฎหมายออกมาอีก ดังนั้นกฎหมายเก่าบางฉบับต้องฆ่าทิ้งไปบ้าง ขณะเดียวกันมีรายงานจากตลาดหุ้นไทยว่า บริษัทไทยไปลงทุนในต่างแดนเยอะ มูลค่าสองแสนล้านบาท เราต้องการนักกฎหมายที่รู้เรื่องกฎหมายต่างประเทศด้วย ดังนั้นอนาคตของนักกฎหมาย จึงต้องดูจากปัจจุบันว่า กำลังเกิดอะไรขึ้น แล้วเราจะเห็นอนาคต เห็นความจำเป็นในการออกกฎหมาย” อดีตรัฐมนตรีคมนาคม กล่าว
ดร.ชัชชาติ กล่าวว่า เทคโนโลยีเปลี่ยนไปเร็วมา ขณะที่คนเปลี่ยนไม่เร็วเท่าเทคโนโลยี ในช่วงแรกๆ ของการพัฒนาคนกับเทคโนโลยียังไม่มีปัญหา แต่วันนี้คนเริ่มไล่ตามไม่ทัน โดยเฉพาะระบบราชการไทย พร้อมยกตัวอย่าง พ.ร.บ.เดินอากาศที่อกมาตั้งแต่ 2497 ใช้มาจนวันนี้ แน่นอนกฎหมายเก่าก็ย่อมมีปัญหากับโลกสมัยใหม่ เทคโนโลยีเปลี่ยนไปแล้ว แต่กฎหมายเปลี่ยนไม่ทัน หรืออย่างกรณี อูเบอร์ (Uber) บ้านเราก็ยังไม่มีกฎหมายออกมา ขณะที่ประชาชนต้องการใช้บริการ หรือที่มาแรงตอนนี้ อย่างบิทคอยน์ (Bitcoin) กฎหมายไทยจะตามทันหรือไม่
ดร.ชัชชาติ กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า นักกฎหมายในยุคใหม่ต้องมีคุณสมบัติ คือ (1.)ต้องทันสมัย เรื่องเหตุการณ์ต่างๆ ในโลก (2.)ต้องได้รับความไว้ใจอันมาจาก ความประพฤติ ความสามารถ (3.)การสื่อสาร เรื่องกฎหมายเป็นเรื่องเฉพาะตัว การสื่อสารเรื่องยากๆ ให้คนอื่นเข้าใจ เป็นเรื่องจำเป็น (4.) ต้องเป็นคนที่มีความคิดแบบก้าวหน้า รู้ลึก หรือตามทฤษฎีเรียกว่าแบบตัวที (T) และ(5.) ความเข้าใจในการทำเข้าใจผู้ใช้งานนั่นคือคนทั่วๆ ไป ส่วนมากนักกฎหมายไม่เข้าใจตรงนี้เพราะไม่เคยลงไปคลุกคลี
"ตัวอย่างง่ายๆ อย่างเรื่องห้ามนั่งกระบะหลัง รู้ว่าเป็นเจตนาดี แต่คนออกกฎไม่เข้าใจผู้ใช้และเป็นปัญหา ถ้าหากจะออกกฎก็ควรจะทดลอง ค่อยๆ ปรับ หรือแม้แต่เรื่องห้ามชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์ก็เช่นเดียวกัน"