กยท.สั่งหยุดกรีดยาง 3 เดือน ในพื้นที่การยางฯ ลดผลผลิตออกสู่ตลาด
กยท.มีคำสั่งหยุดกรีดยางบนพื้นที่การยางแห่งประเทศไทย ยกเว้นใช้เพื่องานวิจัย เป็นเวลา 3 เดือน ม.ค.-มี.ค.61 หวังลดปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาด หากฝ่าฝืนมีความผิดทางวินัย
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2560 นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ กษ.2902/0545 ถึงหัวหน้าส่วนงานทุกส่วนงาน ยกเว้น การยางแห่งประเทศไทยเขตภาคเหนือ เรื่อง ลดปริมาณผลผลิตของหน่วยงานภาครัฐที่มีสวนยาง ภายหลังคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2560 เห็นชอบในหลักการโครงการควบคุมปริมาณผลผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการลดปริมาณผลผลิตของหน่วยงานภาครัฐที่มีสวนยาง
โดยขอให้หยุดกรีดยางทั้งหมดที่มีสวนยางตั้งอยู่บนพื้นที่ของการยางแห่งประเทศไทย ยกเว้นพื้นที่สวนยางที่ใช้ในการวิจัย เป็นระยะเวลา 3 เดือน ในระหว่าง ม.ค.-มี.ค. 2561 เพื่อลดปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาด และกำกับติดตามพนักงานและลูกจ้างในสังกัดให้มีการหยุดกรีดยางและประเมินผลการลดปริมาณผลผลิตอย่างต่อเนื่อง
หากมีการฝ่าฝืนการดำเนินการ ให้ถือว่าเป็นความผิดทางวินัยตามข้อบังคับคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย ว่าด้วยวินัยและการลงโทษพนักงานและลูกจ้างประจำ และอาจถูกดำเนินคดีอาญาฐานลักทรัพย์นายจ้างด้วย กรณีมีการลักลอบกรีดยางและ/หรือรับซื้อยางพาราอันเกิดจากการกระทำของบุคคลภายนอก ให้หัวหน้าส่วนงานที่รับผิดชอบดำเนินการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในพื้นที่ที่รับผิดชอบ
ทั้งนี้ ส่วนงานที่เกี่ยวข้องจะมีหนังสือสั่งการการดำเนินงานตามโครงการควบคุมปริมาณผลผลิตให้ถือปฏิบัติต่อไป .
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนถึงประเด็นมาตรการหยุดกรีดยางในพื้นที่ของรัฐบาล 3 หน่วยงาน ได้แก่ การยางแห่งประเทศไทย กรมวิชาการเกษตร และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ จำนวนประมาณ 100,000 ไร่ ระหว่างเดือน ม.ค. ถึงมี.ค. 2561 ซึ่งได้มีข้อเสนอให้รัฐบาลร่วมมือกับประเทศอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ให้ช่วยดำเนินมาตรการหยุดกรีดยางในช่วงเวลาเดียวกันและปริมาณเท่ากันกับประเทศไทย จะเป็นการลดผลผลิตยางออกสู่ตลาด เพื่อกระตุ้นให้มีความต้องการใช้ยางเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ราคายางมีการขยับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย โดย กยท. ในฐานะตัวแทนประเทศไทยได้มีข้อตกลงร่วมกับสภาไตรภาคียางระหว่างประเทศ (ITRC) ประกอบด้วยประเทศไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ประชุมเมื่อวันที่ 27 – 30 พ.ย. 2560 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในที่ประชุมมีการกำหนดมาตรการร่วมกันของประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่ของโลกทั้งการควบคุมการส่งออกยางปริมาณ 350,000 เมตริกตัน และการบริหารจัดการการผลิตของแต่ละประเทศ โดยการดำเนินการจะเป็นไปตามสัดส่วนของพื้นที่ปลูกแต่ละประเทศ เพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างความต้องการใช้และปริมาณการผลิตยางของโลก