คนทำงานผู้หญิงชี้ “กองทุนสตรีไม่โปร่งใส”– หญิงร้อยละ 70 ไม่รู้จัก
เครือข่ายผู้หญิงฯ ชี้ รบ.เพื่อไทยตั้งมวลชนรับกองทุนสตรีล็อตแรก ผลสำรวจหญิงร้อยละ 70 ไม่รู้จัก เชื่อไม่โปร่งใส เตรียมขอศาลสั่งระงับ ด้านผู้นำชุมชนแจงข้อมูลคลุมเครือ-ผู้หญิงในพื้นที่งง
จากกรณีการเดินหน้าประชานิยมใหม่ “กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี” ของรัฐบาล ซึ่งกำลังโหมประชาสัมพันธ์ เร่งรับสมัครสมาชิกให้มากที่สุด และมีกำหนดทำกระบวนการประชาคมในวันที่ 3 มิ.ย.55 ขณะที่อีกด้านหนึ่งมีเสียงคัดค้านจากนักวิชาการ เอ็นจีโอ และชาวบ้าน
ดร.สุธาดา เมฆรุ่งเรืองกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศราว่า โครงการดังกล่าวเป็นการดำเนินนโยบายสาธารณะที่ขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนและเครือข่ายสตรี การกำหนดให้กองทุนต้องมีการสมัครสมาชิกยังถือเป็นการลิดรอนสิทธิพลเมือง ข้อกำหนดหลายข้อในระเบียบสำนักนายกฯมีการวางขอบเขตการใช้อำนาจภาครัฐและการเมืองครอบงำกำกับการดำเนินนโยบายอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเกินไป อีกทั้งยังเป็นกองทุนเปิดมากเกินไปแบบมีนัยยะทางการเมืองที่ชัดเจน
นักพัฒนาสตรี ยังกล่าวว่ามีการเคลื่อนไหวจัดตั้งกลุ่มต่างๆนานา ก่อนที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 17 แล้วมีผลบังคับใช้วันถัดไปคือ 18 ก.พ. คือมีชมรมต่างๆอยู่ในสังกัดพรรครัฐบาลเพื่อไทยตั้งแต่เดือนตุลาเป็นต้นมา ถ้านับดีๆก็จะอยู่ในพื้นที่ก่อน 6 เดือนตามระเบียบแน่นอน ฉะนั้นลอตแรกกลุ่มองค์กรเหล่านี้จะได้เงินก่อน
“และการต้องรับสมัครสมาชิกมันไม่จำเป็นเลย สตรีทุกคนถ้ายากลำบากและต้องการใช้เงินก็ควรจะไปขอสมัครรับทุนได้ และการพิจารณารับทุนก็ควรจะมีเกณท์ว่า 1 เป็นสตรี 2 อยู่ในภาวะยากลำบากยากจน”
ดร.สุธาดา ยังกล่าวว่า อีกประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือการสรรหาตัวแทนสตรีที่มาจากการสมัครเป็นสมาชิกของกองทุนเพื่อเข้าไปรับบทบาทกรรมการ ที่ ณ วันที่ 27 มี.ค. ที่ผ่านมามีสมาชิกเพียง 6.5 ล้านคนยังถือว่าเป็นส่วนน้อยจากผู้หญิงที่มีสิทธิทั้งหมดของประเทศ
“การรับสมัครสมาชิกข้อมูลไม่ชัดเจน บางที่บอกว่าปิดแล้ว บางที่บอกยังไม่ปิด บางที่บอกว่าสมัครได้เฉพาะคนนั้นคนนี้กลุ่มนั้นกลุ่มนี้ มันเริ่มมีการกีดกัน”
ทั้งนี้เครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมแห่งประเทศไทย จะติดตามรวบรวมข้อมูล เพื่อนำเสนอทางออกกับรัฐบาล แต่ถ้ารัฐบาลไม่สนใจเลย และมีแนวโน้มจะผลักดันต่อ เช่น จะสรรหากรรมการ ตั้งกรรมการระดับชาติขึ้นมาให้ได้ แล้วปล่อยเม็ดเงินให้มีการกู้หรือการใช้เงินตามโครงการ 1,700 ล้านบาทภายในปีนี้ และอีก 6,000 ล้านภายในปีหน้า ทางเครือข่ายจะฟ้องศาลปกครองให้คุ้มครองชั่วคราวให้มีการระงับโครงการนี้ และให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินงานเรื่องกองทุนพัฒนาสตรีทั้งหมด ทั้งงบประมาณที่ใช้ไป กรรมวิธีต่างๆ แล้วผลของการตรวจสอบจะออกมาว่าโปร่งใสหรือไม่โปร่งใสก็ให้เป็นไปตามนั้น แต่เครือข่ายฯมีข้อสันนิษฐานว่าไม่โปร่งใสและจำกัดเฉพาะกลุ่ม
“จะขอให้ศาลสั่งให้รัฐบาลทบทวนสิ่งที่ไม่ชอบมาพากลทั้งหมดที่เป็นข้อมูลจากพื้นที่ หรืออาจจะให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นผู้ฟ้องแทนองค์กรสตรีทั้งหลายที่ยังงงงวยอยู่กับโครงการนี้หรือประชาชนผู้ที่เสียภาษีอากรทั้งหลายที่ไม่จำเป็นต้องเป็นสตรีก็ได้” ดร.สุธาดา กล่าว
ด้าน รุ่งทิวา ฆ้องแสง ผู้ใหญ่บ้านวัดจันทร์ จ.พิษณุโลก ประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรีวัดจันทร์ กล่าวว่าโครงการนี้เร่งด่วนเกินไป ในพื้นที่ได้รับรายละเอียดน้อยมากและไม่ทั่วถึง รัฐบาลบอกเพียงกว้างๆว่าจะมาสร้างงานสร้างอาชีพแก้ปัญหาให้สตรีในชุมชน
วาสนา ภัทรนันทกุล ทนายความชาวไทยเชื้อสายอาข่า ที่ปัจจุบันกำลังศึกษาปริญญาเอกทางนิติศาสตร์ กล่าวว่าเท่าที่ได้ยินรัฐบาลแถลงนโยบาย ชนเผ่าหรือคนรากหญ้าคงเข้าถึงกองทุนสตรีได้ยากมาก
“คนที่จะเข้าถึงได้นี่อาจจะเป็นคนแบบรู้ช่องทาง หรือว่าอะไรที่เป็นกลุ่มที่เขาเอื้อประโยชน์ให้ได้โดยตรงอะไรอย่างนี้“
ทั้งนี้วัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง “กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี” ที่ระบุไว้ในระเบียบสำนักนายกฯ คือเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการลงทุน การพัฒนาอาชีพ การสร้างโอกาสและสร้างรายได้ในการทำงาน รวมทั้งยังมีไว้เพื่อพัฒนาศักยภาพและเครือข่ายสตรี เพิ่มบทบาทและภาวะผู้นำสตรี รณรงค์ให้สังคมเข้าใจปัญหาสตรีในทุกมิติ เฝ้าระวังดูแล ช่วยเหลือเยียวยา คุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ์ ตลอดจนส่งเสริมและพัฒนาสู่การสร้างสวัสดิภาพและสวัสดิการให้แก่ผู้หญิง โดยผ่านองค์กรสตรีในทุกจังหวัดของประเทศไทย
และจากการสำรวจของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พบว่าในประชากรผู้หญิงทั้งประเทศไทย 33 ล้านคน จำนวนนี้มีผู้หญิงที่อยู่ในเกณท์การใช้สิทธิกองทุนสตรี 26 ล้านคน แต่ร้อยละ 70.7 ไม่รู้จักกองทุนนี้ และผู้หญิงถึงร้อยละ 47.4 ที่ไม่ต้องการสมัครสมาชิก ข้อมูลนี้เป็นการสำรวจจากพื้นที่ 10 จังหวัด ในสี่ภูมิภาคจากกลุ่มตัวอย่าง 1,000 ราย .
ที่มาภาพ : http://www.learners.in.th/media/files/19166