"เกมไอโอ"หลังบอมบ์ยะลา-หาดใหญ่... เจรจาดับไฟใต้ตกลงใครเสียประโยชน์?
แม้หลายเสียงจะสรุปตรงกันว่า เหตุระเบิดครั้งรุนแรงในย่านธุรกิจกลางเมืองหาดใหญ่และยะลามาจากปัญหาเรื่องการ "เจรจา" กับกลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน และอาจโยงไปถึงขบวนการค้ายาเสติดในพื้นที่ด้วย แต่สำหรับผมแล้วยังมีคำถามคาใจอีกหลายคำถาม
ลองตั้งประเด็นดูเล่นๆ จะพบข้อสังเกตที่น่าสนใจดังนี้
1.มีการวิเคราะห์ว่าฝ่ายรัฐ (อาจจะเป็น ศอ.บต.หรือหน่วยอื่น) ไปเจรจากับแกนนำขบวนการผิดกลุ่ม คือไปเจรจากับกลุ่มที่ไม่ใช่ "ตัวจริง" ที่สร้างสถานการณ์รุนแรงอยู่ในพื้นที่ขณะนี้ ฝ่ายที่เป็น "ตัวจริง" จึงต้องก่อเหตุเพื่อส่งสัญญาณให้ได้รับรู้ว่าไปคุยผิดกลุ่มแล้ว...อะไรทำนองนั้น
ข้อสังเกตคือ หากเป็นการเจรจาผิดกลุ่ม แล้ว "ตัวจริง" เดือดร้อนอะไร ถ้าเดือดร้อนย่อมแสดงว่า "ตัวจริง" ก็อยากเจรจาใช่หรือไม่ แต่กลุ่มที่รัฐเชื่อว่าเป็น “ตัวจริง” คือ บีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต มีจุดยืนไม่เจรจา ขณะที่ขบวนการคนหนุ่มที่เคลื่อนไหวก่อเหตุอยู่ในพื้นที่ ก็มีข่าวมาตลอดว่าพวกเขาไม่ต้องการเจรจา เพราะต้องการ "เอกราช" เท่านั้น
2.มีการวิเคราะห์ว่ากลุ่มที่อ้างว่าเป็น "ตัวจริง" ไม่พอใจกลุ่มอื่้นๆ ที่ไปเจรจากับตัวแทนรัฐไทย (ซึ่งมีทั้งเจรจากับทหาร ศอ.บต. สมช. หรือหน่วยอื่น) เพราะยังไม่ถึงเวลาเจรจา จึงต้องวางระเบิดเพื่อตอกย้ำประเด็นนี้
ข้อสังเกตคือ ในเมื่อ "ตัวจริง" ไม่เจรจาอยู่แล้ว และการเจรจากับแกนนำกลุ่มต่างๆ ก็มีมาตลอดหลายปี (ซึ่งรู้ๆ กันอยู่ว่าเป็นการเจรจากับกลุ่มขบวนการรุ่นเก่าที่ไม่ได้มีส่วนกับสถานการณ์ในพื้นที่ปัจจุบัน) แล้วเหตุใดกลุ่มที่อ้างว่าเป็น "ตัวจริง" จึงต้องลงมือก่อเหตุรุนแรงครั้งใหญ่เพื่อตอบโต้ในช่วงนี้ด้วย
ที่ผ่านมามีหลายครั้งที่ปรากฏข่าว "พบปะ-พูดคุย-เจรจา" หลุดออกมา เช่น กรณีของ พล.อ.ขวัญชาติ กล้าหาญ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ในสมัยรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช ปี 2551 ซึ่งมีภาพถ่ายชัดเจนที่อินโดนีเซีย หรือกรณีการแถลงข่าวหยุดยิงของ "กลุ่มใต้ดินรวมภาคใต้ของประเทศไทย" เมื่อวันที่ 17 ก.ค.2551 ซึ่งเชื่อว่าเป็น "กลุ่มกำมะลอ" จากการประสานงานของ พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็เป็นผลจากการพูดคุยเจรจาเช่นกัน แต่กลับไม่มีเหตุรุนแรงขนาดใหญ่ดังที่เคยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 31 มี.ค.2555
3.มีการวิเคราะห์ว่าอาจมีการผสมโรงก่อเหตุรุนแรงโดยขบวนการค้ายาเสพติด เพราะถูกกวาดล้างอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา
ข้อสังเกตคือ การวางระเบิดย่านธุรกิจกลางเมืองหาดใหญ่ช่วงใกล้เทศกาลสงกรานต์ ย่อมทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหนีหาย ทั้งๆ ที่บรรยากาศการท่องเที่ยวที่คึกคักต่างหากจึงจะทำให้ยาเสพติดทั้งยาบ้า ยาอี ยาไอซ์ ขายดีเป็นพิเศษ แล้วเหตุใดขบวนการค้ายาจึงเลือกก่อเหตุเพื่อตัดช่องทางหากำไรของตัวเอง หรือคิดว่าคุ้มเพื่อแลกกับการดิสเครดิตรัฐและฝ่ายความมั่นคง (ทั้งๆ ที่รัฐก็ไม่ค่อยจะมีเครดิตสักเท่าไหร่)
แหล่งข่าวซึ่งเป็นนายทหารประจำการและคลุกคลีอยู่กับงานพูดคุยกับกลุ่มแนวร่วมของขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน ให้ข้อมูลว่า การก่อเหตุร้ายเป็น "งาน" ของกลุ่มขบวนการฯ หากมีจังหวะ โอกาส ความได้เปรียบ และไม่เสียมวลชนของตนเองก็จะลงมือทันที ไม่น่าจะเกี่ยวกับการตอบโต้เรื่องการเจรจาเป็นด้านหลัก
แต่ประเด็นที่ต้องยอมรับก็คือ ผลจากเหตุระเบิดทั้งหาดใหญ่และยะลาทำให้ปมเงื่อนเรื่องการ "เจรจา" ถูกยกขึ้นมาพูดจาในทางสาธารณะ และมี "บางคน-บางหน่วย" ฉวยใช้ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร หรือ "ไอโอ" (Information Operation) ล้มกระบวนการเจรจาหรือพูดคุยสันติภาพที่ผ่านมาซึ่งมีอยู่จริง
คำถามที่น่าสนใจก็คือ ไม่ว่าเบื้องหลังของเสียงระเบิดจะมาจากเรื่องการเจรจาหรือไม่ แต่การเจรจาได้ถูกหยิบยกขึ้นมาอ้างว่าเป็นสาเหตุประการหนึ่งไปแล้วอย่างจงใจผ่านปฏิบัติการไอโอ จึงน่าคิดว่า "ใคร" คือผู้เสียประโยชน์จากการเจรจาที่ผ่านมา แล้วก็นำเหตุระเบิดมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการดิสเครดิตการเจรจาดังกล่าว
หากไล่เรียงการเจรจา หรือเรียกให้ถูกต้องว่า "พูดคุยสันติภาพ" ซึ่งทั้งหมดดำเนินไปอย่างไม่เป็นทางการ ปฏิเสธไม่ได้ว่าจังหวะก้าวของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. ที่ไปพบปะกับกลุ่มที่เรียกว่า "ต้มยำกุ้ง" ซึ่งหมายถึงผู้ประกอบการและแรงงานจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไปทำงาน "ร้านต้มยำ" อยู่ในมาเลเซีย ซึ่งมีหลายพันร้าน และมีแรงงานในระบบนับแสนคน ส่งผลสะเทือนอย่างรุนแรงในระดับมากถึงมากที่สุด
เพราะ "แรงงานต้มยำ" ถูกหน่วยงานความมั่นคงไทยตีตรามาตลอดว่าเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการแบ่งแยกดินแดน เช่น ก่อเหตุร้ายแล้วหนีไปทำงานร้านต้มยำ หรือเดินทางเข้า-ออกเพื่อปฏิบัติการความรุนแรงโดยมีเครือข่ายร้านต้มยำคอยสนับสนุนเงินทุนและสถานที่หลบซ่อน
ทว่าในความรู้สึกของคนสามจังหวัด สถานะของ "แรงงานต้มยำ" เป็นดั่ง "วีรบุรุษ" เพราะต้องไปลำบากตรากตรำขายแรงงานในต่างประเทศเพื่อส่งเงินกลับบ้านมาเลี้ยงดูครอบครัว ขณะที่ในเมืองไทยโดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนใต้ไม่มีงานให้ทำ ไม่มีตำแหน่งงานรองรับมากพอสำหรับชายชาวมลายูมุสลิม
พ.ต.อ.ทวี ยืนยันว่าสิ่งที่เขาทำไม่ใช่การเจรจากับใคร แต่เป็นการเข้าไปช่วยเหลือโดยก้าวข้าม "ความหวาดระแวง" ด้วยการนำธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยไปออกเงินกู้แบบไม่มีเงื่อนไขเพื่อช่วยเหลือลดภาระรายจ่ายเรื่องค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงาน หรือ "เวิร์ค เพอร์มิต" ของบรรดาแรงงานต้มยำ
ว่ากันว่าโครงการของ พ.ต.อ.ทวี "ได้ใจ" คนในพื้นที่ไม่น้อย ซึ่งแน่นอนว่าบางส่วนย่อมเป็น "แนวร่วม" หรือ "มวลชน" ของขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนด้วย
ฉะนั้นหากขบวนการฯลอบวางระเบิดครั้งใหญ่ด้วยเหตุผลนี้ น่าจะมีตรรกะเหตุผลฟังได้มากกว่า...
แต่หากพิจารณาลึกลงไป ผู้ที่เสียประโยชน์จากการ "ได้ใจแรงงานต้มยำ" ไม่ได้มีแต่ฝ่ายขบวนการ แต่ยังมี "ฝ่ายการเมือง" ในพื้นที่ด้วย ต้องไม่ลืมว่า แรงงานเหล่านี้มีร่วมๆ 2 แสนคน แม้จะไม่ได้กลับมาเลือกตั้งทุกคนในเวทีการเมืองทุกระดับ แต่ครอบครัวของพวกเขาก็อยู่ในพื้นที่และมีสิทธิเลือกตั้ง คนกลุ่มนี้จึงอาจเป็นฐานเสียงสำคัญในการเลือกตั้งทุกระดับในอนาคต
ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็มีข่าวกระเส็นกระสายมาตลอดว่า ความเคลื่อนไหวเรื่องการเจรจากลายเป็นปม "ขัดแย้งกันเอง" ของหน่วยงานความมั่นคงด้วยกัน บางหน่วยไม่ค่อยพอใจบทบาทของ ศอ.บต.ที่ออกจะ "ออฟไซด์" ไปมากทีเดียว
เพราะฐานความเชื่อของบางหน่วยยังคงชัดเจนว่า "กลุ่มต้มยำกุ้ง" สนับสนุนขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน และให้ทุนสนับสนุนการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ ประเด็นอ่อนไหวนี้แม้แต่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็ยังเคยหลุดปากมาแล้วสมัยเป็นนายกรัฐมนตรี
ฉะนั้นเมื่อเกิดระเบิดตูมตาม (ไม่ว่าใครจะเป็นคนก่อก็ตาม) บางฝ่ายก็รีบออกมาปรามเรื่องการเจรจา ทำให้การพูดคุยไม่ว่าระดับใดทั้งที่ผ่านมาและกำลังดำเนินอยู่ต้องหยุดทั้งหมด แล้วภารกิจนี้ก็จะถูกดึงกลับไปที่ "บางหน่วย" เพื่อดำเนินการในทางลับต่อไป ใช้บุคลากรและงบประมาณจำนวนเท่าใดไม่มีใครเคยรู้
หากพลิกดูนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557 ซึ่งจัดทำโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และเพิ่งผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาเมื่อไม่นานนี้ ในข้อ 8 ที่ว่าด้วยการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมและเอื้อต่อการพูดคุยในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง... ใน (2) เขียนไว้ชัดว่า "ส่งเสริมความต่อเนื่องของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพกับกลุ่มบุคคลที่มีความเห็นและอุดมการณ์แตกต่างจากรัฐที่เลือกใช้ความรุนแรงต่อสู้กับรัฐ..."
พูดง่ายๆ คือกรอบนโยบายดับไฟใต้ที่ทุกหน่วยต้องถือปฏิบัติร่วมกันไม่ได้ห้ามการ "พูดคุยเพื่อสันติภาพ" หรือ peace talk (ซึ่งไม่มีการต่อรอง และเป็นคนละอย่างกับการเจรจาสันติภาพ หรือ peace negotiation ที่จะมีการต่อรอง) ยิ่งการพบปะพูดคุยที่ผ่านมาทำแล้วกลุ่มขบวนการฯเดือดร้อนถึงขนาดต้องวางระเบิดตอบโต้ครั้งใหญ่ อาจอนุมานได้หรือไม่ว่ากำลัง "ตีถูกจุด" หรือ "เดินถูกทาง"
แต่เหตุใดบางคน บางหน่วยจึงแสดงท่าทีขัดขวาง...เป็นเรื่องที่น่าคิดไม่น้อย!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ความเสียหายจากเหตุระเบิดที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา (ภาพโดย สุเมธ ปานเพชร)