‘มกุฎ อรฤดี’ สะท้อนวิกฤติสื่อสิ่งพิมพ์ในวันที่นิตยสารชาวบ้านตาย
“รัฐบาลไทยไม่เคยเข้าใจว่า การที่เราจะสื่อสารกับชาวบ้านได้ ต้องใช้สื่อชาวบ้าน ไม่ใช่สื่อสมัยใหม่ คุณมุ่งพัฒนาระบบออนไลน์ แต่ชาวบ้านไม่มีเครื่องมือในรองรับ ถามว่า โทรศัพท์ต้องใช้ระดับไหนจึงจะรองรับไวไฟได้ เเม้ในที่สุด มีการสร้างไวไฟขึ้นมา แต่แหล่งข้อมูลที่อยู่ในระบบออนไลน์มีความแม่นยำ ถูกต้อง มากน้อยเพียงใด เพราะมีแต่โฆษณาขายสินค้าในรูปแบบบทความ ทำให้มีชาวบ้านจำนวนไม่น้อยหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อได้รับความเสียหาย”
หากย้อนกลับไปในอดีต “นิตยสาร” ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ที่รุ่งเรือง แต่ปัจจุบันพูดได้ว่าเข้าขั้น “วิกฤต” หลายฉบับต้องปิดตัว ปรากฎเป็นข่าวครึกโครมให้เห็นตลอดปี 2560
“อ.มกุฎ อรฤดี” บรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อ และศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ เป็นหนึ่งในบุคคลของวงการที่เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของโลกกระดาษมาอย่างต่อเนื่อง ได้สะท้อนข้อเท็จจริงของสถานการณ์ผ่านมุมมอง วิธีคิด ไว้อย่างชัดเจนและน่าสนใจ
“นิตยสารอยู่ได้ด้วยโฆษณา ถ้าไม่มีโฆษณาอยู่ไม่ได้ เพราะค่าใช้จ่ายสูง” อ.มกุฎ เริ่มต้นชี้ให้เห็นถึงสาเหตุอันดับต้น ๆ การปิดตัวของนิตยสาร ก่อนจะอธิบายต่อว่า เรื่องนี้ซับซ้อนมาก จนกระทั่งหลายคน แม้แต่คนในวงการหนังสืออาจมองเห็นไม่ครบถ้วน
ไม่ใช่พูดได้เพียงหนึ่งประโยคว่า เลิกผลิตนิตยสาร เพราะไม่มีโฆษณาหรือต้านกระแสอีบุ๊กไม่ได้ แต่เขากำลังตอกย้ำว่า วิกฤตที่เกิดขึ้นตอนนี้ซับซ้อนจริง ๆ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกี่ยวโยงสัมพันธ์กันถึง 14 ห่วงโซ่ที่ส่งผลกระทบต่อระบบหนังสือของชาติ และห่วงโซ่ที่ทำให้นิตยสารเจ๊งเร็ว นั่นคือ “บริษัทโฆษณา” ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของต่างชาติ
อ.มกุฎ กล่าวว่า บริษัทโฆษณาเหล่านี้มักเข้าใจว่าประเทศไทยเหมือนกับประเทศอื่น ๆ ในโลกเรื่องหนังสือและการอ่าน ทั้งที่ความจริงแตกต่างกันมาก ฝรั่งมีพัฒนาการด้านการอ่านมาเกือบหนึ่งพันปี ขณะที่ประเทศไทยแค่กว่าหนึ่งร้อยปีเท่านั้น จะเห็นว่า เราตามไม่ทัน ไม่เฉพาะเรื่องการอ่าน แต่ไม่ทันทุกเรื่อง
ถามว่าเพราะเหตุใด “นิตยสารคู่สร้างคู่สม” จึงมียอดขายทำกำไร เขาระบุว่า คนต่างจังหวัด หรือคนที่การศึกษาไม่สูงนัก และไม่ได้มีรายได้มากมาย สามารถเข้าถึง และซื้อหามาอ่านได้ เพราะมีราคาถูก เต็มไปด้วยเนื้อหาที่เหมาะสมกับชาวบ้าน สิ่งนี้ตอกย้ำว่า ชาวบ้านต่างจังหวัดยังมีความต้องการอ่านนิตยสารที่ให้สาระความรู้ในราคาถูก ไม่ต้องวิจัย เพราะตลอดเวลา 38 ปี ของคู่สร้างคู่สม พิสูจน์แล้ว
แต่หลังจากนี้ไปต่างหากที่จะเป็นปัญหา ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ แสดงความห่วงใย เมื่อนิตยสารที่เข้าถึงชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็น สกุลไทย คู่สร้างคู่สม ชีวิตรัก ปิดตัว จะมีเครื่องมือใดที่สื่อสารถึงชาวบ้านราคาถูกที่สุด และเป็นเครื่องมือที่เอื้อต่อรัฐบาล เพราะในนิตยสารจะเต็มไปด้วยคอลัมน์ที่มีความรู้ หรือให้ชาวบ้านได้เขียนจดหมายมาแสดงความคิดเห็น
อ.มกุฎ ยกตัวอย่างกรณีรัฐบาลต้องการให้คนไทยมีความเข้าใจเรื่อง “ยุงลาย” ในเวลา 1 เดือน จะต้องใช้เงินในการประชาสัมพันธ์มหาศาล แต่หากมีคอลัมน์ยุงลายในนิตยสาร รัฐบาลไม่ต้องสูญเสียเงินเลย ที่สำคัญ ชาวบ้านเข้าใจได้ง่าย ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า นิตยสาร จะเป็นเครื่องมือของรัฐบาลที่ทำให้ชาวบ้านมีความรู้พื้นฐานอย่างง่ายที่สุด ซึ่งอินเดียใช้มานานกว่า 60 ปี แต่ผู้นำไทยยังไม่เข้าใจ
“รัฐบาลไทยไม่เคยเข้าใจว่า การที่เราจะสื่อสารกับชาวบ้านได้ ต้องใช้สื่อชาวบ้าน ไม่ใช่สื่อสมัยใหม่ คุณมุ่งพัฒนาระบบออนไลน์ แต่ชาวบ้านไม่มีเครื่องมือในรองรับ ถามว่า โทรศัพท์ต้องใช้ระดับไหนจึงจะรองรับไวไฟได้ เเม้ในที่สุด มีการสร้างไวไฟขึ้นมา แต่แหล่งข้อมูลที่อยู่ในระบบออนไลน์มีความแม่นยำ ถูกต้อง มากน้อยเพียงใด เพราะมีแต่โฆษณาขายสินค้าในรูปแบบบทความ ทำให้มีชาวบ้านจำนวนไม่น้อยหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อได้รับความเสียหาย”
อ.มกุฎ ย้อนกลับมาตอบคำถามถึงเหตุผลที่บริษัทโฆษณาไม่ซื้อพื้นที่ประชาสัมพันธ์ในนิตยสาร เพราะคนหันไปอ่านหนังสือจากออนไลน์ ย้ำชัดว่า นั่นเป็นการตัดสินใจที่ผิด ทั้งที่ไม่เคยมีการสำรวจข้อมูลความต้องการรับสื่อสิ่งพิมพ์ที่ถูกต้อง เนื่องจากในอดีตการให้โฆษณาต้องใช้สินบน
สินบนในที่นี้ หมายถึง การที่จะขายโฆษณาได้มาหนึ่งชิ้น จะต้องจ่ายเงินพิเศษให้แก่เจ้าหน้าที่รับผิดชอบที่ให้โฆษณานั้นแก่นิตยสาร ฉะนั้นตัวเลขที่สำรวจว่านิตยสารฉบับไหนมีจำนวนพิมพ์และจำนวนผู้อ่านเท่าไหร่ เขายืนยันว่า “โกหก” เช่น นิตยสารฉบับหนึ่งพิมพ์เพียง 5 พันเล่ม แต่กลับมีตัวเลขผู้อ่าน 1 แสนคน นั่นแสดงว่า นอกจากบริษัทโฆษณาไม่รู้อะไรมากนักแล้วยังไม่ซื่ออีกด้วย
อดไม่ได้ที่จะถามกลับทันทีว่า ปัจจุบันยังมีสินบนเหล่านี้อีกหรือไม่ เขาตอบว่า ไม่รู้ เพราะไม่ได้อยู่ในวงการนิตยสารนานแล้ว แต่ในอดีตสิ่งเหล่านี้เคยปรากฎ
“ปัจจุบันชาวบ้านเข้าไม่ถึงระบบอินเตอร์เน็ต 100% แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ นิตยสารเพื่อชาวบ้านเจ๊งทั้งหมด เพราะบริษัทโฆษณาเท่านั้นที่ไม่เข้าใจภูมิศาสตร์ประชากรการอ่านของประเทศไทย”
อ.มกุฎ กล่าวต่อว่า พยายามเตือนรัฐบาลต้องตื่นในเรื่องนี้ เพราะทุกครั้งที่นิตยสารปิดตัว เท่ากับว่ารัฐบาลขาดเครื่องมือที่จะสื่อสารความรู้ไปถึงชาวบ้าน ดังเช่นที่ยกตัวอย่างเรื่อง “ยุงลาย” ไว้ หากชาวบ้านไม่มีความรู้ สิ่งที่เกิดขึ้น คือ จะต้องเสียงบประมาณมหาศาลในการรักษาผู้ป่วยจากโรคไข้เลือดออก แต่หากทุกคนมีความรู้จากการอ่านจะช่วยป้องกันจากโรคดังกล่าว
รัฐบาลจึงต้องเอาใจใส่นิตยสารที่มีอยู่ แต่ไม่จำเป็นต้องสนับสนุนเป็นรายฉบับ เพียงแค่เข้าใจวงจรของหนังสือเพียงพอแล้ว เพราะประเทศไทยไม่เหมือนอังกฤษที่ประชาชนเข้าถึงความรู้ในสื่อออนไลน์ แต่ประเทศไทยคือประเทศไทย ซึ่งประชาชนยังอ่านหนังสือกระดาษอยู่ แต่หากรัฐบาลไม่เข้าใจ กังวลว่า ในอนาคตประชาชนจะมีความรู้ด้อยกว่าชาติอื่น ๆ และไม่สามารถสู้รบปรบมือได้
“สิ่งชาวบ้านต้องการมากที่สุด คือ นิตยสารที่เกี่ยวข้องกับอาชีพที่จะให้ความรู้เพื่อไปสู้รบปรบมือกับชาวต่างชาติได้ เช่น มีที่ดิน 100 ไร่ จะมีวิธีปกป้องที่ดินไม่ให้หลุดไปตกในมือของชาวต่างชาติอย่างไร หรือวิธีเลี้ยงแกะให้ได้เนื้อที่ดี มีลูกเยอะ แต่ห้องสมุดประชาชนในประเทศไทยกลับไม่มีหนังสือที่ตอบโจทย์ความต้องการของชาวบ้านในชุมชน และท้าให้ไปสำรวจว่า แต่ละแห่งนั้นมีหนังสือประเภทใดบ้าง”
ช่วงท้ายของการสนทนา ได้ถามถึงนิตยสารเพื่อชาวบ้านในอุดมคติ เขาระบุว่า รูปแบบจะต้องเป็นการนำเสนอความรู้พื้นฐานมากที่สุด ซึ่งความจริงเป็นเรื่องยาก เพราะลักษณะภูมิศาสตร์ประชากรไทยในแต่ละภูมิภาคแตกต่างกัน ฉะนั้นการทำนิตยสารให้ชาวบ้านได้อ่านอย่างทั่วถึง โดยมาจากฉบับเดียวและได้ความรู้พื้นฐานมากที่สุดนั้น จึงเป็นเรื่องค่อนข้างยาก แต่จำเป็นต้องมี เพื่อให้รู้เรื่องเดียวในสถานะเดียวกัน .
อ่านประกอบ:คู่สร้างคู่สม นิตยสารชาวบ้านตาย...ความรู้ชาวบ้านก็จะตายตาม
แถลงเอง! จบตำนาน 38 ปี 'ดำรง' ยันปิดคู่สร้างคู่สม วางเเผงฉบับ 1005 เล่มสุดท้าย-ไม่ทำออนไลน์