สัตวแพทย์วอนคนไทยเลิกความคิดเอาสัตว์มาปล่อยในอุทยาน ให้อาหาร-ขับเร็ว
สัตวแพทย์อุทยานเขาใหญ่ เผยปัจจัยเสี่ยงทำสัตว์ป่าเกิดอุบัติไม่ใช่แค่ขับเร็ว แต่เป็นเรื่องเสียง บวกค่านิยมอยากใกล้ชิดธรรมชาติ นิสัยทำบุญ แต่ผิดเพี้ยน เอาสัตว์เลี้ยงมาปล่อย นำเชื้อโรคมาระบาด
เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 60 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดเสวนา ภัยคุกคามสัตว์ป่ายุค 4.0
นายภัทรพล มณีอ่อน สัตวแพทย์ชำนาญการประจำอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กล่าวถึงพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวในยุคดิจิทัลว่า วันนี้เรามักนิยมโพสต์ภาพตามสื่อโซเชียลมีเดียและนั่นลามมาถึงการโพสต์ในเชิงที่ว่าใกล้ชิดกับสัตว์ เช่นโพสต์จอดให้อาหารลิง ให้อาหารกวาง เป็นต้น เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ทำร้ายสัตว์ทั้งทางตรงและทางอ้อม อย่างกรณีลิงโดนรถชน ในหลายๆ ครั้งพบว่ามีการให้อาหารตามข้างทาง ลิงก็เข้าใจว่าต่อไปถ้าอยากได้อาหารต้องออกมาบนถนน หลายครั้งจึงโดนรถชนตาย
“วันนี้โอกาสของมนุษย์เข้าถึงพื้นที่อนุรักษ์ได้ง่าย สิ่งที่เกิดขึ้นกลับเป็นการบาดเจ็บล้มตายของเจ้าบ้าน สิ่งที่เราเจอคนรักธรรมชาติ เวลาเที่ยวธรรมชาติได้อากาศบริสุทธิ์ ได้เห็นสัตว์ป่า แล้วถามว่าที่นั่นได้อะไรจากเรา ได้ค่าธรรมเนียม แต่คุ้มไหมกับสิ่งที่เกิดขึ้น” นายภัทรพล กล่าวและว่า ความเชื่ออีกอย่างคือการ ปล่อยสัตว์ในป่าแก้บน อย่างการเอากระต่ายมาปล่อยเอาสัตว์เลี้ยงไปปล่อยให้กลายเป็นอาหารสัตว์ผู้ล่า อย่างบางคนไปดูดวงวันเกิดพระบอกให้เอาจระเข้ไปปล่อย ก็ซื้อมาปล่อย คิดว่าเป็นเรื่องการทำบุญ จริงๆ คือกำลังทำลาย เช่นกระต่ายที่มาปล่อยมีเชื้อโรคที่สามารถแพร่ระบาดได้ ดังนั้นพฤติกรรมและความเชื่อแบบนี้ต้องหยุด เราเรียกว่าเป็นความปรารถนาดีที่ผิดเพี้ยน เพราะการหายไปของสัตว์ตัวนึง คือการหายไปของสัตว์หนึ่งพันธุกรรม
นายภัทรพลกล่าวถึงเรื่องของปัญหาขยะทุกพื้นที่อุทยานมีระบบจัดการขยะที่มีคุณภาพ มาตรฐานเพียงแต่ว่าเวลาที่มีการท่องเที่ยวเยอะๆ การจัดการขยะหรือว่า พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวยังมีความมักง่าย ไม่ทิ้งให้ถูกต้อง ความมักง่ายเป็นปัจจัยสำคัญต่อสัตว์ป่า ในส่วนของอุทยานมองว่า ในช่วงที่มีนักท่องเที่ยวมาเยอะๆ เราจะระบายขยะออกไปได้อย่างไร เรามีโครงการขยะคืนถิ่น ใครนำขยะเข้ามาก็เอากลับไปทิ้งที่บ้าน ช่วงปีใหม่มีกิจกรรมเสริม มีกลุ่มรณรงค์จะจัดกิจกรรม บริเวณทางเข้าเขาใหญ่ทั้งปราจีนบุรีและปากช่อง นครราชสีมา นำขยะมาแลกของขวัญ นักท่องเที่ยว สามารถนำขยะมาแลกรับของขวัญได้บริเวณทางออก เราทำมาแล้วสี่ปีในแต่ละปี ปริมาณที่คนมาแลกมาขึ้น พร้อมๆ กับขยะด้านบนที่ลดลงเช่นกัน นั่นคือการให้ความร่วมมือ
ในส่วนของสถิติอุบัติเหตุกับสัตว์ป่านั้น นายภัทรพล กล่าวว่า สถิติที่เป็นตัวเลขไม่แน่ชัดแต่ละปีที่มีการเริ่มรณรงค์ 4 ม.+1 คือไม่ให้อาหารสัตว์ ไม่ขับรถเร็ว ไม่ส่งเสียงดัง ไม่ทิ้งขยะ ไม่นำสัตว์มาปล่อย สถิติอุบัติลดน้อยลง ครึ่งต่อครึ่ง สิ่งเหล่านี้ เรามองว่าบางปัจจัยที่ว่าคนส่วนใหญ่ไม่ได้ขับรถเร็ว ทำไมยังมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นกับสัตว์ ต้นตอของปัญหาคือปัจจัยเรื่องเสียง การเปลี่ยนแปลงความดังในเขตป่า เมื่อสัตว์ได้ยินก็เตลิดออกที่โล่งตามสันชาตญาน ก็วิ่งออกไปบนถนนถึงแม้ว่าจะขับด้วยความเร็วไม่เกิน 60 กม./ชม. แต่ก็ถูกชนเสียชีวิต บางตัวพิการ ดังนั้นนโยบายที่รัฐมนตรีกระทรวงทรัพย์ฯให้ไว้ เรื่องการห้ามนำแอลกอฮอล์เข้ามาในอุทยาน อันเป็นปัจจัยเรื่องเสียงที่สำคัญ เพื่อไม่มีการส่งเสียงโวกแวกโวยวายในพื้นที่อุทยาน และมาตรการห้ามนำบิ๊กไบด์ นำรถที่มีการตกแต่งท่อ เครื่องยนต์เสียงดังเข้า จะเป็นการลดปัจจัยเรื่องเสียงที่ทำให้สัตว์ป่าตกใจ อุบัติเหตุเริ่มลดน้อยลง
“มาตรการในการรณรงค์ 4 ม. ตอนนี้เข้าสู่ปีที่ 9 ส่วนเรื่องห้ามนำแอลกอฮอล์และรถแต่งท่อเริ่มปีนี้จะเข้มงวดมากขึ้น ถ้าเป็นรถที่ยังไม่ดัดแปลงตามาตรฐานอุตสาหกรรมต้องมีความดังไม่เกิน 95 เดซิเบล รถเหล่านี้ไม่มีปัญหา แต่หากคันที่แต่งท่อมาหรือเราสงสัยว่าคันนี้อาจทำให้เกิดเสียงดัง มีตั้งด่านตรวจก่อนเข้าอุทยานตอนนี้เริ่มที่ อุทยานเขาใหญ่และกำลังจะขยายไปยังทุกพื้นที่ โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักม่านวิทยา กระทรวงวิทยาศาสตร์ กรมควบคุมมลพิษ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในการตรวจวัดความดังของยานพาหนะ คันไหนดังก็จะไม่ให้เข้า” นายภัทรพลกล่าว
ขณะที่ในเว็บ Change.org มีการรณรงค์ ปิดถนนขึ้นเขาใหญ่ช่วงกลางคืน เพื่อลดอุบัติเหตุกับสัตว์ป่า ปัจจุบันมีผู้ลงชื่อสนับสนุนไปแล้ว 23,726 คน โดยตั้งเป้า 25,000 คน