สตง. พบ 26 โครงการหมู่บ้านละ 2 แสน จ.ยโสธร ไม่ช่วยเพิ่มรายได้-สั่งเรียกเงินทุนคืน
สตง.ชำแหละโครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านฯ ละ 2 แสน จ.ยโสธร พบ 2 จาก 28 โครงการ ประสบความสำเร็จ ประชาชนมีรายได้เพิ่ม ตรงตามวัตถุประสงค์ อีก 26 โครงการไม่มีผล มีกลุ่มข้าวกล้องงอกปลอดสารพิษ อ.มหาชนะชัย รวมอยู่ด้วย เสนอผู้ว่าฯ สั่งนายอำเภอเรียกเงินทุนหมุนเวียนคืนรัฐ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เผยแพร่ผลการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ จ.ยโสธร ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.)มีมติเห็นชอบ และมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินโครงการ ให้จ่ายจากเงินงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นให้ทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ หมู่บ้านละ 200,000 บาท จำนวน 74,588 หมู่บ้าน เป็นเงิน 14,917.60 ล้านบาท เฉพาะ จ.ยโสธร ได้รับจัดสรร 885 หมู่บ้าน 1,008 โครงการ เป็นเงิน 177 ล้านบาท
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการฯ ในพื้นที่ จ.ยโสธร 156 หมู่บ้าน 196 โครงการ เป็นเงิน 31,168,212 บาท ปรากฎว่า หมู่บ้านยังไม่สามารถดำเนินงานโครงการให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการได้ โดยโครงการที่จัดตั้งขึ้นเพื่อหวังให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นในฤดูแล้ง พบมีการเสนอโครงการด้านเศรษฐกิจเพียง 51 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 5.06 ของโครงการทั้งหมด จากโครงการที่ตรวจสอบ 196 โครงการ
โดยเป็นโครงการด้านเศรษฐกิจ 28 โครงการ พบว่า มีเพียง 2 โครงการ ที่ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ส่วนอีก 26 โครงการ ไม่มีผลทำให้รายได้ของประชาชนในพื้นที่เพิ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เช่น โครงการกลุ่มข้าวกล้องงอกปลอดสารพิษ หมู่ที่ 12 ต.คูเมือง อ.มหาชนะชัย เนื่องจากกลุ่มยังไม่มีความพร้อมในการผลิต เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม มีเพียง 1 โครงการเท่านั้นที่รายได้ของกลุ่มเพิ่มอย่างเป็นรูปธรรมและยังมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ โครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคพื้นเมืองตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ม.9 ต.ลุมพุก อ.คำเขื่อนแก้ว และอีก 1 โครงการ ได้แก่ โครงการขุดเจาะบ่อบาดาลเพื่อการเกษตร ม.4 ต.หนองคู อ.เมืองยโสธร ซึ่งเป็นการเพิ่มรายได้เฉพาะบุคคลเท่านั้น ทำให้ประชาชนในหมู่บ้านเสียโอกาสที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มอำนาจใช้จ่ายเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากตามนโยบาย
ขณะที่การขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม กลับไม่มีหมู่บ้านใดเลือกดำเนินโครงการฯ เลย
ขณะที่การจ้างงานสนับสนุนให้จ้างแรงงานมากกว่าการใช้ทุนหรือเครื่องจักรหรือหรือหมู่บ้านเลือกดำเนินการเอง แทนการจ้างผู้รับเหมานั้น จากการตรวจสอบของ สตง. พบว่า หมู่บ้านส่วนใหญ่ดำเนินโครงการโดยจ้างเหมาผู้รับจ้างคิดเป็นร้อยละ 91.17 หรือจำนวน 919 โครงการ ซึ่งจะทำให้มีค่าเสียโอกาสในการจ้างงานที่ต้องจ่ายเป็นค่า Factor F ให้แก่ผู้รับจ้างจำนวนมาก ที่ไม่กระจายไปเป็นค่าจ้างแรงงาน
อีกทั้งจากการตรวจสอบ 196 โครงการ พบว่า มีการจ้างเหมาผู้รับจ้าง 145 โครงการ มีต้นทุนค่า Factor F 3,723,192.48 บาท ซึ่งตกเป็นรายได้ของผู้รับจ้างเพียงผู้เดียวโดยไม่เกิดการกระจายรายได้ไปสู่ประชาชนในหมู่บ้าน ทำให้หากพิจารณาการกระจายรายได้จากการจ้างแรงงานในหมู่บ้านที่ตรวจสอบ 156 หมู่บ้าน พบว่า มีการจ้างงาน 93 หมู่บ้าน เป็นค่าจ้าง 2,144,899 บาท
โดยส่วนใหญ่จ้างแรงงานระหว่าง 1-10 คน/โครงการ 56 หมู่บ้าน ส่งผลให้เกิดการกระจายรายได้น้อย และมีหมู่บ้านที่ดำเนิน โครงการลักษณะจัดซื้อวัสดุหรือครุภัณฑ์ทั้งโครงการโดยไม่มีการจ้างแรงงาน 11 หมู่บ้าน 11 โครงการ เป็นเงิน 2.20 ล้านบาท ทำให้ประชาชนในหมู่บ้านเสียโอกาสที่ได้รับรายได้ในส่วนที่ควรจะเป็นค่าจ้างแรงงาน
สตง.ระบุถึงสาเหตุทำให้การดำเนินโครงการไม่บรรลุวัตถุประสงค์ เนื่องจากคณะกรรมการหมู่บ้านที่เป็นกลไกในการขับเคลื่อนขาดความรู้ความเข้าใจในหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วัตถุประสงค์ของโครงการและบทบาทหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย รวมทั้งเป็นโครงการแรกตามนโยบายประชารัฐที่ให้หมู่บ้านดำเนินการเองทุกขั้นตอน ประกอบกับระยะเวลาดำเนินงานจำกัดทำให้หมู่บ้านคัดเลือกโครงการ วิธีการดำเนินการไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์โครงการฯ และเกินศักยภาพของพื้นที่ เป็นต้น
จึงมีข้อเสนอแนะ อาทิ ให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยพิจารณาทบทวนการดำเนินการโครงการลักษณะการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วม เพื่อกำหนดรูปแบบ หลักเกณฑ์การดำเนินโครงการให้บรรลุวัตถุประสงค์ให้ ชัดเจน รวมถึงพิจารณาทบทวนการดำเนินการโครงการลักษณะที่ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วม ควรให้มีการชี้แจงวัตถุประสงค์โครงการ หลักเกณฑ์แนวทาง ข้อจำกัดของโครงการให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ และคณะกรรมการระดับต่าง ๆ ผู้ที่จะเป็นผู้รับนโยบายและนำไปถ่ายทอดเกิดความเข้าใจให้ชัดเจน ตรงกันเพื่อป้องกันการคัดเลือกและอนุมัติโครงการที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของโครงการหรือที่รัฐบาล
พร้อมกำหนดบทลงโทษกรณีที่หมู่บ้านหรือผู้ปฏิบัติไม่ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ แนวทางในการดำเนินงานโครงการ ระเบียบ กฎหมาย คู่มือ และหนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การ ใช้จ่ายเงินงบประมาณเกิดประโยชน์สูงสุด และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธรสั่งการให้นายอำเภอดำเนินการให้กลุ่มข้าวกล้องงอกปลอดสารพิษ หมู่ที่ 12 ต.คูเมือง อ.มหาชนะชัย ที่ยังไม่มีการดำเนินการให้นำเงินทุนหมุนเวียน 50,000บาท ส่งคืนแก่ทางราชการ .