“สภายุครัฐประหารทำให้เสียหลักแห่งการถ่วงดุล” ในการผ่านกฎหมาย หรือไม่??
วิธีการอภิปรายและลงมติของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยุคนี้เป็นเรื่องแปลกที่สุดในโลก ที่ประธานสนช.กำหนดวิธีการใหม่ในการประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติรายมาตราในวาระ2 โดยให้กรรมาธิการและสมาชิกสภาอภิปรายแต่ละมาตราจนครบทุกมาตรา แล้วค่อยมาลงมติรวมภายหลังอภิปรายเสร็จ
ตามปกติแล้วการอภิปรายร่างกฎหมายรายมาตราในวาระ 2 จะเป็นการเปิดโอกาสให้สมาชิกสภา และกรรมาธิการเสียงข้างน้อยสามารถสงวนความเห็นต่างจากกรรมาธิการเสียงข้างมาก และนำมาอภิปรายเพื่อโน้มน้าวให้สมาชิกสภาเห็นชอบกับข้อมูลของตนด้วยเหตุด้วยผล ซึ่งการลงมติทันทีหลังอภิปรายแต่ละมาตรา อาจมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงมติในแต่ละมาตราได้ สมัยที่ดิฉันเป็นสมาชิกวุฒิสภามีหลายครั้งที่สมาชิกวุฒิสภาหรือกรรมาธิการเสียงข้างน้อยสามารถอภิปรายหักล้างเหตุผลของกรรมาธิการเสียงข้างมาก จนมีการลงมติสวนกรรมาธิการเสียงข้างมาก ถึงขนาดล้มมติกรรมาธิการเสียงข้างมากได้ในกฎหมายหลายฉบับ หรือกฎหมายระดับพระราชกำหนด ยกตัวอย่างพระราชกำหนดขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ที่พิจารณาในชั้นวุฒิสภา หลังจากมีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง เกิดการลงมติคว่ำพระราชกำหนดฉบับนั้น
ในยุครัฐบาลเลือกตั้งที่ถูกเรียกขานว่าเป็นสภาเผด็จการเสียงข้างมาก จึงมีวิธีจัดการเพื่อให้ชนะมติด้วยเสียงข้างมาก วิธีการหนึ่งคือ การส่งสัญญาณชู 2 นิ้ว เพื่อให้สมาชิกโหวตเห็นด้วย หรือชู 3 นิ้ว เพื่อให้สมาชิกโหวตไม่เห็นด้วย ผลคือในเวลาอภิปราย สมาชิกไม่ต้องเข้ามาฟังการอภิปรายก็ได้ เพราะอย่างไรเสียสมาชิกก็ต้องโหวตตามที่พรรคชี้นำอยู่แล้ว
แต่ปัจจุบันวิธีพิจารณาร่างพระราชบัญญัติของสนช.เหนือชั้นกว่า ทำให้ยิ่งง่ายต่อการคุมเสียงสมาชิกโดยไม่ต้องชู2นิ้วให้เห็นอย่างโจ๋งครึ่มแบบสภาของนักเลือกตั้งอีกต่อไป เพราะสภายุครัฐประหารอภิปรายจนจบ ค่อยมาลงมติ สมาชิกสภาไม่ต้องเสียเวลาคิด เสียเวลาฟัง ยิ่งคนที่ไม่เข้าประชุมช่วงการอภิปรายก็ไม่รับรู้ว่ามีการแสดงเหตุผลอะไรกันบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่ก็แปรญัตติพอเป็นพิธี อภิปรายพอเป็นพิธี สมาชิกส่วนใหญ่ก็จะโหวตตามกรรมาธิการอยู่แล้ว ดังนั้นร่างกฎหมายส่วนใหญ่ของสนช.การลงมติจึงเป็นมติเอกฉันท์ และการผ่านกฎหมายแต่ละฉบับทำได้อย่างรวดเร็ว บางฉบับใช้เวลาชั่วโมงเดียวก็ผ่านเป็นกฎหมายมาบังคับใช้ได้แล้วใช่หรือไม่
นานๆจะมีสักครั้งอย่างการอภิปรายพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เมื่อวันที่ 21-22 ธันวาคม 2560 ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่มีถึง193 มาตรา ต้องอภิปรายกันถึง2วันเต็ม ถ้าเปรียบการอภิปรายระหว่างกรรมาธิการเสียงข้างมาก และกรรมาธิการเสียงข้างน้อยเป็นเชิงมวย ประชาชนคนดูย่อมเห็นว่าลำหักลำโค่นของกรรมาธิการเสียงข้างน้อยเหนือกว่าเหตุผลของกรรมาธิการเสียงข้างมากอย่างชัดเจน จนกรรมาธิการเสียงข้างมากต้องยอมถอนบางมาตราอย่างเช่นมาตรา 37/1 ที่ให้อำนาจ ปปช.สามารถดักฟังโทรศัพท์ผู้ต้องสงสัยได้
แต่ก็ยังมีอีกหลายมาตราว่าสมาชิกสนช.จะโหวตอย่างไร จะโหวตตามเหตุผลของเสียงข้างมาก หรือโหวตตามเหตุผลของกรรมาธิการเสียงข้างน้อยโดยเฉพาะมาตรา 178
ปรากฎว่าประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติสั่งให้เลื่อนการโหวตรายมาตราในวาระ 2 และการรับรองกฎหมายในวาระ 3 ออกไปเป็นวันจันทร์ที่ 25 ธันวาคม 2560 ซึ่งเป็นการเลื่อนการโหวตออกไปถึง 3 วัน ทำให้เกิดคำถามว่าเป็นวิธีการประชุมที่ถูกต้องตามระเบียบการประชุมพิจารณาร่างกฎหมายในวาระ 2 หรือไม่ และการเลื่อนออกไปเช่นนี้มีคำถามว่า จะได้มีเวลาเจรจา หรือรอฟังคำสั่งว่าจะโหวตอย่างไร ใช่หรือไม่?
มาตรา 178 ที่กรรมาธิการเสียงข้างมากเขียนยกเว้นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของคณะกรรมการปปช.ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 2560 ถูกตั้งคำถามว่าที่เขียนยกเว้นเพราะเป็นคำสั่งคสช.เพื่อรองรับให้ประธานปปช.คนปัจจุบันที่มีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญได้อยู่เป็นประธานปปช.ต่อไป ใช่หรือไม่
มีผู้ตั้งคำถามว่าหากสนช.ยอมโหวตให้มีการยกเว้นคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของกรรมการปปช. ก็ไม่ต้องมีรัฐธรรมนูญก็ได้ และต่อไปเมื่อคณะกรรมการปปช.มีการลงมติใด ปัญหาเรื่องคุณสมบัติที่ขัดรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการปปช.ก็ต้องถูกยกขึ้นมาเป็นประเด็นทุกครั้งไป ซึ่งจะทำให้การทำงานของปปช.มีปัญหาอย่างแน่นอน ต่อไปการชี้มูลของปปช.ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อน ว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็น่าจะวินิจฉัยลำบาก หรือวินิจฉัยแล้วก็อาจถูกตั้งคำถาม หรือไม่ได้รับการยอมรับจากสาธารณชนเช่นกันหรือไม่ เพราะรัฐบาลคสช.ก็ใช้มาตรา44 มา over rule รัฐธรรมนูญ และสนช.ก็ผ่านพระราชบัญญัติของศาลรัฐธรรมนูญที่ทำให้เกิดปัญหาเรื่องคุณสมบัติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ขัดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญด้วยเช่นเดียวกัน ใช่หรือไม่
หากสมาชิกสนช.กลับมาโหวตในวันจันทร์ที่ 25 ธันวาคม 2560 โดยเห็นชอบกับมาตรา 178 ตามกรรมาธิการเสียงข้างมาก ย่อมมีคำถามว่าเหตุผลของกรรมาธิการเสียงข้างน้อยฟังไม่ขึ้นหรืออย่างไร หรือว่าสมาชิกสนช.ได้รับคำสั่งให้ต้องโหวตตามกรรมาธิการเสียงข้างมาก ใช่หรือไม่
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว สนช.ก็ไม่ต่างจากประชาธิปไตย 2 นิ้วของสภาเผด็จการเสียงข้างมากที่เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์ และถูกต่อต้านมาแล้ว ใช่หรือไม่ !?!
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก www.banmuang.co.th