จากคำค้นแห่งปี Feminism สตรีนิยม ถึง Gender identity อัตลักษณ์ทางเพศ
แม้บ้านเรามีความขัดแย้งทางความคิดเรื่องประชาธิปไตยเหลือง-แดง ทำให้ประเทศมีความแตกแยก ขณะที่สหรัฐฯ ตอนนี้มีความแตกแยกระหว่างคนขวาจัด ขบวนการสิทธิมนุษยชน และคนทำงานสิทธิสตรีด้วย ตั้งแต่ทรัมป์ขึ้นมาบริหารประเทศ
เป็นธรรมเนียมของทุกปี ที่พจนานุกรมเมอร์เรียม-เว็บสเตอร์ (Merriam-Webster) พจนานุกรมชื่อดังของสหรัฐฯ จะเปิดคำแห่งปี ( Words of the Year) ปี 2560 ก็เช่นกัน เมอร์เรียม-เว็บสเตอร์ ยกให้คำว่า Feminism (สตรีนิยม) เป็นคำประจำปี 2560 โดยมีการค้นหาออนไลน์คำว่า Feminism เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ถึงร้อยละ 70 อันเป็นผลจากข่าวและเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้อง
Feminism หรือ สตรีนิยม กลายเป็นคำแห่งปี “เรืองรวี พิชัยกุล” ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (ww.isranews.org) โดยเธอบอก “ไม่แปลกใจที่คำนี้กลายเป็นคำค้นแห่งปี เพราะประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐอเมริกาได้เขย่า และจุดไฟให้เกิดขึ้น การที่ทรัมป์มีนโยบายหลายอย่าง และมีประวัติการเหยียดเพศ เหยียดผิว กีดกันคนมุสลิม ไม่ได้ส่งเสริมสตรีเท่าไหร่ เห็นได้จากทรัมป์ เคยมีแนวคิดจะสร้างกำแพงกั้นชายแดนเม็กซิโก”
ทรัมป์คือสัญลักษณ์ขวาจัด หรืออยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ฉะนั้น คำนี้อาจเป็นคนที่เห็นด้วยกับทรัมป์ และไม่เห็นด้วยกับทรัมป์ค้นก็ได้ รวมถึงมีการณรงค์ Women's March ที่วอชิงตัน ออกมาใส่เสื้อสีชมพูและเดินขบวน ซึ่งขบวนการผู้หญิงไม่ได้ขยายใหญ่โต หรือโดดเด่นมาตั้งนานแล้ว เนื่องจากสมัยพรรคเดโมแครต สิ่งเหล่านี้ได้รับการค้ำประกันด้วยดี ทั้งคลินตันหญิง (ฮิลลาลี) และชาย (บิล) แสดงตัวเป็นนักสิทธิมนุษยชนปกป้องสิทธิสตรีมาโดยตลอด ทั้งในนโยบายระบบสุขภาพ การมีสิทธิ์ทำแท้ง จะว่าไป ขบวนการผู้หญิงในอเมริกาค่อนข้างเป็น Liberal ต่อสู้เพื่อการกำหนดชะตากรรมเนื้อตัวร่างกายตัวเองค่อนข้างประสบความสำเร็จ ซึ่งขบวนการผู้หญิงในอเมริกามาไกลแล้วแต่ถูกกระตุกกลับโดยทรัมป์ ที่เข้ามาแล้วมีนโยบายลดสวัสดิการด้านสุขภาพอนามัย ตัดงบประมาณ
เมื่อกลับมามองประเทศไทย ผอ.สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา ชี้ว่า แม้บ้านเรามีความขัดแย้งทางความคิดเรื่องประชาธิปไตยเหลืองแดง ทำให้ประเทศมีความแตกแยก ขณะที่สหรัฐฯ ตอนนี้มีความแตกแยกระหว่างคนขวาจัด ขบวนการสิทธิมนุษยชน และคนทำงานสิทธิสตรีด้วย ตั้งแต่ทรัมป์ขึ้นมาบริหารประเทศ
"ความน่ากลัวคนที่โหวตให้ทรัมป์ชนะ คือผู้ชาย ผิวขาว กลางคน เป็นคนรุ่นเก่า อนุรักษ์นิยม ขนาดที่ออกมาต่อต้านภาพยนตร์ Wonder Woman The Last Jedi หนังทำไมปล่อยให้ผู้หญิงเป็นผู้นำ นี่ขนาดหนังยังเอาเรื่องเลย"
ส่วนกระแสคนหลากหลายทางเพศ เธอวิเคราะห์ต่อว่า ก็ถูกกดทับ ด้วยกระแสผู้หญิง รวมกับคนผิวสี กลายเป็นทางรวมของคนที่สนับสนุนเรื่องสิทธิคนสีผิว สิทธิคนกลุ่มน้อย สิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ เรื่องสุขภาพ กลายเป็นบรรจบเข้ากัน เลยกลายเป็นว่า Feminism เราต้องมาค้นแล้วจะเป็นกระแสกับสิ่งเหล่านี้่หรือไม่
มีอีกเรื่องที่ทรัมป์ไปต่อต้านกระแสโลกด้วย อย่างเช่น จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา ประกาศ "I am a feminist" แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้หญิงครึ่งผู้ชายครึ่ง หรืออย่างรายการ TED Talks รายการยอดนิยม ก็มีเวทีพูดถึงประเด็น Feminism มากมาย
ในฐานะทำงานขับเคลื่อนเรื่องผู้หญิง "เรืองรวี" บอกว่า การให้คำนิยาม Feminism ก็ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ซึ่งก็คือขบวนการต่อสู้เพื่อความเสมอภาคระหว่างเพศหญิงชายเป็นหลัก เพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำการกดขี่ การเอาเปรียบเพศซึ่งผู้ชายจะทำกับผู้หญิงอันเนื่องมาจากภาพอคติ การเหมารวม และระบบคิดที่คิดว่าชายเป็นใหญ่ ทั้งเรื่องสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย สิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง (การแปลงเพศ) และเรื่องของใช้สิทธิเสรีภาพในฐานะพลเมืองที่เท่าเทียมกัน
"สังคมไทยยังมีความเข้าใจที่ค่อนข้างติดลบกับคำว่า Feminism" ผอ.สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา ให้มุมมอง และบอกว่า ใครจะใช้คำว่าสตรีนิยม แต่เธอชอบคำว่า นักสิทธิสตรีมากกว่า เพราะการพูดว่าสตรีนิยมเหมือนนิยมแต่เพศหญิง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเจเนอเรชั่น (generation) ด้วย เรื่องของคนเจเนอเรชั่น เก่าที่อยู่ในระบบดั่งเดิมที่มีอำนาจ เช่น สถาบันสงฆ์ ที่แข็งตัวที่สุดในการทำความเข้าในเรื่องนี้ ถัดไปคือคนในระบบราชการ ในสภาฯ รวมถึงสื่อมวลชน ละคร บันเทิงที่ทำให้เรื่องสิทธิสตรีไม่ก้าวหน้าเท่าไหร่
พร้อมกันนี้ เธอยังเห็นว่า สังคมมองการขับเคลื่อนเรื่องสิทธิสตรี จากแต่ก่อนมีการสบประมาท "อ่อ อยากต่อสู้เรื่องสิทธิสตรี ก็ไปฉี่ให้ลงขวดซิ ไปขึ้นต้นเสาไฟฟ้าซิ ซึ่งเป็นการท้าทายที่ผิด เพราะความไม่เข้าใจคำว่า เพศ (gender)"
ปัจจุบัน "เรืองรวี" ยืนยันว่า ความคิดแบบนั้นได้เปลี่ยนไปเยอะแล้วในสังคมไทย ตอนนี้ไม่ค่อยได้เจอคำท้าทายพวกนั้น แต่ก็ยังมีคำไม่เหมาะสม น่ารำคาญอยู่ มองนักสิทธิสตรีไม่ค่อยลดลาวาศอก เถียงเอาแต่เรื่องผู้หญิงไม่มองเรื่องอื่น ซึ่งยังมีอยู่บ้างโดยเฉพาะในสังคมที่วัฒนธรรมแข็งตัว โดยเฉพาะ 3 จังหวัดภาคใต้
เมื่อถามว่า สิทธิสตรี บ้านเราก้าวหน้าไปถึงไหนกันแล้ว ?
ผอ.สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา ย้ำว่า ประเทศไทยมีจุดเปลี่ยนมากๆ ตั้งแต่เรามีการพูดถึงชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน ในรัฐธรรมนูญ 2517 ทำให้ครั้งแรกผู้หญิงได้เป็นผู้พิพากษา ต่อมาเป็นผู้ว่าฯ กำนัน ซึ่งทำให้สัดส่วนจำนวนผู้หญิงอยู่ในอำนาจบริหารตัดสินใจระดับประเทศน้อยมาก เพราะมาทีหลัง
"เราดีใจมีคำบัญญัติที่เป็นหลักการไว้ ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน เรายังเป็นภาคีกติการะหว่างประเทศที่สำคัญๆ เช่น อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ บ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women - CEDAW) ล่าสุด UN Sustainable Development Goals 17 เป้าหมายมีที่ 5 พูดเรื่อง gender equality วันนี้หลังอิงเรามี เราเหลือแต่เรื่องทัศนคติและแปลงไปสู่ปฏิบัติ"
ส่วนการขับเคลื่อนเรื่องสิทธิสตรีสามารถแก้ไขกฎหมายที่เหลื่อมล้ำ ให้เกิดความเท่าเทียมกันระหว่างหญิงชายได้แล้ว "เรืองรวี" ยกตัวอย่าง เริ่มตั้งแต่กฎหมายหย่า กฎหมายข่มขืน เรื่องนามสกุล คำนำหน้านาม และกฎหมาย ว่าด้วยการคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งแม้จะมีกฎหมายนี้แต่ไทยก็ยังติดอันดับต้นของโลกที่มีความรุนแรงเกิดขึ้นในครอบครัว
"ฉะนั้น ทัศนคติ อำนาจนิยมที่ว่า ชายเป็นใหญ่ยังครอบงำสังคมอยู่เยอะมาก และมีการส่งต่อทางวัฒนธรรม ไม่หมดไปง่ายๆ มีต้นแบบ ซึ่งวันนี้หากสังเกตุในสภาฯจะไม่มีใครใช้คำเหยียดผู้หญิง มีความระมัดระวังในการจะเหยียดผู้หญิง ถือว่าดีขึ้นจากแต่ก่อนมาก แม้แต่แวดวงทหารที่ทำรัฐประหารขึ้นมาก็ระมัดระวังใช้คำกับผู้หญิงมาก"
ทั้งนี้ เธอยังทิ้งท้ายให้เห็นถึงข้อจำกัดการขับเคลื่อนสิทธิสตรีในประเทศด้วยว่า การเคลื่อนไหวต้องเป็นแนวเดียว เป็นคู่รางกับพื้นที่ทางประชาธิปไตย แม้ว่า ช่วงประชาธิปไตยเราจะไม่ได้กฎหมายเกี่ยวกับสิทธิสตรีมากเท่าไหร่ แปลกกฎหมายส่วนใหญ่แก้ไขได้ช่วงรัฐประหาร แต่แง่การแสดงออกสามารถแสดงออกได้เยอะกว่าช่วงประเทศมีประชาธิปไตย