นักวิชาการจี้เปิดผลตรวจโอกาสรั่วไหลบ่อเก็บกักกากแร่เหมืองอัคราฯ
นักวิชาการสิ่งเเวดล้อม เผย บ.อัคราฯ พยายามปัดน้ำเสียเกิดจากชาวบ้าน ระบุพิสูจน์ได้หรือไม่เกิดจากอุตสาหกรรม พร้อมจี้เร่งเปิดเผยรายงานตรวจสอบโอกาสรั่วไหลบ่อเก็บกักกากเเร่เหมืองทองคำต่อสาธารณะ
สืบเนื่องจากบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ชี้แจงกรณีผลการตรวจสอบน้ำเน่าเสียในพื้นที่นาใกล้กับบริเวณบ่อกักเก็บกากแร่ของเหมืองแร่ทองคำชาตรี โดยยืนยันบ่อกักเก็บกากแร่ที่มีผู้ร้องเรียนว่าอาจจะเกิดการรั่วไหลนั้น ไม่ได้มีการใช้งานแล้ว เนื่องจากบริษัทฯถูกสั่งให้ระงับการดำเนินกิจการเหมืองแร่ทองคำมาตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2560 (อ่านประกอบ: อัคราฯ แจงน้ำเน่ารอบบ่อเก็บกากแร่ คาดมาจากตอซังข้าว-ขยะ ยันสารหนูพบตามธรรมชาติ)
ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่าข้อมูลที่ทางบริษัท อัคราฯ ชี้แจงจะกล่าวอ้างอย่างไรก็ได้ ประเด็นสำคัญคือต้องนำรายงานโครงการ “การสำรวจตรวจสอบโอกาสการรั่วไหลของสารพิษจากบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 (TSF1) ของเหมืองทองคำ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) จังหวัดพิจิตร” มาเปิดเผย ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการเปิดเผยต่อสาธาณะ
“บริษัท อัคราฯ พยายามปัดให้เห็นเป็นน้ำเสียที่เกิดจากชาวบ้าน ซึ่งประเด็นนี้พิสูจน์ได้ไม่ยากว่าน้ำเสียที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากอุตสาหกรรมหรือไม่ใช่อุตสาหกรรม โดยดูที่ค่า BOD (Bilogical Oxygen Demand) และ COD (Chemical Oxygen Demand) จากการตรวจสอบคุณภาพน้ำ ซึ่งเชื่อว่าในรายงานผลการศึกษาวิจัยโครงการดังกล่าวได้มีการศึกษาเรื่องนี้” นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม กล่าว และว่า ส่วนประเด็นการรั่วของบ่อเก็บกากแร่ ต้องดูเรื่องธรณีฟิสิกส์ว่ามีรอยรั่วจากบ่อเก็บกากหรือไม่ มีชั้นหินแตกหรือไม่ ทางบริษัท อัคราฯ อ้างว่าได้หยุดทำเหมืองมาหนึ่งปีแล้ว แต่ยังมีการเก็บน้ำทำแร่และกากไว้ ซึ่งสูง 25-30 เมตร
ดร.ไชยณรงค์ กล่าวต่อว่า การอ้างได้หยุดการทำเหมืองแร่มาหนึ่งปีแล้วไม่น่าจะเป็นสาเหตุของน้ำเสียที่ผุดเป็นไปไม่ได้ หากมีน้ำรั่วซึมทางธรณีฟิสิกส์สามารถตรวจสอบได้ไม่ยากว่ามีรอยแตกหรือไม่ เชื่อว่าในรายงานผลการศึกษาวิจัยโครงการดังกล่าวมีนักวิชาการศึกษาเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นต้องเปิดเผยรายงานฉบับนี้อย่างเร่งด่วน และในมุมมองยังเห็นว่า คณะทำงานโครงงานดังกล่าวมีความน่าเชื่อถือ โดยมีนักวิจัยจากสาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ม.นเรศวร, The Research Institute for Geo-Resources and Environment (Green), The National Institute of Advanced Industrial Science and Technology จากประเทศญี่ปุ่น และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งอนาคต โดยมีสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เป็นเลขานุการ ตามคำสั่งของปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมและปลัดกระทรวงสาธารณสุข