อ่านสถานการณ์ "ทรัมป์-สหรัฐ" หลัง 128 ชาติลงมติค้านปม "เยรูซาเล็ม"
มติที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ที่ออกเสียงคัดค้านสหรัฐอเมริกา กรณีประกาศรับรองสถานะให้ "เยรูซาเล็ม" เป็นเมืองหลวงของอิสราเอลอย่างเป็นทางการ ด้วยคะแนนท่วมท้น 128 ชาติ งดออกเสียง 35 ชาติ และสนับสนุนสหรัฐเพียง 9 ชาติ ไม่เพียงสะท้อนท่าทีของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ต่อนโยบายที่ส่งผล "จุดไฟในตะวันออกกลาง" ของประธานาธิดบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เท่านั้น
ทว่าท่าทีของไทยก็ได้รับการกล่าวขวัญถึง เพราะร่วมโหวตอยู่ใน 128 ชาติที่คัดค้านสหรัฐด้วย แม้ไทยจะมีสถานะเป็น "มหามิตร" ของสหรัฐมาเนิ่นนานก็ตาม
ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดัง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นในเรื่องนี้่ ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีกับการตัดสินใจของรัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศของไทย ที่ออกเสียงสนับสนุนข้อเสนอของสหประชาชาติ ที่ไม่เห็นด้วยกับการให้อิสราเอลย้ายเมืองหลวงไปที่เยรูซาเล็ม เพราะการประกาศท่าทีของสหรัฐในการสนับสนุนให้อิสราเอลกระทำเช่นนั้น จะเป็นการสร้างความขัดแย้งครั้งใหญ่ในตะวันออกกลาง เนื่องจากในปัจจุบัน ประชาคมระหว่างประเทศได้ยอมรับให้เยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของรัฐปาเลสไตน์
เหตุนี้เอง การประกาศนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ จึงเป็นการจุด "ไฟสงคราม" ในตะวันออกกลางอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะยิ่งทำให้ความขัดแย้งในภูมิภาคมีความซับซ้อนและรุนแรงมากขึ้น แม้ผู้นำสหรัฐจะออกมาข่มขู่ว่า ประเทศที่ออกเสียงค้านสหรัฐ อาจถูกตัดความช่วยเหลือจากสหรัฐในอนาคต แต่ในปัจจุบันก็ชัดเจนแล้วว่า รัฐบาลหลายๆประเทศในเวทีโลกไม่ได้เกรงกลัวต่อคำขู่เช่นนั้น เพราะความช่วยเหลือระหว่างประเทศในปัจจุบันไม่ได้มีมาจากสหรัฐแต่เพียงแหล่งเดียว ประกอบกับหลายประเทศในปัจจุบันก็สามารถสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจให้แก่ตนเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสหรัฐเหมือนในอดีต และยังไม่มีทางเลือกอื่นๆ ให้เลือกมากกว่าสหรัฐด้วย
คำถามที่แหลมคมอย่างยิ่งของอาจารย์สุรชาติ หลังสมัชชาใหญ่สหประชาชาติมีมติเช่นนี้ ก็คือ สถานะความเป็น "คนกลาง" ของสหรัฐในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ต่างๆ ของโลก ยังมีเหลืออยู่หรือไม่
"การประกาศสนับสนุนอิสราเอลของสหรัฐในครั้งนี้ ส่งผลอย่างมากว่า สหรัฐจะยังมีเครดิตเหลือให้เป็น 'คนกลาง' ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในยุคของประธานาธิบดี จิมมี่ คาร์เตอร์ หรือไม่ และนโยบายเช่นนี้จะยิ่งทำให้เครดิตของสหรัฐในตะวันออกกลางและในหมู่ประเทศมุสลิมลดลงไปอีก ขณะเดียวกันก็จะเป็นโอกาสให้รัสเซียซึ่งกำลังกลับเข้ามามีบทบาทในตะวันออกกลาง อาจสามารถขยายบทบาทได้มากขึ้นด้วย"
คำถามต่อมาก็คือ ปรากฏการณ์ครั้งนี้กำลังบ่งบอกอะไรกับชาวโลก รวมถึงประเทศไทย
ศ.ดร.สุรชาติ อธิบายว่า สัญญาณที่ชัดเจนก็คือ นโยบายของรัฐบาลอเมริกันภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์ กำลังสร้างปัญหาและความผันผวนให้แก่สถานการณ์โลกมากกว่าที่เราคิด เพราะต้องตระหนักว่า ทรัมป์เข้ามาบริหารประเทศเพียงแค่ 1 ปี และเป็น 1 ปีที่เราเห็นความไม่แน่นอนของนโยบายของสหรัฐ และโลกต้องอยู่กับทรัมป์อีก 3 ปี
ขณะเดียวกัน ปรากฏการณ์นี้ยังสะท้อนให้เห็นถึง "การข่มขู่แบบนักธุรกิจใหญ่" ที่ต้องการใช้เศรษฐกิจเป็นเครื่องมือในการบังคับทิศทางการเมืองในเวทีสหประชาชาติ ซึ่งขีดความสามารถของสหรัฐในบริบทนี้ไม่มีมากเช่นในอดีตอีกต่อไปแล้ว และหากสหรัฐตัดสินใจที่จะตัดความช่วยเหลือแก่ประเทศต่างๆ ที่คัดค้านสหรัฐตามที่ประกาศไว้จริงๆ ก็จะส่งผลต่อสถานะทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐเอง เพราะหลายประเทศที่ออกเสียงตรงข้ามหรือออกเสียงสนับสนุนสหประชาชาตินั้น เป็นประเทศที่มีความใกล้ชิดกับสหรัฐอย่างมากทั้งในทางการเมืองและความมั่นคง
"ถ้าทรัมป์ทำเช่นนั้นจริง ก็จะยิ่งทำให้สหรัฐโดดเดี่ยวตนเองในเวทีโลกมากขึ้น และสหรัฐต้องไม่ลืมว่า มหาอำนาจใหญ่ในเวทีโลกปัจจุบันไม่ได้มีแต่สหรัฐเท่านั้น" นักวิชาการด้านความมั่นคง ระบุ
ศ.ดร.สุรชาติ กล่าวด้วยว่า การออกเสียงของประเทศไทยในครั้งนี้เป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะไทยสามารถงดออกเสียงได้ ดังเช่นอีก 35 ประเทศที่มีความใกล้ชิดกับสหรัฐ แต่รัฐบาลไทยก็ตัดสินใจเลือกที่จะแสดงท่าทีอย่างชัดเจน แม้จะขัดแย้งกับสหรัฐก็ตาม ขณะเดียวกันก็เป็นการแสดงให้ประชาคมมุสลิมในประเทศไทยเห็นว่า ทิศทางของรัฐบาลไม่ได้เป็นไปทางเดียวกับสหรัฐเสมอไป
---------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ : มุสลิมไทยเฮรับมติยูเอ็น "ทรัมป์"โมฆะปม"เยรูซาเล็ม"