ผลวิจัยชี้นักมวยเด็กกระทบสมอง ขึ้นชกนาน 5 ปี ส่งผลไอคิวต่ำเท่าเรียนสูงสุดแค่ม.ปลาย
ผลวิจัยชี้นักมวยเด็กถูกกระทบทางสมอง ส่งผลไอคิวต่ำกว่าเด็กทั่วไปถึง 10 คะแนน เทียบเท่าเรียนสูงสุดแค่ม.ปลาย ระยะยาวส่งผลอัลไซเมอร์ พากินสัน ขณะที่อเมริกาชี้เป็นกีฬาใช้แรงงานเด็กขั้นรุนแรง ส่งผลไทยติดอันดับเทียร์ 3 ด้านการค้ามนุษย์ หนุนแก้กฎหมายคุ้มครองมวยเด็ก คุมเข้มกติกาต่ำกว่า 15 ห้ามกระทบศีรษะตามหลักสากล
เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ที่อิมแพ็ค ฟอรัม เมืองทองธานี ในงานแถลงข่าวส่งเสริมกีฬามวยไทยเด็ก ยุติมวยเด็กหาเงิน โดยโครงการศูนย์รังสีวินิจฉัยก้าวหน้า (ไอแมค) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ศ.พญ.จิรพร เหล่าธรรมทัศน์ ประธานโครงการไอแมค กล่าวถึงกีฬามวยไทยถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมและเป็นการออกกำลังกาย ซึ่งบางกลุ่มได้ยึดมวยไทยเป็นอาชีพเพื่อผลตอบแทน ปัจจุบันมีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีเข้ามาสู่วงการมวยไทยตั้งแต่ยังเล็กเป็นจำนวนมาก คาดว่ามีประมาณ 2-3 แสนคนทั่วประเทศ ด้วยประสบการณ์ที่น้อยและกติกาที่เน้นความรุนแรงเด็กย่อมเสี่ยงต่อการบาดเจ็บโดยเฉพาะการบาดเจ็บทางสมอง ซึ่งเป็นการบาดเจ็บภายในทำให้หลายคนไม่รู้ตัวและเกิดการสะสมมากขึ้น
ศ.พญ.จิรพร กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยและติดตามกลุ่มนักมวยเด็กเปรียบเทียบกับเด็กทั่วไปที่มีเศรษฐสถานะใกล้เคียงกัน พบว่า การชกมวยในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี มีผลต่อสมองของเด็กดังนี้ 1. มีเลือดออกในสมองจากการถูกชกหัว ทำให้มีธาตุเหล็กสะสมซึ่งเป็นสารพิษต่อเนื้อสมอง 2. เซลสมอง และใยประสาทฉีกขาด และถูกทำลาย ทำให้สมองไม่สามารถสั่งการได้ตามปกติ 3. การทำงานด้านทักษะการใช้กล้ามเนื้อและมือด้านที่ไม่ถนัดของนักมวยเด็กดีกว่าเด็กทั่วไป เพราะผ่านการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง 4. การทำงานของสมองด้านความจำลดลง สามารถนำไปสู่อาการบกพร่องทางปัญญาหรือภาวะสมองเสื่อมได้ ระดับสติปัญญา(IQ) ของเด็กที่ชกมวยน้อยกว่าของเด็กทั่วไปเกือบ 10 คะแนน และยังลดลงอย่างต่อเนื่องตามระยะเวลาการชก โดยระดับไอคิวของเด็กทั่วไปในประเทศไทยอยู่ระหว่าง 90-110 ซึ่งสามารถเรียนจบระดับอนุปริญญาหรือปริญญาตรี ส่วนนักมวยเด็กที่ขึ้นชกมากกว่า 5 ปีมีไอคิว 84 คะแนน ซึ่งคะแนนระหว่าง 80-89 จะสามารถเรียนจบระดับมัธยมปลายเท่านั้น
“ผลการบาดเจ็บของสมองนักมวยเด็กส่งผลต่อการศึกษาและการดำรงชีวิตของเด็กในอนาคต หากเด็กเหล่านี้โตขึ้นไปแล้วไม่ได้เข้าสู่วงการมวยจะกลับเข้าสู่สังคมและใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไปได้อย่างไร จะเรียนหนังสือหรือหางานทำอย่างไร และประสิทธิภาพในการดำรงชีวิตกับคุณภาพชีวิตจะเป็นอย่างไรจากสมองที่บอบช้ำพร้อมกับระดับสติปัญญาที่ต่ำกว่าคนทั่วไป อีกทั้งอาจส่งผลให้เกิดโรคทางระบบประสาท เช่นอัลไซเมอร์ หรือพากินสัน (โรคสั่น) ในอนาคตซึ่งจะเป็นภาระต่อคนรอบข้างที่เกี่ยวข้องได้”ศ.พญ.จิรพร กล่าว
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก (CSIP) กล่าวว่า ปัจจุบันการชกมวยเด็กเป็นลักษณะมวยอาชีพ คือมีการได้รับค่าตอบแทน ซึ่งนับเป็นการใช้แรงงานเด็กที่ผิดกฎหมาย โดยกระทรวงแรงงานของสหรัฐอเมริการะบุว่า มวยเด็กเป็นการทารุณกรรมหรือเป็นการใช้แรงงานเด็กในขั้นเลวร้ายที่สุด และเป็นหนึ่งในเหตุผลหลักที่ทำให้ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในระดับ Tier 3 ด้านการค้ามนุษย์
"ในต่างประเทศมีการรณรงค์และแก้ไขกฎหมายด้านการกีฬาในต่างประเทศ US Soccer Federation โดยออกกฎหมายในปี 2558 ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 11 ปี โหม่งลูกด้วยศีรษะ อย่างไรก็ตามเด็กไทยกว่าแสนคนเริ่มขึ้นชกมวยไทยตั้งแต่อายุ 4-16 ปี ส่วนใหญ่เป็นการชกที่ฝ่าฝืนพ.ร.บ.กีฬามวย ปี 2542 โดยนักมวยเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ส่วนใหญ่ไม่ได้ลงทะเบียนกับการกีฬาแห่งประเทศไทยตามมาตรา 29 ชกบนเวทีที่ไม่ได้ขออนุญาตและไม่มีการใช้อุปกรณ์เสริมความปลอดภัยตามมาตรา 26 ซึ่งหลายหน่วยงานเริ่มตระหนักต่อปัญหา"
รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ยขณะนี้ คณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้จัดทำร่างแก้ไขพ.ร.บ. กีฬามวย ปี 2542 เพื่อกำหนดให้มวยเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีเป็นการแข่งขันที่ต้องมีความปลอดภัย เพื่อรักษาวัฒนธรรมไทย เพื่อฝึกฝนสู่ความเป็นเลิศทางกีฬาเท่านั้น โดยต้องจัดการแข่งขันตามมาตรฐานที่กำหนดของสมาคมมวยไทยสมัครเล่นและ IFMA (International Federation of Muaythai Amateur) ที่กำหนดระเบียบการแข่งขันไว้ว่า เด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี ต้องแข่งขันแบบไม่ปะทะคือการแข่งไหว้ครู อายุ 10-11 ปี แข่งขันแบบปะทะกันได้ แต่ไม่ชกหัว อายุ 12-13 ปี กติกาไม่อนุญาตให้กระทำที่ศีรษะแบบรุนแรง เพื่อให้วงการกีฬาสากลยอมรับมวยไทยว่ามีความศิวิไลซ์เพียงพอที่จะเป็นกีฬาโอลิมปิกได้
ส่วนนายสมชาย เจริญวัชรวิทย์ นายกสมาคมกีฬามวยอาชีพแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เห็นด้วยที่เด็กต่ำกว่า 10 ปี จะไม่มีการปะทะ เป็นเพียงการนำเสนอแม่ไม้มวยไทยเท่านั้น ส่วนเด็ก 12-15 ปี ควรมีอุปกรณ์ป้องกัน ซึ่งคิดว่าการแก้ไขกฎหมายไม่น่าจะมีปัญหาเพราะเป็นประโยชน์ต่อประเทศเพื่อให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ