บ.ขายคอมฯปลอมเอกสารกู้แบงก์ 3.4 พันล.ถูก ปปง.อายัด 62 ล.-‘หญิงสาว’หุ้นใหญ่
เผยแพร่ทางการ ปปง.อายัด 62 ล. บ.ซื้อขายสินค้า ฉ้อโกงสถาบันการเงิน เสียหาย 3.4 พันล. ‘อิศรา’คุ้ยพบ ชาวต่างชาติ ก่อตั้ง เปลี่ยน กก.หลายหน ล่าสุด 2 หญิงสาวถือหุ้นใหญ่ ก่อนมีสถานะร้าง
เผยแพร่ทางการ ปปง.อายัดทรัพย์สิน 82 รายการ 62 ล. บ.ซื้อขายสินค้าระหว่างปท. กับพวก ฉ้อโกงสถาบันการเงิน เสียหาย 3.4 พันล. ‘อิศรา’คุ้ยพบ ชาวต่างชาติ ก่อตั้ง เปลี่ยน กก.หลายหน หญิงสาวถือหุ้นใหญ่
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ราชกิจจานุเบกษา วันที่ 25 ธ.ค.2560 เผยแพร่ ประกาศพนักงานเจ้าหน้าที่ สำนักงาน ปปง. เรื่อง ให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิจากการกระทำความผิดมูลฐาน กรณีคณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติ วันที่ 14 ธ.ค.2560 อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดรายบริษัท เอพีเอส คล็อค ซีสเต็มส์ จำกัด กับพวกไว้ชั่วคราว จำนวน 82รายการ ระบุว่า ด้วยคณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 23/2560 เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2560ให้อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดรายบริษัท เอพีเอส คล็อค ซีสเต็มส์ จำกัด กับพวกไว้ชั่วคราว จำนวน 82 รายการ พร้อมดอกผล มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน (เก้าสิบวัน)อาศัยอำนาจตามความในข้อ 4 แห่งระเบียบคณะกรรมการธุรกรรมว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายในความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2559 จึงขอให้ผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินจากการกระทำความผิดมูลฐานในรายคดีข้างต้น ยื่นคำร้องพร้อมหลักฐานแสดงรายละเอียดแห่งความเสียหาย และจำนวนความเสียหายที่ได้รับจากการ กระทำความผิดมูลฐานรายคดีนี้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงาน ปปง. ภายในกำหนดเวลา 30 วัน นับแต่วันที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ประกาศ ณ วันที่ 15 ธ.ค.2560 http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/E/320/16.PDF
สำนักข่าวอิศราตรวจสอบพบว่า บริษัท เอพีเอส คล็อค ซีสเต็มส์ จำกัด จดทะเบียนวันที่ 3 ต.ค.2545 ทุนเริ่มแรก 1 ล้านบาท (ล่าสุด 40 ล้านบาท) ประกอบกิจการขาย ซ่อมแซม ดัดแปลง ปรับปรุงคอมพิวเตอร์ จอคอมพิวเตอร์และชิ้นส่วนต่างๆ ของอุปกรณ์ ที่ตั้งเลขที่ 4,6 ซอยกรุงเทพกรีฑา 33 แยก 1 ถนนกรุงเทพกรีฑา แขวงสะพานสูง เขตสะพานสูง กรุงเทพมหานคร ณ วันที่ 30 เม.ย.2556 น.ส.สุวรรณี ศุภรัตน์ภมร ถือ 280,000 หุ้น (70%) น.ส. พรธิภา แซ่เฮ้ง 100,000 หุ้น (25%) และร่วมกันเป็นกรรมการ
จากการตรวจสอบพบว่า ในช่วงก่อตั้งมีชาวต่างประเทศ สัญชาติเยอรมัน และเนเธอร์แลนด์ 2 คนร่วมกับคนไทย 5 คน ร่วมกันถือหุ้นและกรรมการก่อตั้ง ต่อมาจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการ ผู้ถือหุ้น และที่ตั้ง หลายครั้ง และมีสถานะ เป็นบริษัทร้างซึ่งนายทะเบียนได้ขีดชื่อออกจากทะเบียนเมื่อวันที่ 30 ส.ค.2560
ก่อนหน้านี้ พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ วีริยาสรร รักษาราชการแทนเลขาธิการ ปปง. เปิดเผยว่า กรณีบริษัท เอพีเอส คล็อค ซีสเต็มส์ สืบเนื่องจากสำนักงาน ปปง. ได้รับรายงานจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ว่า บริษัทเอพีเอสฯ กับพวก ได้ยื่นขอสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศและขอให้โอนเงินสินเชื่อไปต่างประเทศ โดยอ้างว่าเป็นการชำระค่าซื้อขายสินค้า
ต่อมาธนาคารพบว่าบริษัทผู้ขายสินค้าและบริษัทผู้ชำระเงินค่าสินค้า มีกรรมการผู้มีอำนาจเป็นคนเดียวกัน ซึ่งไม่ได้เป็นคู่ค้าของบริษัท ตามที่ได้แจ้งไว้กับธนาคาร และจากการตรวจสอบพบว่ามีการยื่นเอกสารปลอมในการขอสินเชื่อ จนเป็นเหตุให้ธนาคารหลายธนาคารได้รับความเสียหาย โดยมีการหลอกลวงธนาคารให้ปล่อยสินเชื่อมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554-2556 รวมความเสียหายทั้งสิ้นประมาณ 3,400 ล้านบาท การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงอันเป็นปกติธุระ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (18) คณะกรรมการธุรกรรม ได้มีมติให้อายัดทรัพย์สินของบริษัท เอพีเอส คล็อค ซีสเต็มส์ จำกัด กับพวก จำนวน 82 รายการ รวมจำนวน 62,183,563.07 บาท พร้อมดอกผล ไว้ชั่วคราว มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติ (http://www.komchadluek.net/news/regional/305684)