ศาลสั่ง “วัดไม่มีวิสุงคามสีมา” ทำนิติกรรมไมได้ สำนักพุทธฯกลัววุ่นทั่ว ปท. ส่งตีความ
สำนักพุทธฯเห็นแย้งศาลฎีกา ส่งกฤษฎีกาตีความ “วัดที่ไม่มีวิสุงคามสีมา คือสำนักสงฆ์ แต่ถือเป็นนิติบุคคลได้” จึงสามารถทำธุรกรรม-ฟ้องร้อง เผยข้อมูลวัดทั่วไทย 2.6 หมื่นแห่ง เป็นวัดร้างเกือบ 6 พัน
สืบเนื่องจากกรณีวัดป่ามหาไชย เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนางปทุม อนงคพงศ์พันธุ์ ให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 54196 ต.บ้านเกาะ อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร 6ไร่ ให้ตามหนังสือสัญญายกที่ดินให้สร้างวัด ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยโอนดังกล่าว แต่จำเลยยื่นอุทรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำเลยจึงยื่นฎีกา
ซึ่งศาลฎีกาได้พิจารณาตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 31 บัญญัติว่าวัดมี 2 ประเภท 1.วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา (ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคล) 2.สำนักสงฆ์เมื่อโจทก์หรือวัดฟ้องคดีนี้เพื่อใช้โฉนดที่ดินประกอบการขอพระราชทานวิสุงคามสีมา แสดงให้เห็นว่ายังไม่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา แม้กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศตั้งวัดแล้วก็ตาม จึงยังไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่จะมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ ศาลฎีกาจึงพิพากษาให้ยกฟ้อง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6065//2554)
ทั้งนี้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีความเห็นว่า มาตรา 31 พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.คณะสงฆ์(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 ได้บัญญัติให้วัดมี 2 ประเภท 1.วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา 2.สำนักสงฆ์ ซึ่งหมายถึงวัดที่กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศตั้งวัดแล้ว แต่ยังไม่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา โดยให้วัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล ซึ่งหมายความรวมถึงวัดทั้ง 2 ประเภท และให้เจ้าอาวาสเป็นผู้แทนของวัดในกิจการทั่วไป
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เห็นว่ามีวัดจำนวนมากที่กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศตั้งวัดแล้ว แต่ยังไม่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ซึ่งจะมีปัญหาตามมา เช่นกรณีการประกอบการพิจารณาเบิกจ่ายนิตยภัต จึงได้ได้มีหนังสือด่วนมากหารือคณะกรรมการกฤษฎีกา
คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้พิจารณาตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2505, 2535 และ พ.ร.บ.และกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.ลักษณะปกครองคณะสงฆ์ รัตนโกสินทร ศก 121 อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับคณะสงฆ์ฉบับแรกในประเทศไทย พบว่าสำนักสงฆ์ยังคงหมายถึงวัดที่ไม่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา แต่ เมื่อมาตรา 31 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 บัญญัติให้วัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล ย่อมต้องหมายถึงวัดทั้ง 2 ประเภท คือ วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา และ สำนักสงฆ์ ซึ่งสอดคล้องกับคำพิพากษาศาลฎีกา 1932/2526 ที่วินิจฉัยว่าสำนักสงฆ์ที่ได้รับอนุญาตจัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย แม้จะยังไม่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาก็เป็นนิติบุคคล
ในกรณีที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเห็นว่า คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6065//2554 ก่อให้เกิดปัญหาและไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ที่เข้าใจยึดถืออยู่ และไม่ประสงค์จะให้เกิดผลดังคำพิพากษาดังกล่าว ก็สมควรนำความหารือกับมหาเถรสมาคมเพื่อพิจารณาแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 เสียใหม่ให้ชัดเจนและตรงตามความประสงค์ ซึ่งอาจแก้ไขมาตรา 31 (2)เสียใหม่ให้มีความว่า “ 2.สำนักสงฆ์ อันได้แก่ วัดที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นแต่ยังมิได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา”
ส่วนกรณีการเบิกจ่ายนิตยภัตนั้นได้มีระเบียบสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติว่าด้วย การเบิกจ่ายนิตยภัต พ.ศ. 2551 กำหนดขั้นตอนและวิธีการจ่ายโดยไม่ได้ขึ้นอยู่กับฐานะความเป็นนิติบุคคล สำหรับประเด็นถ้าสำนักสงฆ์มิได้มีฐานะเป็นนิติบุคคล เจ้าอาวาสของสำนักสงฆ์จะยังมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่ เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าสำนักสงฆ์มีฐานะเป็นนิติบุคคล จึงไม่มีความจำเป็นต้องตอบข้อหารือในปัญหาดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าประเทศไทยมีวัดทั้งสิ้น 26,463 วัด แบ่งเป็นวัดหลวง 167 วัด วัดราษฎร์ 26,256 วัด เป็นวัดมหานิกาย 25,152 วัด วัดธรรมยุตินิกาย 1,311 วัด และมีวัดร้างมากกว่า 5,800 แห่ง มีสำนักสงฆ์ 5,529 แห่งทั่วประเทศ ทั้งนี้เว็บไซต์สำนักพุทธศาสนาแห่งชาติให้คำนิยาม “วิสุงคามสีมา” หมายถึง “เขตที่พระราชทานแก่สงฆ์ เพื่อใช้เป็นที่สร้างพระอุโบสถ หรือเขตที่พระสงฆ์ใช้ประกอบสังฆกรรม”
วัดที่สมควรได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ต้องปรากฏว่าได้สร้างขึ้นหรือได้ปฏิสังขรณ์เป็นหลักฐานถาวร และมีพระภิกษุอยู่ประจำไม่น้อยกว่า 5 รูป ติดต่อกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี แต่ระยะเวลา 5 ปีมิได้ใช้บังคับแก่วัดที่สร้างอุโบสถเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ขั้นตอนการขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา 1. เจ้าอาวาสเสนอรายงานขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา ต่อเจ้าคณะตำบลและเจ้าคณะอำเภอ 2. เมื่อเจ้าคณะตำบลและเจ้าคณะอำเภอเห็นสมควรให้นำปรึกษานายอำเภอ แล้วเสนอเรื่องและความเห็นไปยังเจ้าคณะจังหวัด 3. เมื่อเจ้าคณะจังหวัดเห็นสมควร ให้นำปรึกษาผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วเสนอเรื่องและความเห็นไปยังเจ้าคณะภาค 4. เมื่อเจ้าคณะภาคเห็นสมควรแล้ว ให้ส่งเรื่องและความเห็นไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ 5. เมื่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเห็นสมควรแล้ว จะกราบทูลสมเด็จพระสังฆราชเพื่อทรงอนุมัติแล้วเสนอเพื่อนำความกราบบังคมทูลขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมาต่อไป 6. เมื่อพระราชทานวิสุงคามสีมาแก่วัดใดแล้ว ให้นายอำเภอท้องที่ที่วัดนั้นตั้งอยู่ดำเนินการปักหมายเขตที่ดินตามที่ได้พระราชทาน
ด้านพระมหาชุมพร ธัมมโฆสโก วัดเหล่าอาภรณ์ ต.สร้างมิ่ง อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร เปืดเผยกับสำนักข่าวอิศรา ว่าการขอวิสุงคามสีมาเพื่อให้วัดเป็นนิติบุคลตามกฎหมาย ทำกิจกรรมตามที่ พ.ร.บ.กำหนดได้
“ไม่มีวิสุงคามสีมาตามกฎหมายสงฆ์ถือเป็นวัดเถื่อน แต่ตามความเชื่อชาวบ้าน มีพระจำวัดก็เหมาะควรแล้วที่จะเรียกว่าวัด เพราะเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม ส่วนเขตแดนสร้างอุโบสถ์ที่เรียกว่าวิสุงคามสีมาเป็นเรื่องความเชื่อทางพิธีกรรมและการสร้างวัตถุทางศาสนา ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับหลักคำสอนพุทธศาสนา” .