กลุ่มแลนด์ วอชท์ มองคลังปรับเพดานภาษีที่ดินใหม่ ไม่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำตามเป้าหมาย
กลุ่มแลนด์ วอชท์ มองคลังปรับเพดานภาษีที่ดินใหม่ ไม่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ตามเป้าหมายของกฎหมาย โดยเฉพาะอัตราที่ดินรกร้างยิ่งต่ำ เสนอลดเพดานภาษีบ้านมากกว่า 3 ล้านบาทต้องจ่าย หนุนทำ Big Data ใครถือครองเท่าไหร่ ข้อมูลโปร่งใส เปิดพื้นที่ตรวจสอบ
สืบเนื่องจากกรณีที่ทางคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. .... ได้ประกาศปรับลดเพดานอัตราภาษีที่ดินลงจากเดิมร้อยละ 40 พร้อม (อ่านประกอบ: ก.คลังปรับลดเพดานภาษีที่ดินในกม.ใหม่ลง 40% บ้านหลังแรกไม่เกิน 20 ล. ไม่ต้องจ่าย)
ล่าสุดนายสุระแก้วเกาะสะบ้า ผู้ประสานงานกลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน หรือ Land Watch Thai ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงประเด็นดังกล่าวว่า ตามหลักการของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ควรให้คนทั้งประเทศมีส่วนร่วมในการกระจายทรัพยากร คนที่มีน้อยก็ควรจ่ายน้อย คนที่ไม่มีก็ไม่ควรจ่าย เช่น การเปลี่ยนเพดานที่อยู่ที่อาศัยหลังแรกที่ไม่ต้องจ่ายภาษีจากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 50 ล้านบาท ลงมาที่ 20 ล้านบาท แต่คนที่มีบ้านราคา 20 ล้านบาท ก็เป็นคนส่วนน้อยอยู่ดี ถ้าจะเสนอ กฎหมายควรกำหนดเพดานไว้ที่ 3 ล้านบาท เพราะว่า ตามข้อมูลตามสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า 99% ของคนในประเทศมีบ้านที่ราคา 3 ล้านบาท แสดงว่าถ้าปรับมาที่ราคาเท่านี้ คนทุกคนจะมีส่วนในการจ่ายภาษีมากขึ้น
ข้อเสนอที่กำหนดเพดาน 3 ล้านบาทจะเป็นภาระสร้างความเดือนร้อนให้คนไทยหรือไม่ นายสุระ กล่าวว่า ถ้าคนที่มีบ้านตั้งแต่ 3 ล้านบาทขึ้นไป สมมติ 3.5 ล้านบาท คนนั้นต้องจ่ายภาษีตามอัตราแค่ประมาณ 50 บาท หรือถ้ามีบ้านราคา 5 ล้านบาท ก็จ่ายภาษีแค่ 200 บาทเท่านั้นเอง ซึ่งค่อนข้างยุติธรรม และสุดท้ายภาษีที่ดินที่เราจ่าย ก็จะกลับมาใช้ในระบบสาธารณูปโภคในท้องถิ่นตัวเองอยู่ดี เพราะฉะนั้นเวลาปรับเพดานลดมาตามข่าวก็ไม่มีนัยสำคัญอะไร
ส่วนการปรับลดเพดานลงมา 40% เพื่อลดภาระได้จริงหรือไม่นั้น นายสุระ กล่าวว่า การปรับอัตราภาษีลงมาอย่างละ 40% จะทำให้คนแบกรับภาระมากขึ้นด้วยซ้ำ เช่นเรื่องภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่เดิมกำหนดไว้ที่ร้อยละ 2 และจะเพิ่มร้อยละ 0.5 ทุก3 ปี แต่ไม่เกินร้อยละ 5 แต่วันนี้กลับปรับลดมาเหลือที่อัตราเพดานสูงสุดที่ร้อยละ 3 และกำหนดเก็บปีแรก 1.2 เพิ่มทุก 3 ปีที่ร้อยละ 0.3 พอถูกขนาดนี้ กลายเป็นว่า ภาษีไม่เป็นเงื่อนไขในคนที่ถือครองที่ดินว่างเหล่านี้ ปล่อยที่ดินออกมา กลายเป็นว่าจุดประสงค์ของภาษีแค่เพื่อให้รัฐ ให้ท้องถิ่นมีรายได้เท่านั้น
“คุณเก็บภาษีที่ดินที่รกร้างว่างเปล่าในอัตราที่ต่ำขนาดนี้ ขณะที่อัตราราคาของที่ดินกลับเพิ่มขึ้นทุกปีปีละ 5% ถามว่าภาระเท่านี้คนรวยที่มีที่ดินมหาศาลก็คงยังอยากถือที่ดินเอาไว้ เมื่อไม่สามารถทำให้การถือครองที่ดินหยุดการกระจุกตัวลงได้ แล้วคนที่มีที่ดินนิดๆ หน่อย ทำเกษตรกลายเป็นต้องจ่ายภาษีก็เกิดเป็นภาระ” นายสุระ กล่าว และว่า คนที่ไม่มีที่ดินก็ไม่สามารถเข้าถึงที่ดินได้ เพราะราคาที่ดินเพิ่มทุกปี ดังนั้นการเก็บในอัตราแค่นี้จึงเป็นภาระ ถ้ารัฐกล้าๆ หน่อยก็ควรเก็บไปทีละ 6-7% เพราะจะทำให้ราคาที่ดินลดลง คนที่ถือครองไว้จะขายออก ส่วนอัตราภาษีในด้านอื่นก็ถือว่ายังรับได้ โดยเฉพาะการเริ่มมีการจัดเก็บอัตราภาษีก้าวหน้า แต่อัตราก้าวหน้าก็ยังน่ากังวล
(การแสวนาการสร้างความรู้ความเข้าใจและการรับฟังความคิดเห็นร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพ.ศ. ...." เมื่อวันที่ 19ธ.ค.60)
นายสุระ กล่าวด้วยว่า ในเวทีรับฟังความคิดเห็นเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. ผ่านมาว่า กรรมาธิการพิจารณาร่างฯ พยายามพูดเรื่องการการจัดเก็บภาษีตามกฎหมายใหม่จะเพิ่มเงินให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งก็เห็นด้วย แต่หน้าที่สำคัญของกฎหมายภาษีที่ดินน่าจะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ แต่หากดูตอนนี้ก็ยังไม่เห็นว่าจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ ประเด็นที่สอง หากรัฐอยากกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น รัฐต้องให้ทั้งอำนาจและเงินลงไปด้วย แต่วันนี้เราให้เงินเพิ่มแต่ให้อำนาจของ อปท.ลดลง
“หน้าที่สำคัญของรัฐอย่างหนึ่ง คือการกระจายทรัพยากร เพื่อให้ทรัพยากรกระจุกตัวเกินไป วันนี้รัฐก็ดูเหมือนจะเข้าใจแล้วว่า ทรัพยากรของประเทศเรากระจุกตัวอยู่มาก มีปัญหาความเหลื่อมล้ำที่สูง ซึ่งกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ได้รับการพิสูจน์มาหลายๆ ประเทศทั่วโลกว่า สามารถที่จะลดความเหลื่อมล้ำได้จริง แต่วันนี้ไทยเลือกที่สนับสนุนให้ อปท.มีอำนาจทางการคลังมากขึ้น ซึ่งตรงนี้ถือเป็นจุดที่ผิด ในส่วนที่อยากหนุนคือเรื่องการจัดทำ Big Data ว่าใครครอบครองที่ดินเท่าไร ซึ่งกรรมาธิการฯก็มีแนวคิดเรื่องนี้ ถือเป็นความคิดที่สนับสนุน เนื่องจากปัจจุบันหากไปขอข้อมูลที่ดินจากกรมที่ดินก็จะให้ไม่ได้เพราะถือว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งถ้าสามารถทำได้ก็จะได้นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์และลดความเหลื่อมล้ำได้นั่นเอง ” นายสุระกล่าว.
ทั้งนี้ กลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน หรือ Land Watch Thai เป็นกลุ่มภาคประชาสังคมที่ทำงานติดตามนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่ดิน โดยมีเป้าประสงค์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมเท่าเทียมร่วมกับภาคประชาชนหลากหลายกลุ่มซึ่งได้รับความเดือนร้อนจากปัญหาที่ดิน