“คำ บุตรศรี”รักษาป่าจากเงื้อมมือนายทุนได้เป็นมรดกโลกชี้ความโลภทำให้คนทำลายธรรมชาติ
ปกป้องผืนป่ามากว่าค่อนชีวิต ถูกคดีตีตรวนเป็นผู้ต้องหานานหลายปี ป่าดงใหญ่ได้เป็นมรดกโลก ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวของปตท. วันนี้เส้นทาง“คำ บุตรศรี”เป็นอย่างไร หลวงพ่อประจักษ์อยู่ที่ไหน ติดตามจากรายงาน
เมื่อแม่น้ำลำธารแห้งเหือดหายทั้งป่าไม้บรรลัยไม่เหลือ และผืนดินอีสานมีแต่เกลือทั้งหาดทรายชายฝั่งยังทำลาย โอ้มนุษย์สุดแสนจะบัดซบ ล้างผลาญโลกาวอดวาย ด้วยเหตุผลเพราะคนโลภทำร้าย เกิดกินใช้กันแค่ชาติเดียว ให้เหตุการณ์นี้เป็นอุทาหรณ์ ได้สอนใจคนไทยจดจำ ว่าป่าไม้ดงใหญ่แห่งปะคำ มีเหตุการณ์ให้จำให้ใส่ใจ...
หลายท่านคงคุ้นหูกับบทเพลงหลวงพ่อประจักษ์ที่ยืนยง โอภากุล แต่งและขับร้องไว้เมื่อ 20 กว่าปีที่ผ่านมา ภายหลังสถานการณ์ปกป้องผืนป่าดงใหญ่ จากโครงการสวนป่ายูคาลิปตัสโดยองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ระหว่างชาวบ้านกับผู้รุกรานเข้มข้นรุนแรงและเป็นที่รับรู้สังคมภายนอกมากขึ้น มหากาพย์ชาวบ้านและบทบาทนักบวชผู้ทรงศีลที่ชื่อ “หลวงพ่อประจักษ์” ต่อการแสดงความจำนงไม่เห็นด้วยในโครงการของรัฐที่ส่อเจตนาจะทำให้ผืนป่าอุดมสมบูรณ์เสื่อมสภาพลงเชื่อว่ายังอยู่ในความทรงจำของใครหลายคน เพราะเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นข่าวคึกโครมทั้งในและต่างประเทศ
ภายใต้การข่มขู่ คุกคาม การขับไล่ บุคคลที่ขุนพลเพลงเพื่อชีวิตแอ๊ด คาราบาวกล่าวถึงหอบห่มจีวรเทียวขึ้นโรงขึ้นศาลไม่น้อยกว่า 60 ครั้ง ถูกสารพัดวิธีกดดัน ทั้งคุมขังจองจำ คุกคามด้วยกำลังทุกรูปแบบ จำต้องลาสิกขาบทออกมาสู้คดี แต่กระนั้นตลอดช่วงระยะเวลาในเพศบรรพชิต ก็เป็นที่พึ่งชาวบ้านทรัพย์เจริญ ต.โคกมะม่วง อ.ปะคำ จ.บุรีรัมย์และพื้นที่ใกล้เคียง เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ เป็นอาจารย์ของศิษย์ก้นกุฏิอย่าง “ลุงคำ บุตรศรี” ผู้เปิดตำนานรักษาป่าดงใหญ่ นำคำสอนศาสนาเป็นเข็มทิศ ห่มผืนป่าด้วยธรรม นำความรักในธรรมชาติส่องทาง กระทั่งต้องโทษถูกจองจำเป็นอภินันทนาการจากรัฐในสมัยนั้นไม่ต่างกัน
“ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา” พาย้อนเวลาไปรู้จักเรื่องราวพระนักอนุรักษ์และนักสู้แห่งป่าดงใหญ่ ผ่านคำบอกเล่าของลุงคำในวัย 63 ปีที่ภายหลังกลับสู่อ้อมกอดผืนป่าอีกครั้งเขาได้รับยกย่องเป็นนักอนุรักษ์ดีเด่นของปตท.ประจำปี 2554 ประคองถ้วยรางวัลลูกโลกสีเขียว กลับมาตุภูมิอย่างภาคภูมิใจ
ก่อนมาถึงวันนี้ เกิดอะไรขึ้นกับป่าดงใหญ่
ลุงคำ บุตรศรี นิ่งคิดก่อนจะเล่าให้ฟัง ป่าดงใหญ่เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ผืนป่าอุดมสมบูรณ์ ครอบคลุมพื้นที่ในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ นครราชสีมา และสระแก้ว มีพื้นที่จรดชายแดนประเทศกัมพูชา เป็นป่าต้นน้ำของลำนางรองและลำปลายมาศ สาขาแม่น้ำมูล โดยเฉพาะบริเวณป่าเขาหัวน้ำผุด ซึ่งอยู่ในเขตติดต่อระหว่างบุรีรัมย์และนครราชสีมา มีเนื้อที่ประมาณ2,500 ไร่ เป็นแหล่งกำเนิดลำห้วย 6 สาย ไหลรวมลงลำนางรอง แหล่งน้ำสำคัญในอำเภอปะคำ จังหวัดบุรีรัมย์ เปรียบเสมือนเส้นเลือดหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนทั้งในแถบถิ่นใกล้เคียงและประชากรทั้งประเทศ เมื่อปีพ.ศ.2509 รัฐเปิดให้บริษัทเอกชนสัมปทานไม้ เกิดการลักลอบตัดไม้อย่างรุนแรงทำให้ป่าเสื่อมโทรม ชาวบ้านได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ต่อมาปีพ.ศ.2520 ภายหลังสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองคลี่คลาย ชาวบ้านบางส่วนกลับคืนสู่เมืองเข้าร่วมเป็นผู้พัฒนาชาติไทย รัฐจัดสรรที่ดินทำกินครอบครัวละ 16ไร่ กำหนดพื้นที่ตั้งหมู่บ้านๆ ละ 120 ไร่ แต่บางหมู่บ้านไม่ได้รับการจัดสรร เนื่องจากจำนวนครัวเรือนมีมากกว่า 100 ครัวเรือน การแสวงหาพื้นที่เพื่อการดำรงชีวิตขยายมากขึ้นพร้อมๆกับในห้วงเวลาห่างกันเพียง10 กว่าปีโครงการอีสานเขียวภายใต้แผนพัฒนาที่มุ่งส่งเสริมการเกษตรผลิตพืชเชิงเดี่ยวป้อนโรงงานอุตสาหกรรมเริ่มกระชับพื้นที่ภาคอีสาน หนึ่งในนั้นคือสวนป่ายูคาลิปตัสหรือที่ชาวบ้านรู้จักกันดีในชื่อต้นไม้มัจจุราช เริ่มแผ่ขยายเข้ามาผ่านบริษัทนายทุน
จุดเริ่มต้นการต่อสู้หลังยูคาลิปตัสรุกที่ทำกินและผืนป่า
ประมาณปีพ.ศ. 2532 รัฐบาลเปิดให้ออป.เข้าไปสัมปทานปลูกยูคาลิปตัส โดยอ้างว่าเพื่อเป็นกันชนป้องกันการขยายที่ทำกินของชาวบ้านเข้าไปในพื้นที่ป่า โดยให้บริษัทเอกชนเช่าพื้นที่ดำเนินการ มีการขยายพื้นที่ออกไปอย่างกว้างขวาง จนทับพื้นที่ทำกินชาวบ้านทั้งที่ได้รับการจัดสรรและอยู่ระหว่างรอจัดสรรจากภาครัฐ มีการใช้กลไกอำนาจในพื้นที่ลักลอบตัดโค่นป่าอุดมสมบูรณ์ รุกป่าสาธารณะที่เป็นแหล่งอาหารของชาวบ้านให้กลายสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรม เพื่อใช้เป็นข้ออ้างขยายอาณาเขตนำยูคาลิปตัสเข้าไปปลูก
“รัฐโหมโฆษณาข้อดีการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ออป.ผลักดันชาวบ้านออกจากที่ทำกิน หนุนเสริมชาวบ้านบางส่วนเข้าไปปลูกยูคา โดยให้โค่นตัดป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ทิ้ง เพื่อทำให้เป็นป่าเสื่อมโทรม บอกให้ชาวบ้านทำไร่ ขยายไปเรื่อยๆเหมือนกับไร่เลื่อนลอยจากนั้นก็จะปลูกยูคาตามไป ชาวบ้านเห็นว่านโยบายขัดแย้งวิถีดั้งเดิมอีกทั้งยังทำลายแหล่งอาหารของท้องถิ่นก็เลยตั้งกลุ่มอนุรักษ์ขึ้นมาร่วมกันคัดค้าน”
“หันหลังให้ป่า หันหน้าสู้ยูคา”
“จุดเริ่มต้นมีเพียงไม่กี่คน เพราะอิทธิพลรุนแรงมาก มีการใช้กำลังทหาร ตำรวจและคนพื้นที่อื่นเข้ามากดดัน ใครออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านถูกข่มขู่คุกคาม บ้านไม่เป็นบ้าน เมืองไม่ใช่เมืองหลายคนหวาดกลัวไม่กล้าเข้าร่วม แต่ก็มีคนเห็นตรงกันว่าต้องสู้ไม่ใช่นั้นเราจะไม่เหลืออะไรไว้ให้ลูกหลาน”
ลุงคำ ย้อนอดีตเมื่อวันวานให้ฟังก่อนจะขยายความถึงแนวทางที่นำมาใช้ในการต่อสู้ “แนวคิดหันหลังให้ป่า หันหน้าให้ยูคาเป็นแนวคิดที่ถูกนำมาใช้ในการเรียกร้องปกป้องสิทธิของชุมชนในเรื่องที่ดินทำกิน และปกป้องป่า คนมีชีวิตอยู่ได้ สัตว์ป่ามีชีวิตอยู่ได้ หากแผ่นดินอุดมสมบูรณ์ ดังนั้นจะต้องปกป้องป่าเพื่อความอยู่รอดของทุกชีวิต ทรัพยากรธรรมชาติเป็นของทุกคน มิใช่ของใครคนเดียว”
แกนนำป่าดงใหญ่ ขยายความว่า หันหลังให้ป่า หมายถึง ประสบการณ์ในช่วงความขัดแย้งอุดมการณ์ทางการเมือง ระหว่างรัฐกับผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยเมื่อมีโอกาสกลับเข้าเมืองก็ทำให้ต้องอุทิศชีวิตในการพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญ ส่วนหันหน้าให้ยูคา คือการปกป้องป่าไว้เป็นสมบัติของทุกคน”
“หลวงพ่อประจักษ์”ที่พึ่งชาวบ้านใช้วิถีธรรมรักษาป่า
หลังจากออกมาเคลื่อนไหวโดยนำปัญหาเข้าร่วมกับกลุ่มชาวบ้านในภาคอีสานที่มีปัญหาเหมือนกัน ในปีเดียวกันนั้นหลวงพ่อประจักษ์ ทีธัมมปทีโปก็ธุดงค์ผ่านมา
“เหมือนพระมาโปรด ชาวบ้านได้กำลังใจขึ้นมาก เราไม่ต้องต่อสู้โดดเดี่ยว นายทุนคงไม่กล้าทำอะไรพระสงค์องค์เจ้า”
ลุงคำบอกและเล่าว่า หลวงพ่อประจักษ์รับคำนิมนต์ชาวบ้าน ใช้เขาหัวผุดเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม ชาวบ้านช่วยกันสร้างที่พำนักให้กับท่าน เพื่ออาศัยพึ่งพาร่มธรรมเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจจากคนไม่กี่คนก็แผ่ขยายออกไปทั้ง 3 ตำบลในอำเภอปะคำ จัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติขึ้นมาเป็นรูปเป็นร่าง หลวงพ่อประจักษ์นำชาวบ้านบวชป่า ใช้จีวรผูกมัดกับต้นไม้ใช้ด้ายสายสิญจน์ขึงล้อมป่าเอาไว้ ขอเป็นเขตอภัยทานห้ามบุกรุก แต่นายทุนก็ไม่ยอมถอย
“ หลวงพ่อสอนให้ชาวบ้านเข้าใจในวิถีคนกับป่า พึ่งพาซึ่งกันและกัน แต่สิ่งที่ได้รับคือการคุกคามรุนแรงขึ้น เขามองว่าหลวงพ่อเป็นตัวขัดขวางโครงการถึงขนาดมีการใช้อาวุธสงครามยิงใส่ที่พำนักสงฆ์ ชาวบ้านต้องช่วยกันสร้างบังเกอร์ป้องกัน บ้านเมืองยุคนั้นเรียกได้ว่าแทบจะลุกเป็นไฟเพราะความโลภของคน”
ชี้รัฐใช้อำนาจไม่เป็นธรรม “แจ้งข้อหา-จับขังคุก”
“เพียง 3 ปี หลังการเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการสวนป่าฯ เมื่อกดดันให้เลิกสถานปฏิบัติธรรมไม่ได้ผล มีการใช้กฎหมายบุกรุกป่าและอีกหลายข้อกล่าวหากดดันหลวงพ่อประจักษ์แต่ก็ยังไม่ได้ผล กระทั่งจับท่านดำเนินคดี หลวงพ่อต้องเทียวขึ้นโรงขึ้นศาลนับร้อยครั้ง จนท่านต้องสึกออกไปเมื่อประมาณปี 2534”
“หลังจากหลวงพ่อลาสิกขาบทออกไป ชาวบ้านยังเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ข่าวคราวท่านหายไปหลายปี สุดท้ายท่านก็บวชกลับเข้ามาดำรงตนในเพศบรรพชิตอีกครั้ง ปัจจุบันจำพรรษาอยู่วัดวัดเชษฐพลภูลังกา จ.หนองคาย ต่อจากนั้นผมก็ถูกจับ”
มาถึงตรงนี้ ลุงคำหยุดคิดเหมือนจะทบทวนถึงรอยเท้าบนเส้นทางที่ก้าวผ่านมาก่อนจะบอกว่า ภายหลังหลวงพ่อประจักษ์สึก การต่อสู้ยังคงรุนแรง นายทุนพยายามยึดพื้นที่ทำกินชาวบ้านรัฐบาลเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ถามหาความเป็นธรรมยากกว่างมเข็มในมหาสมุทรเพราะบ้านเมืองยังไม่เป็นประชาธิปไตย ในฐานะแกนนำจึงถูกจับดำเนินคดี โดนไปหลายข้อกล่าวหาทั้งทำลายทรัพย์สิน ขัดขืนการปฏิบัติหน้าที่ ก่อความไม่สงบ ชุมนุมเกิน 5 คน วางเพลิงฯลฯ ศาลพิพากษาตัดสินจำคุก 4 ปี 6 เดือน ถูกจองจำ ได้รับอภัยโทษเมื่อปีพ.ศ.2542
“คุกขังความดีไม่ได้” วันนี้มีแต่คำว่าให้อภัย
“ชีวิตในเรือนจำมีความลำบากมาก อีกอย่างเราไม่เคยคิดว่าจะเจอแบบนี้ เราสู้ก็เพื่อทำสิ่งดีๆไว้ให้ลูกหลาน พอเข้าไปอยู่ตอนแรกก็อึดอัด จิตใจร้อนรุ่ม ถ้าทำใจไม่ได้ก็แย่เหมือนกันช่วงแรกๆก็รู้สึกโกรธว่าทำไมทำกับเราถึงขนาดนี้ แต่หลังจากนั้นเราก็ใช้ธรรมะเข้าข่ม รู้สึกปล่อยวางมากขึ้น ไม่ถือโทษโกรธแค้น อายุก็มากแล้วอยากให้อภัยมากกว่าที่อยากจะลงโทษหรือตอบโต้อะไร วันเวลาก็ผ่านมานานแล้ว นโยบายรัฐก็เปลี่ยน โครงการสวนป่าก็ยุติลงแล้ว ท้ายที่สุดเขาคงจะรู้ว่าที่ชาวบ้านทำไม่ได้ทำเพื่อเอาชนะแต่ทำเพื่อรักษาผืนป่า ความรู้สึกกลัวมันหมดไปแล้ว คุกขังความดีไม่ได้หรอก”
มรดกโลกคือสิ่งที่ได้จากการรักษาป่าของชาวปะคำ
รัฐบาลประกาศเลิกโครงการสัมปทานปลูกป่ายูคาลิปตัสในปี พ.ศ.2546 ต่อมาป่าดงใหญ่ได้รับการประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เมื่อวันที่ 14 ก.ค.48 คณะกรรมการมรดกโลก องค์การยูเนสโก ประกาศให้ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ซึ่งมีเนื้อที่กว่า 3,845,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จังหวัดนครนายกสระบุรี และ นครราชสีมา อุทยานแห่งชาติปางสีดา สระแก้วและปราจีนบุรี อุทยานแห่งชาติตาพระยา สระแก้ว และปราจีนบุรีให้เป็นพื้นที่มรดกโลก อันมีอาณาเขตผืนป่าดงใหญ่ อ.ปะคำ จ.บุรีรัมย์รวมอยู่ด้วย
“ภูมิใจที่ได้ป่ากลับคืนมา ชาวบ้านมีแหล่งอาหาร มีสมุนไพร มีพืชผักให้เก็บกิน และดีใจที่มีเครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ทั่วประเทศคอยช่วยเหลือเชื่อมโยงกัน ก่อเกิดกระแสอนุรักษ์ไปในวงกว้าง คนในเมืองก็เข้าใจความจำเป็นที่จะต้องมีป่าที่อุดมสมบูรณ์มากขึ้น”
ทิศทางที่อยากเห็นในการอนุรักษ์ป่ากับรางวัลลูกโลกสีเขียว
“ไม่คิดเหมือนกันว่าจะได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ได้มาแล้วก็ดีใจ การรักษาป่าหยุดไม่ได้หรอก ต้องทำไปจนวันตายนู้นแหละ”
ลุงคำ บุตรศรี บอกด้วยสำเนียงซื่อๆตรงไปตรงมา รางวัลที่ได้รับเป็นเครื่องเตือนใจให้ทำดี ที่ผ่านมาบางครั้งก็เหนื่อย บางครั้งก็ท้อแต่ก็ระลึกถึงครูบาอาจารย์คำสั่งสอนของหลวงพ่อประจักษ์ วันนี้อยากเห็นความมีศีลธรรมในสังคม ถ้ามนุษย์มีศีลธรรม รู้จักแบ่งปันไม่เห็นแก่ตัวป่าก็คงไม่ถูกทำลาย คนทำลายป่าเพราะความโลภ ป่าเหลือน้อยเต็มที ถ้าไม่ดูแลไว้ก็คงจะหายไปจากโลกนี้ในอีกไม่นาน
“ชีวิตต่อจากนี้ก็ทำไร่ทำนาไปตามประสา อยู่บ้านเลี้ยงลูกเลี้ยงหลานและก็ดูแลรักษาป่า เก็บหาสมุนไพรมาทำเป็นยารักษาโรคช่วยเหลือคน รวมทั้งคอยให้แนะนำคนรุ่นหลังให้รู้จักผิดชอบชั่วดีสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในป่า พร้อมทั้งจะเร่งบูรณะพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ประดิษฐานในสถานปฏิบัติธรรมของหลวงพ่อประจักษ์ให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ถึงแม้จะไม่มีพระมาจำวัดอยู่ที่นี่อีกแล้ว แต่ก็อยากให้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คนต่อไปคนรุ่นหลังจะได้รู้ว่าก่อนจะมีป่าดงใหญ่มรดกโลกในวันนี้ เราได้ผ่านอะไรมาบ้าง”
นั่นคือถ้อยคำบอกกล่าวจากแกนนำชาวบ้านที่ร่วมอนุรักษ์ผืนป่าให้คงอยู่คู่แผ่นดินที่ราบสูงและรักษาไว้เป็นทรัพย์สินของคนทั้งโลก ปัจจุบันเชื่อว่ายังมีหลายพื้นที่ที่มีชะตากรรมเช่นนี้กับรูปแบบและวิธีการที่เปลี่ยนไป แต่บริบทการคุกคามอาจไม่ต่างจากปะคำมื่อยี่สิบปีที่ผ่านมา ตราบใดที่อำนาจรัฐยังคงรวมศูนย์ไม่คืนอำนาจการจัดการทรัพยากรให้ประชาชน.
....................................................
ล้อมกรอบ
หลวงพ่อประจักษ์ในชื่อฆราวาส ประจักษ์ เพชรสิงห์ เป็นคนเมืองสระบุรี บวชเมื่ออายุ 39 ปี จำพรรษาอยู่ที่ถ้ำพระโพธิสัตว์ อำเภอแก่งคอย เริ่มฝึกกรรมฐานกับหลวงพ่อคำตัน จากนั้นได้ออกธุดงค์ไปตามป่าเขาทั่วประเทศ กระทั่งในปีพ.ศ. 2532 ได้ธุดงค์ผ่านป่าดงใหญ่ พบสถานที่เหมาะกับการปฏิบัติธรรม นั่นคือเขาหัวผุด พื้นที่แห่งนี้มีสัตว์ป่าอุดมสมบูรณ์มาก ชาวบ้านมอบป่าเขาหัวผุดให้ช่วยดูแล ในเวลานั้นทหารเข้ามาบังคับให้ชาวบ้านและหลวงพ่อประจักษ์ออกจากพื้นที่ โดยอ้างว่าป่าแห่งนี้เป็นป่าเสื่อมโทรม สุดท้ายทางการแจ้งข้อหาบุกรุกป่าสงวน และในวันที่ 7 เม.ย.34 หลวงพ่อประจักษ์ถูกจับและส่งเข้าเรือนจำเพื่อหวังกดดันให้สึก เมื่อออกจากคุก พยายามยืนหยัดรักษาป่าต่อ แต่ก็ยังถูกฟ้องข้อหาบุกรุกป่าอีก ในที่สุดถูกกดดันให้ต้องหนีออกจากพื้นที่ ลาสิกขาบทที่บ้านเกิด ปัจจุบันพ้นมลทินหมดแล้วทุกคดี.
.
...................................................................
ล้อมกรอบ
นายคำ บุตรศรี อายุ 63 ปี อยู่บ้านเลขที่ 49 บ้านทรัพย์เจริญ ต.โคกมะม่วง อ.ปะคำ จ.บุรีรัมย์ เริ่มทำงานอนุรักษ์ ปี พ.ศ.2532-ปัจจุบัน โดยใช้กระบวนการเป็นแกนนำเคลื่อนไหวร่วมกับชุมชนใน 3 ตำบล คือตำบลหูทำนบ หนองบัว และโคกมะม่วง อ.ปะคำ จ.บุรีรัมย์ และพระประจักษ์ ทีธัมมปทีโป เพื่อปกป้องสิทธิที่ทำกินและการรักษาป่าดงใหญ่ ถูกจับหลายข้อหา ภายหลังร่วมทำงานกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ และทหารกองทัพภาคที่ 2 ออกลาดตระเวนป่าและทำแนวป่า กระทั่งพื้นที่ป่าดงใหญ่ได้รับการประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่และเป็นพื้นที่มรดกโลก.