เลขาฯสมช.แง้มสูตร "ปกครองพิเศษ" เล็งลดพื้นที่ พ.ร.ก.-ใช้กำลังพลประจำถิ่น
พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เปิดใจให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา กรอบนโยบายใหม่ และการใช้กฎหมายพิเศษเพื่อหยุดยั้งความรุนแรง
"นโยบายการเมืองนำการทหารเป็นเรื่องที่พูดกันมานาน เพราะเราจะมุ่งการบังคับใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องผสมผสานกับงานทางการเมือง เนื่องจากหากใช้กำลังทหารอย่างเดียวจะทำให้กำลังพลเหนื่อยล้า ต้องใช้งานการเมืองเข้าไปช่วย ประเด็นนี้พูดชัดในกรอบนโยบายของ สมช. มีกระบวนการนำไปสู่สันติภาพ เปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยกัน และกระจายอำนาจให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรมของคนในท้องถิ่น" พล.ต.อ.วิเชียร เล่าถึงกรอบนโยบายในภาพกว้าง
เขาอธิบายต่อว่า นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557 ซึ่งเพิ่งผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ในกระบวนการจัดทำนโยบายนั้น มีการรับฟังความเห็นและประชาพิจารณ์ทั้งในและต่างประเทศ จึงเป็นนโยบายที่ครอบคลุมและได้รับการยอมรับอย่างสูง
"ช่วงที่ท่านนายกรัฐมนตรีเดินทางเยือนมาเลเซีย ท่านนายกฯมาเลย์ก็พูดชัดเจนว่าสนับสนุนแนวทางของรัฐบาลชุดนี้ นั่นคือ peaceful solution และนโยบายฉบับนี้ก็สอดรับกับแนวทางที่ว่านั้น คือแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยสันติวิธี ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องไม่มีการแบ่งแยกดินแดน เป็นกระบวนการภายใต้รัฐธรรมนูญไทย ไม่ใช้ความรุนแรง มุ่งพัฒนาความเป็นอยู่ และเจ้าหน้าที่รัฐต้องไม่สร้างเงื่อนไขเพิ่ม ถ้ามีต้องรีบแก้ไข" เลขาธิการ สมช. ระบุ
ประเด็นหนึ่งที่พูดกันมาข้ามปี คือการกระจายอำนาจเพื่อตั้ง "เขตปกครองพิเศษ" ขึ้นในพื้นที่ ประเด็นนี้ พล.ต.อ.วิเชียร บอกว่าเห็นด้วยในหลักการ แต่ในรายละเอียดต้องคุยกัน
"ประเด็นปกครองพิเศษมีอยู่แล้วในนโยบายด้านการกระจายอำนาจ ซึ่งปัจจุบันก็กระจายอำนาจอยู่แล้ว เรามี อบจ. (องค์การบริหารส่วนจังหวัด) อบต. (องค์การบริหารส่วนตำบล) และเทศบาล อาจมี 'เขตพิเศษ' ได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ สมมติเป็นเขตพิเศษด้านการท่องเที่ยว ก็ต้องดูให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต ศาสนา วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ ชาติพันธุ์ ซึ่งเราก็กำลังดำเนินการอยู่ในหลายๆ เรื่อง เช่น วันหยุดทางศาสนา ส่วนเรื่องภาษาก็ให้โรงเรียนเน้นใช้ 2 ภาษา คือมลายูกลางและไทย แต่การรวมสามจังหวัดเข้าเป็นเขตเดียว ต้องดูว่าสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญหรือไม่"
ท่าทีของ พล.ต.อ.วิเชียร สอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการอีกบางชุดที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาเพื่อพิจารณาเรื่องกฎหมายและหลักนิติธรรม เช่น คณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ หรือ คอ.นธ.ที่มี นายอุกฤษ มงคลนาวิน เป็นประธาน กล่าวคือไม่ปฏิเสธการกระจายอำนาจเป็น "เขตพิเศษ" แต่ต้องไม่รวมสามจังหวัดเป็นเขตเดียว เพราะนั่นเท่ากับเป็นการรวมอำนาจ ไม่ใช่กระจาย และสุ่มเสี่ยงต่อการตีความว่าเป็น "รัฐซ้อนรัฐ" ฉะนั้นแนวทางที่เห็นตรงกันบ้างแล้วคือ การตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษรายจังหวัด
"ต้องยอมรับว่าตอนนี้อำนาจส่วนกลางกับท้องถิ่นไม่สมดุล ความเป็นไปได้คือทำ 3 เมืองหรือ 3 นคร มี พ.ร.บ.เมืองยะลา เมืองปัตตานี เมืองนราธิวาส เพราะต้องเข้าใจว่าไทยเราเป็นรัฐเดี่ยว" เลขาธิการ สมช. ระบุ
อีกเรื่องหนึ่งที่วิจารณ์กันมาตลอด คือการใช้กฎหมายพิเศษ โดยเฉพาะพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ซึ่งมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในท้องที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยกเว้น อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี มาอย่างต่อเนื่องนานเกือบ 7 ปีแล้ว ท่ามกลางข้อร้องเรียนเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน
"หลักก็คือเรื่องการบังคับใช้กฎหมายต้องให้ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ ต้องดูว่ากฎหมายเป็นสากลหรือไม่ ตอนนี้ที่ใช้อยู่ในพื้นที่สามจังหวัด คือกฎอัยการศึก กับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็ต้องไปดูว่าสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญหรือเปล่า สำหรับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯนั้น เป็นกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหาร ใช้มาตั้งแต่ปี 2548 ต่ออายุมาแล้ว 27 ครั้ง มีการต่อต้านอย่างเป็นระบบ ทุกครั้งที่ต่ออายุก็ให้มีการประเมิน"
"ผมคิดว่าเรื่องการคุมตัว 30 วันโดยไม่มีข้อหา ถูกมองจากประชาชนในพื้นที่และผู้นำศาสนาว่าเป็นปัญหา ตอนผมเป็น ผบ.ตร. (ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ) ก็ได้ไปรับฟัง อยู่ๆ จับไปขัง 1 เดือน ลูกกำลังจะแต่งงานก็ไม่ได้แต่ง ทั้งๆ ที่ไม่มีข้อหา"
พล.ต.อ.วิเชียร ยังให้ข้อมูลว่า กระบวนการตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมายพิเศษอาจมีปัญหา เพราะตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ กบฉ. แต่เท่าที่ตรวจสอบย้อนหลังพบว่ามีการประชุมแค่ครั้งเดียวตั้งแต่ปี 2548 และเพิ่งประชุมเพิ่มอีก 2 ครั้งตอนที่เขาดำรงตำแหน่งเลขาฯสมช.
"หลังจากนี้จะพิจารณาเรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างจริงจัง หากยกเลิกได้ก็ต้องยกเลิก อาจจะยกเลิกเป็นบางพื้นที่ เพราะหากมีจุดอ่อนก็จะทำให้ฝ่ายตรงข้ามหยิบยกไปเป็นประเด็นโจมตี แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นก็ต้องฟังความเห็นจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงด้วย"
ส่วนเรื่องการถอนทหาร ตามที่มีหลายฝ่ายเรียกร้อง เลขาธิการ สมช. มองว่า เรื่องนี้เป็นยุทธศาสตร์ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ถือเป็นเรื่องทางยุทธวิธี
"การจะใช้กำลังจากที่ไหน ใช้เท่าไหร่ เป็นเรื่องยุทธวิธี เป็นความรับผิดชอบของ กอ.รมน.แต่แนวนโยบายคือยุทธวิธีต้องอยู่ภายใต้หลักนิติธรรมและกฎหมาย มีความชอบธรรมที่จะใช้กำลังเข้าไปดำเนินการใดๆ จริงๆ แล้วผมเห็นด้วยกับแนวคิดการใช้ทหารประจำถิ่น แต่อาจสวนทางกับ ผบ.ทบ. (ผู้บัญชาการทหารบก) ก็ได้ ซึ่งการใช้กำลังทหารนั้น ใช้ทหารจากภาคอื่นก็ได้ แต้ต้องเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" พล.ต.อ.วิเชียร ย้ำ
และนั่นก็ยังคงเป็น "คำสามคำ" ที่สำคัญที่สุดเพื่อดับไฟใต้ให้ได้อย่างยั่งยืน!
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพจากศูนย์ภาพเนชั่น
หมายเหตุ :
1 บางส่วนของบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 8 เม.ย.2555 ด้วย
2 ไพศาล เสาเกลียว เป็นผู้สื่อข่าวสายการเมือง หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ