พญ.พรรณพิมล หนุนนโยบายสพฐ.ชี้ครูแต่ละวิชาต้องวางแผนให้การบ้านร่วมกัน
สพฐ. กำหนดแนวปฏิบัติ ‘ลดการบ้าน’ นร. เน้นบูรณาการทุกกลุ่มสาระ ครูระดับชั้นเดียวกันต้องวางแผนร่วมกัน ให้ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่ฯ กำชับผู้บริหารสถานศึกษากำกับ ติดตาม เป็นระยะ ด้าน 'พญ.พรรณพิมล' หวังผู้ปกครองเข้าใจ ไม่ยัดเยียดการบ้านให้ลูก
สืบเนื่องจากนายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต ทราบถึงข้อกำหนดแนวทางปฏิบัติการลดการบ้านของนักเรียน ตามความห่วงใยของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นแนวทางให้สถานศึกษานำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยตั้งเป้าหมายลดการบ้านลงได้ทันที
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในฐานะนักวิชาการด้านจิตวิทยา เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org กล่าวสนับสนุนนโยบายลดการทำการบ้านของเด็กว่า การบ้านทำหน้าที่ช่วยให้เกิดการทบทวนและเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเรียนเท่านั้น ดังนั้น ครูจะต้องมอบหมายให้สอดคล้องกับอายุ โดยไม่มอบหมายให้ทำการบ้านมากเกินไป เพื่อให้นักเรียนได้ใช้เวลาเรียนรู้ในทักษะที่สนใจมากขึ้น ทั้งนี้ สถานศึกษาสามารถบูรณาการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความสนใจของนักเรียนได้
“เราสามารถมอบหมายเรื่องที่นักเรียนสนใจให้เป็นส่วนหนึ่งของการบ้านได้ จะได้ไม่มีปัญหา มิฉะนั้นนักเรียนจะถูกออกแบบให้ทำการบ้านตามที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น เมื่อทำซ้ำ ๆ จะส่งผลให้ขาดการเรียนรู้ในด้านอื่น ๆ” รองปลัด สธ. กล่าว และว่า ผู้สอนแต่ละวิชาจึงต้องปรึกษาหารือกัน ให้การบ้านหนึ่งอย่าง แต่ครอบคลุมทักษะหลายวิชา ขณะเดียวกัน ผู้ปกครองต้องเข้าใจด้วยว่าการบ้านเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเรียน ไม่ควรส่งเสริมให้ทำการบ้านมาก เพราะจะยิ่งสร้างความทุกข์ให้กับเด็กนักเรียน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การลดการบ้านให้แก่นักเรียน เคยมีการวิเคราะห์ไว้ว่า การบ้านที่เด็กไทยได้รับในแต่ละวันนั้นมากเกินไป การบ้านมีผลเสียต่อสมาธิเด็กและสร้างความกดดันให้แก่เด็กและพ่อแม่ผู้ปกครอง
สำหรับแนวทางที่สพฐ.ได้แจ้งให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขตต้องดำเนินการ มีดังนี้
1.ให้สถานศึกษาวางแผนการจัดกิจกรรมการเรียนให้ครอบคลุมถึงการมอบการบ้านให้นักเรียน โดยเฉพาะครูที่สอนระดับชั้นเดียวกันต้องมีการวางแผนร่วมกัน
2.ครูแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้วางแผนการให้การบ้านแบบบูรณาการร่วมกัน การบ้าน 1 ชิ้น สามารถเป็นกิจกรรม หรือเครื่องมือในการวัดและประเมินผลร่วมกันของหลายกลุ่มสาระการเรียนรู้ได้
3.คำนึงถึงความเหมาะสมกับวัยของผู้เรียน ทั้งจำนวนสาระการเรียนรู้ ปริมาณการบ้าน ระยะเวลาการส่งการบ้าน ความประหยัดและคุ้มค่า รวมทั้งเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการทำการบ้าน
4.ระยะเวลาใช้ทำการบ้านในแต่ละวัน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 ให้ทำการบ้านประมาณ 30 นาที ไม่เกิน 1 ชั่วโมง, ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ให้ทำการบ้านประมาณ 1 ชั่วโมง ไม่เกิน 1 ชั่วโมง 30 นาที และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ให้ทำการบ้านไม่เกิน 2 ชั่วโมง
5.ให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากำชับผู้บริหารสถานศึกษาให้กำกับ ติดตาม การให้การบ้านของครูเป็นระยะตามความเหมาะสม.
ภาพประกอบหลัก:admissionpremium.com