ชาวบ้าน-นักวิชาการ วอนรัฐหยุดนโยบายแร่ เป็นของขวัญให้คนไทย
ชาวบ้าน-นักวิชาการ วอนรัฐหยุดเดินนโยบายแร่ ชี้กระบวนการขัดรัฐธรรมนูญ ประชาชนไม่มีส่วนร่วม เร่งจัดการปัญหามลพิษตกค้าง สร้างความเข้มแข็งด้วยแนวคิดเขตเศรษฐกิจพอเพียง สร้างความมั่นคงทางอาหาร
ช่วงหนึ่งในเวทีเสวนาเรื่อง “สมบัติชาติ เหมืองทองและพลังงาน” เมื่อวันที่29 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จัดโดย มูลนิธิศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกับองค์กรภาคี
นายทิวา แตงอ่อน เครือข่ายปกป้องผืนป่าตะวันออก กล่าวถึงของขวัญที่คนภาคตะวันออกและประชาชนคนไทยอยากได้มากที่สุด คือ ความมั่นคงของอาหาร เราไม่มีของราคาแพงได้ แต่เราต้องกิน ต้องดื่ม ดังนั้นจึงต้องรักษาดินน้ำป่า อันหมายถึงปัจจัยในการทำอาหาร หากรัฐบาลจะมอบของขวัญให้คนไทยเพื่อรักษาสิ่งเหล่านี้ ประเด็นที่ต้องเร่งทำคือการจัดการของเสีย การจัดการขยะ
"วันนี้เราหยุดอุตสาหกรรมไม่ได้ แต่ถ้ามีการจัดการของเสียที่ดีเราจะสามารถลดผลกระทบได้เยอะ ชุมชนผลิตขยะออกมา อุตสาหกรรมผลิตของเสียออกมา ถ้าเราสามารถจัดการได้ดี น้ำจะไม่ถูกทำลาย เราสามารถดื่มได้ สามารถใช้น้ำจากแม่น้ำลำคลองมาเพาะปลูกได้เหมือนเดิม"
นายทิวา กล่าวว่า เท่าที่มีการสำรวจพบว่ามีการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ราว100 แห่ง เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถมีบ่อฝังกลบที่ดี มีมาตรฐานถูกต้อง เราจะลดผลกระทบได้เยอะมาก
ประเด็นที่สองที่รัฐจะมอบของขวัญให้คนไทยคือให้หยุดนโยบายเหมืองแร่ทุกชนิด ทองคำเป็นสิ่งสมมติ ที่สมมติขึ้นมาว่าเป็นของมีค่า วันนี้เหมืองทองที่ขุดกันเราได้ค่าภาคหลวงเพียง 6.6% นอกจากนั้นให้นายทุนได้หมด แต่สิ่งที่คนไทยต้องเสียคือป่าไม้ ผืนดิน ภูเขา และสิ่งเหล่านี้เราสร้างใหม่ไม่ได้
“วันนี้ทองคำจริงๆ คือทองคำที่อยู่บนดินอันมาจากการเพาะปลูกจากดิน เช่นผลไม้ในภาคตะวันออกที่ส่งออกมาสุดในประเทศปีละหลายหมื่นล้าน คนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ ชาวบ้านแสนกว่าครอบครัวได้กำไรจากทองคำที่ว่านี้ ตรงนี้ต่างหากที่เราควรสนับสนุน ไม่ใช่ไปขุดทองใต้ดิน” นายทิวากล่าว
ด้าน น.ส.สมลักษณ์ หุตานุวัตร นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมกล่าวถึงการคัดค้านระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกหรือ EEC มีเหตุผล อ่าวไทยตอนบนวันนี้มีสารเคมีอยู่หนักมากแล้ว มาบตาพุดเราไม่มีบทพิสูจน์ว่าคนที่ตายด้วยมะเร็ง สาเหตุมาจากอะไรกันแน่ เพราะการสะสมสารพิษจากอาหารหรือเปล่า ยังไม่มีการวิจัยในส่วนนี้ ขณะเดียวกันมลพิษที่เกิดขึ้นในอ่าวไทยส่วนหนึ่งก็มาจากแหล่งขุดเจาะ
"บริษัทเชฟรอนรายงานในเว็บไซต์ทางการเดือนตุลาคม 2560 ว่ามีแท่นขุดเจาะทั้งหมด 316 แท่นในอ่าวไทย และผลผลิตทั้งหมดเกินครึ่งของประเทศ แท่นขุดเจาะเหล่านี้ใช้สารเคมีในการขุดเจาะเพื่อทำลายชั้นหินใต้ทะเล ทั่วโลกรณรงคืให้เลิกใช้ เพราะฉะนั้นภาระของสารพิษปนเปื้อนในน้ำ ภาระสารพิษบนบกที่มาจากเหมืองแร่ ทุกจุดไม่เคยแก้ได้เลย รัฐต้องทบทวนใหม่ทั้งหมดในการป้องกันการแพร่ระบาดของสารพิษในสิ่งแวดล้อม"
น.ส.สมลักษณ์กล่าวถึงกระแสข่าวแว่วมาว่า รัฐบาลชุดนี้กำลังจะใช้เงินในนโยบายประชานิยมจำนวน 4 แสนล้านบาท ก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งขอให้เป็นข่าวไม่จริง แต่ต้องเรียนให้หยุดความคิดนี้ทันทีหากคิดจะทำ อย่าลืมว่าตอนที่รัฐบาลนี้ขึ้นมาก็เพราะการประท้วงนโยบายประชานิยมแบบนี้ อีกเรื่องที่รัฐบาลควรมอบให้เป็นของขวัญคือเขตเศรษฐกิจพอเพียง วันนี้มีหลายชุมชนอยากทำ รัฐควรเปิดให้ชุมชนนั้นสามารถร้องขอให้เขตของชุมชนตัวเองเป็น "เขตเศรษฐกิจพอเพียง" และกำหนดมาเลยว่าในช่วงรัศมี 50 กิโลเมตรต้องไม่มีอุตสาหกรรมมารบกวน เพราะเขตเศรษฐกิจพอเพียงแบบคุณภาพสูง ทำเงินได้มากกว่าเถ้าแก่ที่สีลม
“เราควรมีกฎหมายที่มีศักดิ์เท่าเทียมกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ นิคมอุตสาหกรรม แล้วให้ประชาชนสู้ด้วยเครื่องมือเท่ากันกับทุน ไม่งั้นมีโรงงานมาทีต้องรบกันไม่จบ” น.ส.สมลักษณ์กล่าว และว่า ของขวัญอีกอย่างคือนโยบายแร่แห่งชาติต้องหยุดไว้ก่อน เพราะนโยบายนี้มาด้วยความผิดกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันนโยบายนี้อยู่ที่สภาพัฒน์ฯ และจะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในเร็วๆ นี้ ที่ผิดกฎหมายเพราะว่าในกฎหมายแร่ในรัฐธรรมนูญบอกให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายแร่ของชาติ แต่สำหรับนโยบายนี้กลับมีคนเพียงร้อยสองร้อยคนเท่านั้นที่มีส่วนร่วม คนอีกหกสิบล้านคนไม่รู้เรื่อง วันนี้พี่น้องสกลนคร ขอให้หยุดทำเหมืองโปแตซที่นั่น ต้องให้คนที่นั่นเป็นคนตัดสินใจในนโยบายของรัฐด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชาวบ้านพิจิตร จี้กรมอุตฯ เปิดผลวิจัยเหตุเหมืองทองรั่ว ชี้สาธารณะต้องรับรู้
รอเห็นชอบก่อน กพร. ยันไม่มีเจตนาปิดข้อมูลผลศึกษา การรั่วซึมบ่อกักเก็บกากแร่อัคราฯ
ม.บูรณะนิเวศ พบสารพิษรง.อุตฯ ตกค้าง ในตัวอย่างไข่ไก่ สมุทรสาครสูงอันดับ2ของโลก
มูลนิธิบูรณะนิเวศ แถลงพบปรอทตกค้างในเส้นผม 99% เกินมาตรฐานในพื้นที่ระยอง ปราจีนฯ