เลือกตั้งครั้งหน้า นักสิทธิสตรี ยุพรรคการเมืองนำประเด็นผู้หญิง ทำเป็นนโยบายหาเสียง
ประเด็นความรุนแรงของผู้หญิง การคุ้มครองแรงงานหญิง เพิ่มสัดส่วนผู้หญิงในสภาฯ ผอ.สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา ชี้พรรคการเมืองไหนเอาไปทำเป็นนโยบายหาเสียง เชื่อได้คะแนน
นางเรืองรวี พิชัยกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (ww.isranews.org) ถึงการทำงานขับเคลื่อนเรื่องผู้หญิง ส่งเสริมสถานภาพผู้หญิง และต่อสู้สิทธิผู้หญิงในปี 2561 ว่า ต่อจากนี้การทำงานเราไม่ได้ติดยึดกับคำว่า สิทธิสตรี (Feminism ) แบบภาพเก่าๆ หลักการยึคอยู่แต่การแสดงออกจะเป็นมิตรมากขึ้น โดยใช้คำว่า ความเสมอภาคทางเพศ (Gender Equality) มากกว่า ซึ่งการทำงานจะไม่ใช่แค่เฉพาะเพศหญิง แต่หมายถึงขยายความคลุมไปเพศหลากหลาย คนข้ามเพศ ซึ่งมีจำนวนมากในประเทศไทยด้วย
"การต่อสู้กับภาพเหมารวม Feminism ในอดีตจะเสียเวลา การทำงานต้องเอาหลังอิงรัฐธรรมนูญ กติการะหว่างประเทศ กฎหมายความเสมอภาคระหว่างเพศ"
สำหรับการเคลื่อนไหวต่อจากนี้ นางเรืองรวี กล่าวต่อว่า จะพยายามขับเคลื่อนการเพิ่มสัดส่วนผู้หญิงในเรื่องการตัดสินใจ เพราะประเทศไทยมีผู้หญิงในสภาฯ เช่น ในสนช.มีแค่ 4.8% ซึ่งอยู่อันดับ 182 ของโลก สะท้อนให้เห็นว่า ประเด็นปัญหาหลายเรื่องที่ผู้หญิงไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะสัดส่วนการตัดสินใจระดับประเทศนั่นเอง
ผอ.การสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา กล่าวถึงเรื่องความรุนแรงของผู้หญิงและเด็ก ประเทศไทยถือว่า แย่ที่สุด ดูได้จากสถิติมีผู้หญิงถูกข่มขืน 3 หมื่นรายต่อปี มีการฟ้องร้องแค่หลัก 3 พันราย เหลือประมาณ 1 พันกว่าเข้าสู่กระบวนการอัยการ ศาล และตัดสินคดีแค่ 67 คดี แสดงว่า มีคนกระทำผิดต่อผู้หญิงและเด็กลอยนวล 98% ซึ่งเรายังมีปัญหาการขยายแวดวงการพูดเรื่องนี้
ประเด็นการจ้างงาน การคุ้มครองแรงงานหญิง นางเรืองรวี กล่าวว่า ผู้หญิงส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในสายงานที่ไม่มีทักษะ ระดับกลางถึงล่าง ระดับบนแทบไม่มี เมื่อเป็นงานไม่ได้ใช้ทักษะ การเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 มีหุ่นยนต์เข้ามาแทนที่ กลุ่มคนเหล่านี้จะตกงานก่อนเพื่อน ถูกเลย์ออฟ ฉะนั้นเรื่องนี้ต้องใช้มุมมอง Gender มุมมองหญิงชายเข้ามาแก้ไขปัญหา
“คนงานในโรงงานส่วนใหญ่ที่เป็นผู้หญิงจะไม่ได้แต่งงาน โสด เมื่อถึงวัยออกจากงานอายุ 55-60 ปี ชีวิตผู้สูงวัยผู้หญิงอยู่ในสายตาของรัฐบาลหรือไม่ที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” นางเรืองรวี กล่าว และว่า ประเด็นผู้หญิงเหล่านี้ หากพรรคการเมืองใดนำไปทำเป็นนโยบายของพรรครอบต่อไป อยากให้มีการนึกถึงประเด็นความรุนแรงของผู้หญิง การคุ้มครองแรงงานให้ผู้หญิง รวมไปถึงการให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการตัดสินใจระดับประเทศด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
จากคำค้นแห่งปี Feminism สตรีนิยม ถึง Gender identity อัตลักษณ์ทางเพศ