ส่งท้ายปีคุยกับรศ.ดร.พนา ทองมีอาคม มองธุรกิจสื่อ คืออุตสาหกรรมทางวัฒนธรรม
หนังสือพิมพ์ใหญ่ๆยังอยู่กันได้ แต่อาจฝืดเคืองกว่าเมื่อก่อน ส่วนหนังสือพิมพ์ลำดับท้ายๆ อาจจะเจ็บตัวก่อนเราจะเห็นว่า นิตยสารดิฉัน คู่สร้างคู่สม ขวัญเรือน นี่คือตัวท็อป ๆ ทั้งนั้น แสดงว่า เกิดความเสียหายมาถึงข้างบนแล้ว วันนี้เทคโนโลยีที่มันไปเร็ว ซึ่งมีฐานมากจากทั่วโลก ทางกลับกันการปรับตัวขององค์กรธุรกิจจะช้า คนที่ประสบความสำเร็จอยู่แล้วจะติดนิสัยทำอย่างเดิม ฉะนั้นก็จะติดกับสูตรความสำเร็จแบบเดิมปรับเปลี่ยนยาก
คงไม่มีใครคาดคิดว่า การเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของคนในวงการสื่อสารมวลชนได้มากขนาดนี้ โดยเฉพาะตลอดปี 2560 วงการสื่อสารมวลชน นับได้ว่า ได้รับผลกระทบจาก Disruptive Technology มากที่สุด เห็นได้จากข่าวการประกาศปิดตัวลงของนิตยสาร หนังสือพิมพ์ คลื่นวิทยุ ด้านสื่อทีวีมีทั้งการทยอยปลดพนักงาน หาผู้ร่วมทุน และขายสินทรัพย์กันมาตลอดทั้งปี
บางคนปรากฎการณ์ครั้งนี้ว่า วิกฤตฟองสบู่สื่อ รวมถึงการตั้งคำถามตัวโตๆ นิเทศศาสตร์จะตายแล้วหรือ รวมไปถึงผลการสำรวจอาชีพดาวร่วงในปี 2561 “นักข่าว” กลายเป็นอาชีพที่มีชื่อติดโผไปกับเขาด้วย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) มีโอกาสได้พูดคุยกับรองศาสตราจารย์ ดร. พนา ทองมีอาคม ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านการพัฒนาบุคลากรและวิชาชีพสื่อโทรทัศน์ และอดีตกรรมการกองทุนวิจัย และพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ซึ่งเคยเปรียบเทียบ "การทำทีวียุคนี้เหมือนตกปลาในบ่อ ตอนนี้ไม่ใช่ มันคือการตกปลาในทะเล ปลากระจายตัวกันอยู่"
“สถานการณ์สื่อวันนี้ เหมือนกำลังอยู่ในภาวะแล้งจัด ก็ขอให้อดทน ยืนหยัดอยู่ให้ได้ เพราะหากเรายืนหยัดอยู่ได้ พอฝนมาเราก็รอด สิ่งสำคัญคือคนลงทุน หากคนลงทุนอยู่ได้ คนทำงานสื่อก็อยู่ได้ ซึ่งต้องประสานกัน คนลงทุนต้องดูแลลูกน้องให้ดี มิเช่นนั้นเขาก็ไปที่อื่นเท่ากับคุณคัดคนเก่งออก แล้วคุณจะเอาทุนคืนจากไหน” รศ.ดร. พนา ให้มุมมอง และเห็นว่า คนลงทุนสื่อ กับคนทำงานสื่อ ก็เหมือนมือสองข้าง แต่เราไปพูดแยก โดยไม่รู้ว่า มือสองข้างเหลือข้างเดียวอยู่ไม่ได้
ส่วนการพัฒนาศักยภาพคนสื่อเองนั้น รศ.ดร. พนา ชี้ว่า คนสื่อต้องพัฒนาตัวเองให้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะตลาดยังคงอยู่ ซึ่งลองนึกดูในยามสงครามก็ยังมีคนค้าขายรวยนะ ยามรุ่งเรืองก็ขายข้าวหอมมะลิ ยามตลาดยากจนก็ขายปลายข้าว
วงการสื่อปี 2561 ผลพวงจาก Disruptive Technology ยังมีอยู่ สื่อสิ่งพิมพ์ยังคงมีการปรับตัว แม้หลายแห่งจะหันมาทำหลาย แพลตฟอร์ม สังเกตดู คือความยากในการแปลงให้เข้ากับ แพลตฟอร์มนั้น ๆ ซึ่งยังไม่มีการปรับเนื้อหา และการนำเสนอ ฉะนั้นปีหน้าสื่อก็ต้องปรับตัวกันอีก และพูดยากใครจะอยู่หรือใครจะไป
พร้อมกันนี้เขามองว่า หนังสือพิมพ์ใหญ่ๆยังอยู่กันได้ แต่อาจฝืดเคืองกว่าเมื่อก่อน ส่วนหนังสือพิมพ์ลำดับท้ายๆ อาจจะเจ็บตัวก่อนเราจะเห็นว่า นิตยสารดิฉัน คู่สร้างคู่สม ขวัญเรือน นี่คือตัวท็อป ๆ ทั้งนั้น แสดงว่า เกิดความเสียหายมาถึงข้างบนแล้ว วันนี้เทคโนโลยีที่มันไปเร็ว ซึ่งมีฐานมากจากทั่วโลก ทางกลับกันการปรับตัวขององค์กรธุรกิจจะช้า คนที่ประสบความสำเร็จอยู่แล้วจะติดนิสัยทำอย่างเดิม ฉะนั้นก็จะติดกับสูตรความสำเร็จแบบเดิมปรับเปลี่ยนยาก ส่วนคนทำงานสื่อก็ยังติดกับการทำงานแบบเดิมๆ อยู่ใน comfort zone
“คุณภาพเนื้อหา ผมมองว่า ไม่ได้เกิดเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์เท่านั้น เกิดทั่วไปแทบทุกสื่อ ซึ่งไม่ใช่เรื่องความสามารถในการทำงานของคนทำสื่อลดลง แต่มาจากเรื่องของต้นทุนการผลิตเนื้อหาที่เพิ่มขึ้น พอสื่อมีรายได้ลดลง ก็จะมีการตัดค่าใช้จ่าย เอาคนออก ลดคน ตอนนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า คุณสามารถรักษาคนมีความสามารถไว้ได้แค่ไหน ดังนั้น เวลาที่เนื้อหาลึกๆ ซึ่งต้องใช้เวลาค้น ใช้เวลาตาม ใช้คนมากขึ้น ใช้เวลามากขึ้น บางทีใช้ทรัพยากรมาก นี่เองทำให้เราเห็น สื่อไปเอาเนื้อหามาจากโซเชี่ยลมีเดียมานำเสนอ ทั้งหมด ผมไม่ได้มองสื่อไม่มีความสามารถ แต่การนำเนื้อหามาจากโซเชี่ยลมีเดียที่มีอยู่แล้ว เป็นต้นทุนที่ถูกที่สุด เป็นความจำเป็น ”
ยิ่งเมื่อคนบริโภคข่าวสารต้องการข่าวที่มีความเคลื่อนไหว และมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทั้งบนหน้าเว็บข่าว หรือในสื่อทีวี หากข่าวไม่เปลี่ยนเลยก็จะกลายเป็นไม่น่าสนใจไป
นี่คือความกดดัน ที่นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน ฉายภาพให้เราเข้าใจสถานการณ์ช่วงเวลานี้ของวงการสื่อสารมวลชน
และเมื่อถามถึงปรากฎการณ์ปิดตัวลงของสื่อ ความตายของสื่อสิ่งพิมพ์ ความท้าทายของสังคมอนาคต สื่อ รศ.ดร. พนา ให้มุมมองว่า “ผมไม่คิดว่า สื่อตายนะ แต่สื่อจะเปลี่ยน หากถามว่า เปลี่ยนยังไง ก็ไม่มีใครรู้ เพราะสื่อต่างประเทศก็ยังเถียงกันอยู่ เช่น NBC ABC ก็ยังอยู่ได้ แต่ไม่ได้ดีเหมือนเมื่อก่อน ขณะที่สื่อออนไลน์ก็ดีวันดีคืน”
สำหรับสื่อทีวี เขาเห็นว่า ในอนาคตจะแพร่ภาพทางอินเตอร์เน็ต ฉะนั้นทีวีดิจิตอล ทีวีดาวเทียม ผลกระทบจะหนักจาก Disruptive Technology เนื่องจากคนไปดูทีวีจากที่อื่น ไม่นั่งรอรายการเหมือนแต่ก่อนแล้ว หากไม่ทันใจก็เลือกดูคลิป ดู Live กันแล้ว
ที่สำคัญ Over Supply มีอุตสาหกรรมสื่อทีวี ซึ่งตอนเปิดประมูล (ผมไม่ได้โทษกสทช.นะ เขามีหน้าที่หาคลื่นมาให้พร้อมกับความต้อง แต่ความต้องการเยอะเกินไป) คลื่นมีอยู่จำกัด แต่สมัยใหม่คลื่นมีไม่จำกัด ทีวีเยอะ เลยทำให้เงินโฆษณากระจายตัว นี่คือปัญหาใหญ่
ตลอดปี 2560 แม้กสทช.พยายามแก้ไขปัญหา เขาเห็นว่า กสทช.ก็ยังมีข้อจำกัด เช่น ลดค่าธรรมเนียม 2%ทำได้ อยู่ในอำนาจ แต่เงินประมูลเขาลดไม่ได้เพราะเข้ากระทรวงการคลังไปแล้ว หมดอำนาจกสทช.ไปแล้ว ยิ่งแก้ยากไปใหญ่มีเจอ Over Supply ซึ่งตามหลักต้องปล่อยให้กลไกตลาดแก้ไขตัวเอง คนอ่อนแอต้องรวมกับคนแข็งแรง การควบรวมเป็นกลไกทางธรรมชาติของธุรกิจ
ประเด็นที่ก่อนหน้านี้นายกสมาคมทีวีดิจิทัล ชงใช้ม.44 แก้ปัญหา กฎหมายบริการทีวีดิจิทัล เสนอไม่จ่ายค่าใบอนุญาตนั้น รศ.ดร. พนา เห็นว่า สังคมประชาธิปไตย เขามีสิทธิ์ขอความช่วยเหลือ ในส่วนรัฐบาลหากจะช่วยเขา กระทรวงการคลังจะลดให้เขาหรืออย่างไร คิดโดยรอบคอบ ถูกกฎหมายก็เห็นด้วยช่วยได้ ซึ่งบริบทโลกใครๆ ก็ช่วยธุรกิจของเขาทั้งนั้น ไม่เห็นเป็นไร
"เวลาธุรกิจล้มละลายจะมีคนตกงานเยอะแยะ ซึ่งจ่ายเงินภาษีให้รัฐทั้งนั้น การช่วยไม่เป็นไร แต่ผมเห็นว่าควรทำให้ถูกต้อง ผมไม่เห็นด้วยที่จะชักดาบ ส่วนหากทีวีดิจิตอลไปไม่รอดจะมีต่างชาติมากว้านซื้อนั้น ผมไม่ห่วงเพราะมีกฎหมายค้ำอยู่"
อย่างไรก็ตาม รศ.ดร. พนา มองว่า สื่อมวลชน ถือเป็นอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรม จึงไม่อยากเห็นต่างชาติเข้ามาถือหุ้นมากเกินไป
เมื่อถามถึงอนาคตสื่อออนไลน์ หรือสำนักข่าวออนไลน์ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน ชี้ว่า แม้จะเป็นคำตอบในอนาคตแต่ก็ยังไม่เห็นแห่งใดประสบความสำเร็จ สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ ดังนั้นอยู่ที่การแปลงเนื้อหาให้เป็นเงิน ตรงนี้ค่อนข้างจะยาก วิธีหนึ่งไม่รู้คนไทยพร้อมหรือไม่ การสมัครเป็นสมาชิก เสียเงินเพื่อเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ซึ่งก็อยู่ที่ตัวสื่อเองต้องหาวิธี แบบในต่างประเทศที่ไปไกลกว่าเรามาก มีการแบ่งชั้นให้สมาชิกอ่านฟรี มีโควต้า หรือข่าวเจาะลึกต้องสมัครสมาชิก ทั้งหมดต้องคิดรูปแบบในการหารายได้ให้กับสำนักข่าวออนไลน์ในอนาคต
"ตอนนี้เหมือนคนกำลังถ่ายเรือกลางแม่น้ำ กำลังขึ้นจากแพมาเรือ มีทั้งแพ ทั้งเรือ คนจำนวนหนึ่งอยู่บนแพ คนจำนวนหนึ่งอยู่บนเรือ แพแย่แล้วคนน้อยลง เหมือนกับทีวีผมว่า ที่สุดก็จะมีสถานีจำนวนหนึ่งถูกควบรวม หรือล้มหายจากไป จะเหลือพอดีๆกับตลาด ส่วนทีวีดาวเทียม ก็จะลดน้อยลง เคเบิลทีวีเจอปัญหาลิขสิทธิ์
ผมอยากเรียกร้องให้ กสทช. เข้ากำกับ OTT ทำให้ถูกกฎหมาย เพราะเข้ามาแย่งชิงตลาดของฟรีทีวี เพราะ OTT ไม่ต้องเสียค่ากำกับ แล้วไม่ต้องจ่ายเงินกองทุน ที่แย่กว่านั้นคือมี OTT ที่เป็นสีเทาซื้อกล่องมาสามสี่พันบาท จ่ายรายเดือน สองร้อยแล้วได้ดูหนังเต็มเลย และสามารถดูช่องอื่นได้โดยไม่ต้องสมัครสมชิกอะไรใดๆ นี้เป็นหน้าที่ของ กสทช.ที่ต้องไปทำ เชื่อว่า การทำงานของกสทช.ยังพัฒนาได้อีกเยอะ หาคนที่สนใจทำงานด้านนี้จริงๆ ซึ่งก็ต้องพึ่งกรรมการสรรหาและพนักงานเจ้าหน้าที่กสทช.ที่เป็นคนหนุ่มคนสาวมีอยู่จำนวนมาก"
สุดท้ายเขาทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า เวลาเราทำหน้าที่กำกับดูแล มีสองสามสิทธิ์ที่ต้องรักษาสมดุลให้ดี หากเรากำกับมากไป สิทธิเสรีภาพสื่อก็จะหายไป แต่การไม่กำกับเลย ปล่อยสื่อเสรี แล้วแต่เลย สื่อก็อาจไปละเมิดสิทธิเสรีภาพผู้อื่นได้