โอริสสา อินเดีย: พุทธภูมิที่น่าเยือน
ปีใหม่ปีนี้ 2561 ลูกสี่คนมีเวลาว่างพร้อมกัน เราหกพ่อแม่ลูก พร้อมเพื่อนมิตรอีก 16 คน จึงเดินทางไปเยือนโอริสสา (Orissa) หรือ ชื่อใหม่ปัจจุบันว่า โอดิชา (Odisha) ซึ่งเป็นอินเดียที่อยู่ใกล้ไทยมาก ข้ามทะเลอันดามันและอ่าวเบงกอลไปก็จะเป็นรัฐโอริสสาซึ่งอยู่ติดทะเลด้านตะวันออกสุดของประเทศเลย ถ้าบินตรง คงใช้เวลาไม่เกินสามชั่วโมง แคว้นโอริสสานี้แหละที่บรรดาผู้คนแห่งอารยธรรมและศาสนาพราหมณ์และพุทธจากอินเดียเคยเดินทางมาสู่สุวรรณภูมิมากที่สุด แต่คนไทยในปัจจุบันนี้มักไม่ทราบ ผมอยากเรียกโอริสสาว่า ”พุทธภูมิที่ตกสำรวจ” ในไทย
ความสำคัญยิ่งยวดของโอริสสา คือ ในอดีตกว่าสองพันปีมาแล้ว เคยเป็นแคว้นกลิงคะ หรือ กลิงคราช อันรุ่งเรืองและเข้มแข็ง พระเจ้าอโศกมหาราชพิชิตแคว้นนี้ลงได้ หลังจากที่ทรงทำสงครามใหญ่จนทหารและประชาชนหลายแสนถูกฆ่าและตกเป็นเชลยศึก สนามรบแห่งนี้ที่เดาลี (Dhauli) ยังเหลือร่องรอยให้เราไปเยี่ยมชมได้สะดวกสบาย เราได้เห็นแม่น้ำดายา (Daya) ที่เป็นส่วนหนึ่งของสนามรบด้วย กล่าวกันว่ามหาสงครามโหดที่พระเจ้าอโศกทรงนำมาในครั้งนั้น ทำให้แม่น้ำนี้กลายเป็นสายน้ำแห่งเลือดเนื้อของชาวอินเดียทีเดียว
ก็ ณ กลิงคราช แห่งอดีต หรือ โอริสสานี้เอง ที่จอมจักรพรรดิอโศกสลดพระทัย วางดาบ และ หันมาน้อมรับ ”อหิงสธรรม” แทน ใช้ “ธรรมวิชัย” แทน คือหันมาใช้การเผยแผ่ศาสนาพุทธไปทั่วพระราชอาณาเขต และ ไปยังเขตแดนที่ยังไม่ตกอยู่ในพระราชอำนาจ แทนที่จะใช้การศึกสงคราม ผลาญชีวิตผู้คนเช่นเดิม
หลังจากนั้นมาศาสนาพุทธภายใต้ราชูปถัมภ์ของอโศกผู้ยิ่งใหญ่จึงกลายเป็นศาสนาหลักของอินเดีย จึงได้แพร่ขยายไปทั่วอินเดีย และ ใช่เพียงนั้น ยังขยายไปสู่เอเชียกลางและต่อไปยังจีนและต่อมาอีกเกาหลีและญี่ปุ่น ยิ่งกว่านั้นได้ขยายไปสู่สุวรรณภูมิ พระสงฆ์ผู้เป็นสมณทูตของอโศก นั้น เข้าใจว่าออกจากกลิงคคราชนี่เอง อาศัยมรสุมและทะเลเบงกอลกับอันดามัน รอนแรมมาขึ้นฝั่งที่มอญ หรือ พม่า หรือ คาบสมุทรซึ่งปัจจุบันนี้คือภาคใต้ของไทย ยังถกเถียงกันไม่จบ ทุกดินแดนทุกประเทศที่เอ่ยมาล้วนเชื่อว่าปฐมสมณทูตมาขึ้นบกที่บ้านเมืองตนเองก่อน
ที่สำคัญไม่แพ้กัน และเกี่ยวข้องกับสยามมาก คือ จักรพรรดิอโศกทรงส่งราชบุตรราชธิดาไปเผยแผ่พระศาสนายังลังกาด้วย และก็ที่นี่แหละที่รักษาพุทธศาสนาดั้งเดิมหรือแบบเถรวาทไว้ได้ และยังแพร่ต่อมาสู่สุวรรณภูมิและสยามเมื่อเจ็ดแปดร้อยปีที่แล้ว กลายเป็นศาสนาหลักของเราตั้งแต่นั้นมา ศาสนาพุทธจากกลิงคราชหรือโอริสสาแห่งนี้จึงมีทั้งพุทธแบบเมื่อครั้งยังไม่แยกเป็นเถรวาทหรือมหายานในสมัยอโศก เมื่อพุทธศตวรรษที่สาม เป็นประการที่หนึ่ง และ ประการต่อมา เมื่อพุทธศาสนาเกิดมหายานขึ้นมาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 10-16 ดินแดนโอริสสา ก็เป็นแหล่งเผยแผ่มหายานไปจีนและเอเชียตะวันออก กล่าวเช่นนี้ โอริสสา น่าไปเยือนมาก คือ เป็นแหล่งสอนศาสนาพุทธที่สำคัญ ที่เทียบได้กับตักศิลาและนาลันทาเลย ก็ว่าได้
เราได้ไปเยือนบริเวณที่เป็นกลุ่มวัดและสำนักศึกษาที่เคยยิ่งใหญ่เทียบกับตักศิลาและนาลันทา ที่มีนามว่า อุทัยคีรี รัตนคีรี และลลิตาคีรี ทำให้ได้ทราบว่าพระถังซัมจั๋งอันเป็นที่มาของนิทานจีนเรื่อง ”ไซอิ๋ว” ก็เคยมาศึกษาที่นี่ และพบว่าพุทธศาสนาฝ่ายมหายานที่เคยแพร่ไปยังดินแดนที่ปัจจุบันอยู่ในแถบภาคใต้ของไทย มลายู และ อินโดนีเซีย หลายร้อยปีก่อนที่เถรวาทจากลังกาจะมาถึงนั้น ก็ล้วนออกมาจากโอริสสานี่เอง และ ยิ่งกว่านั้น แม้แต่นิกายวัชรยานที่แพร่หลายต่อมาในย่านหิมาลัยและทิเบตนั้น ก็ล้วนพัฒนาต่อยอดจากพุทธมหายานและวัชรยานที่โอริสสาแห่งพุทธศตวรรษที่ 10 ถึง 16 นี่เอง
เรายังได้ไปกราบไหว้พระเกศาสถูปที่ลลิตคีรี ที่เพิ่งขุดค้นพบไม่นาน ในพระสถูปค้นพบผะอบบรรจุเส้นพระเกศาพระพุทธเจ้าพร้อมจารึกว่าตปุสสะ (Tapusa) และภุลลิกะ (Bhallika) สองพ่อค้าชาวโอริสสาในขณะนั้น ได้สร้างไว้ ตรงกับอังคุตตรนิกายที่กล่าวไว้ว่า ครั้งเมื่อพระพุทธองค์เพิ่งตรัสรู้ ได้เพียงสี่อาทิตย์แรก ก็ทรงได้สาวกสองคนแรก คือ ท่านตปุสสะ (Tapusa) และ ท่านภุลลิกะ (Bhallika) พ่อค้าชาวโอริสสา ซึ่งได้เข้าเฝ้าพุทธองค์และปวราณาตนเป็นพุทธสาวก ก่อนปัญจวัคคีย์ทั้งห้าที่ชาวไทยพุทธรู้จักดีเสียอีก สาวกสองท่านนี้ได้ขอพระเกศาพุทธองค์ และนำมาบรรจุผะอบฝังไว้ที่สถูปแห่งนี้ ตรงตามที่จารึกไว้ในอังคุตตรนิกายทุกประการ
ก็ด้วยเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมา ครับ ที่ผมขอเรียกโอริสสาว่า ”พุทธภูมิ” ที่ “ตกสำรวจ” ในไทย โอริสสาสำคัญมาก จึงใคร่ขอชวนเชิญชาวไทย โดยเฉพาะชาวพุทธ ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นเถรวาท หรือ มหายาน หรือกระทั่งท่านที่สนใจพุทธแบบตันตระ แบบทิเบต แบบวัชรยาน ได้แวะมาเยือน มาศึกษา มาสวดมนต์ มาแสดงธรรม หรือมาสนทนาธรรม ณ สถานที่สำคัญต่างๆ ในรัฐแห่งนี้ และ บรรดาท่านที่เป็นนักประวัติศาสตร์พุทธศาสนา หรือ ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับสุวรรณภูมิหรือเอเชียอาคเนย์ก็ไม่น่าจะพลาดนะครับ
หมายเหตุ : เรื่องและภาพจาก FB page: เอนก เหล่าธรรมทัศน์ AnekLaothamatas