ปธ.คตง. ลงนามแก้ระเบียบใหม่เปิดช่องคนเอกชนนั่ง 'ที่ปรึกษา-เลขา'-รวมผู้ว่าฯ สตง. ด้วย
ราชกิจจาฯ แพร่ทางการ 'พล.อ.ชนะทัพ' ลงนามแก้ไขระเบียบคตง.ใหม่ เพิ่มข้อความอำนาจแต่งตั้งที่ปรึกษา-เลขาฯ-ผู้ช่วย เปิดช่องคนเอกชนร่วมงาน เกินเงินเดือนๆละ 5 หมื่น ทั้งที่ของเดิมห้ามไว้ชัดเจน
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2560 ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยการแต่งตั้งที่ปรึกษา เลขานุการ และผู้ช่วย เลขานุการประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (ฉบับที่ 3)พ.ศ.2560 ลงนามโดย พลเอก ชนะทัพ อินทามระ ประธานคตง.ชุดปัจจุบัน
โดยมีสาระสำคัญอยู่ที่การปรับเพิ่มข้อความแก้ไขระเบียบเดิมเกี่ยวกับการอำนาจแต่งตั้งที่ปรึกษา เลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ในหลายส่วน เช่นในขั้นตอนการดำเนินงานให้เสนอขอความเห็นชอบจากประธานคตง. ก่อน หากประธานกรรมการไม่เห็นชอบให้เสนอคณะกรรมการพิจารณา และให้สํานักงานดําเนินการจัดจ้างตามความเห็นของคณะกรรมการต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในระเบียบที่มีการแก้ไขใหม่ มีการเพิ่มข้อความเกี่ยวกับคุณสมบัติของบุคคลที่จะเข้าเป็นที่ปรึกษา เลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ด้วย" ในข้อ 4 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 6/1 แห่งระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยการแต่งตั้งที่ปรึกษา เลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2557
“ข้อ 6/1 ในกรณีที่ประธานกรรมการหรือกรรมการมีความประสงค์และความจําเป็นที่จะต้อง แต่งตั้งที่ปรึกษาซึ่งเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 6 (3) ให้สํานักงานเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการก่อนดําเนินการจัดจ้างต่อไป”
ขณะที่ในระเบียบเดิมระบุ คุณสมบัติข้อ 6(3) ว่า ต้องไม่เป็นผู้จัดการ กรรมการ ที่ปรึกษา ตัวแทนหรือลูกจ้างของบุคคล ห้างหุ้นส่วน บริษัทหรือองค์กรใด ๆ ซึ่งทําธุรกิจเพื่อหากําไร
@ ระเบียบใหม่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/129/11.PDF
@ระเบียบเดิม http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2557/A/080/5.PDF
ขณะที่แหล่งข่าวในสตง. กล่าวแสดงความเห็นต่อสำนักข่าวอิศราว่า สตง.เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน จากการทำโครงการต่างๆ ของหน่วยงานรัฐ ซึ่งมีเอกชนเข้ามาเกี่ยวข้อง การแก้ไขระเบียบใหม่ในลักษณะดังกล่าว อาจทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความไม่เป็นกลาง และเป็นการเปิดช่องให้คนเอกชน เข้ามารับรู้รับทราบนโยบายข้อมูลการตรวจสอบของสตง.ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมอย่างมาก
สำหรับการกำหนดค่าตอบแทนผู้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษา เลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ตามระเบียบคตง.ที่กำหนดไว้ มีดังนี้
1.ที่ปรึกษาประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ไม่เกิน 2 อัตรา ได้ค่าตอบแทนเดือนละ 51,200 บาท
2.ที่ปรึกษากรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เท่ากับจํานวนกรรมการ ค่าตอบแทนเดือนละ 51,200 บาท
3.เลขานุการประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน 1 อัตรา ค่าตอบแทนเดือนละ 43,530บาท
4.เลขานุการกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เท่ากับจํานวนกรรมการ ค่าตอบแทนเดือนละ 43,530 บาท
5.เลขานุการผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน 1 อัตรา ค่าตอบแทนเดือนละ 43,530 บาท
6.ผู้ช่วยเลขานุการประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน 1 อัตรา ค่าตอบแทนเดือนละ 21,765 บาท
7.ผู้ช่วยเลขานุการกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เท่ากับจํานวนกรรมการ ค่าตอบแทนเดือนละ21,765 บาท
8.ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน 1 อัตรา ค่าตอบแทนเดือนละ 21,765 บาท
นอกจากนี้ ยังมีสิทธิได้รับสวัสดิการและการสงเคราะห์อื่นด้วย
(อ่านประกอบ : ค่าตอบแทน ที่ปรึกษา เลขาฯ ผู้ช่วยเลขาฯ คตง.รับสูงสุด 51,200 บาท/เดือน)
อ่านประกอบ :
สั่งย้ายทั้งคน-พระ! โวยนโยบายบิ๊กคตง. ล้วงลูกฝ่ายบริหารใช้อำนาจคุม 'สตง.' เบ็ดเสร็จ
สดจากสตง.! ว่าด้วยยุคมืดแห่งการตรวจสอบทุจริต-เมื่อจนท.ถูกขู่เล่นงานโทษวินัยปมเอกสารหลุด
2 เดือน กับ ตำแหน่ง 'ปธ.คตง.'-พล.อ.ชนะทัพ ยัน นี่ไม่ใช่ยุคมืด สตง.