คน กทม. เลือกขนมเป็นของฝาก พบไม่ถึงครึ่งดูฉลากวันเดือนปีที่หมดอายุ สถานที่ผลิต
บ้านสมเด็จโพลล์ ร่วมกับศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยผลสำรวจ "คนกรุงฯ เลือกซื้ออะไรเป็นของฝาก หลังจากท่องเที่ยว" พบน้ำพริกหนุ่ม แหนมเนือง ขนมเปี๊ยะ ขนมเค้ก ทองหยิบทองหยอด ปลาหมึกแห้ง ยอดนิยม แต่เมื่อซื้อของฝากไม่ถึงครึ่งดูฉลาก หรือสินค้าระบุฉลาก ผลิตที่ไหน วันหมดอายุเมื่อไหร่
วันที่ 20 ธันวาคม บ้านสมเด็จโพลล์ ร่วมกับศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยผลสำรวจ "คนกรุงฯ เลือกซื้ออะไรเป็นของฝาก หลังจากท่องเที่ยว" ณ ห้องประชุม สำนักงานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่าผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อการซื้อของฝากจากการท่องเที่ยวของคนกรุงเทพมหานคร การซื้อของฝากให้กับญาติสนิท มิตรสหาย และของฝากประเภทใดที่มีความนิยมในการเลือกซื้อ ซึ่งมีการแบ่งแยกตามแต่ละภาคของประเทศไทย รวมไปถึงการตรวจสอบฉลากเรื่องของวันหมดอายุ สถานที่ผลิต ซึ่งผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อการซื้อของฝากจากการท่องเที่ยวของคนกรุงเทพมหานคร โดยทำการสำรวจเมื่อวันที่ 18-30 พฤศจิกายน 2560 จำนวน 1,271 ตัวอย่าง พบมีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ คิดว่าจะซื้อของฝากจากการท่องเที่ยว อันดับหนึ่งคือ ขนม ของทานเล่น ร้อยละ 26.6 อันดับที่สอง คือ อาหารแห้ง ร้อยละ 26.0 อันดับที่สาม คือของชำร่วย พวงกุญแจ ฯลฯ ร้อยละ 24.4 อันดับที่สี่ คือ เครื่องแต่งกาย ร้อยละ 23.0 และอันดับที่ห้า คือ ผักสด ผลไม้สด ร้อยละ 20.9
ของฝากจากภาคเหนือ อันดับแรกคือน้ำพริกหนุ่ม ร้อยละ 36.1 อันดับที่สองคือแคบหมู ร้อยละ 29.7 อันดับที่สามคือหมูยอ ร้อยละ 25.0 อันดับที่สี่คือไส้อั่ว ร้อยละ 24.6 และอันดับที่ห้าคือใบชา ร้อยละ 18.3
ของฝากจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อันดับแรกคือแหนมเนือง ร้อยละ 34.7 อันดับที่สองคือหมูยอ ร้อยละ 29.4 อันดับที่สามคือกุนเชียง ร้อยละ 26.9 อันดับที่สี่คือแหนม ร้อยละ 19.7 และอันดับที่ห้าคือน้ำพริก ร้อยละ 18.3
ของฝากจากภาคตะวันออก อันดับแรกคือขนมเปี๊ยะ ร้อยละ 29.1 อันดับที่สองคือข้าวหลาม ร้อยละ 27.5 อันดับที่สามคืออาหารทะเลแห้ง ร้อยละ 26.3 อันดับที่สี่คือผลไม้อบแห้ง ร้อยละ 21.6 และอันดับที่ห้าคือน้ำปลา ร้อยละ 17.5
ของฝากจากภาคกลาง อันดับแรกคือขนมเค้ก ร้อยละ 27.3 อันดับที่สองคือสายไหม ร้อยละ 27.1อันดับที่สามคือโมจิ ร้อยละ 26.8 อันดับที่สี่คือกะหรี่พัฟ ร้อยละ 22.0 และอันดับที่ห้าคือขนมเปี๊ยะ ร้อยละ 21.9
ของฝากจากภาคตะวันตก อันดับแรกคือทองหยิบทองหยอด ร้อยละ 27.7 อันดับที่สองคือขนมหม้อแกง ร้อยละ 27.6 อันดับที่สามคือขนมชั้น ร้อยละ 25.3 อันดับที่สี่คือขนมปังสัปปะรด ร้อยละ 23.4 และอันดับที่ห้าคือมะขามสามรส ร้อยละ 19.7
ของฝากจากภาคใต้ อันดับแรกคือปลาหมึกแห้ง ร้อยละ 32.5 อันดับที่สองคือกะปิ ร้อยละ 29.3 อันดับที่สามคือกุ้งแห้ง ร้อยละ 24.2 อันดับที่สี่คือน้ำพริก ร้อยละ 22.3 และอันดับที่ห้าคือเครื่องแกง ร้อยละ 21.3
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ มีการตรวจดูวันเดือนปีที่หมดอายุ ร้อยละ 44.8 รองลงมาไม่มีการตรวจดู ร้อยละ 35.4 ไม่แน่ใจ ร้อยละ 19.8 และมีการตรวจดูสถานที่ผลิต ร้อยละ 44.8 รองลงมาไม่มีการตรวจดู ร้อยละ 34.2 และไม่แน่ใจ ร้อยละ 21.0
และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ไม่เคยได้รับของฝากที่หมดอายุจากบุคคลอื่น ร้อยละ 54.8 รองลงมาไม่แน่ใจ ร้อยละ 28.8 และเคยได้รับของฝากที่หมดอายุจากบุคคลอื่น ร้อยละ 16.4
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิงห์ กล่าวว่า ผลสำรวจทำให้เห็นว่า คนกรุงเทพฯ เมื่อซื้อของฝากไม่ได้ดูฉลาก หรือสินค้าระบุฉลาก ผลิตที่ไหน วันหมดอายุเมื่อไหร่ ทั้งๆ ที่ควรมีการตรวสอบก่อนซื้อของฝาก
ด้านนางสาวสารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวโดยตั้งข้อสังเกตการซื้อของฝาก พร้อมฝากไปถึงผู้ประกอบการ โดยเฉพาะทางภาคเหนือ น้ำพริกหนุ่ม ควรมีฉลากให้ผู้บริโภคเห็นชัดเจน
"ผลสำรวจพบ มีการดูฉลากไม่ถึงร้อยละ 50 ถือเป็นความเสี่ยงของผู้บริโภค เมื่อเราไม่ดู ผู้ประกอบการก็รู้สึกว่าไม่ต้องทำฉลาก ทั้งๆ ที่ฉลากเป็นสิ่งจำเป็นและผู้บริโภคไม่ควรละเลยโดยเฉพาะของฝากที่เป็นอาหาร"
ทั้งนี้ นางสาวสารี กล่าวถึงเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคปี 2560 ด้วยว่า ปีนี้มีเรื่องร้องเรียนเพิ่มขึ้น ติดอันดับแรก คือ กลุ่มอาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ 3,247 เรื่อง มากกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนว่าคนไทยให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น รองลงมาเป็นสินค้าและบริการทั่วไป บริการสุขภาพ การเงินการธนาคาร ฯลฯ