อดีตนายกฯ อานันท์ ชู "นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงษ์" รัฐบุรุษคิดระบบบัตรทอง
ระลึก 10 ปี ของการจากไปของนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงษ์ "อานันท์ ปันยารชุน" อดีตนายกฯ ชี้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พิสูจน์แล้วช่วยทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้จริง ไม่ล่มจมไปกับค่ารักษาพยาบาล นานาชาติยอมรับ ย้ำชัดความท้าทายต่อจากนี้ จะสร้างความยั่งยืนให้กับระบบนี้ได้อย่างไร ภายใต้สังคมผู้สูงอายุที่ทำให้ค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้น
วันที่ 19 ธ.ค. มูลนิธิมิตรภาพบำบัดและ จัดเสวนาในหัวข้อ “สานฝัน สร้างหลักประกันสุขภาพเพื่อประชาชนถ้วนหน้า” ระลึก 10 ปี ของการจากไปของนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงษ์ ณ ห้องจูปิเตอร์ ชั้น 3 โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ โดยนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งถึงนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงษ์ บุรุษรัฐผู้สร้างระบบหลักประกันสุขภาพของไทย ซึ่งไม่ใช่หมอธรรมดา เป็นหมอที่มีจิตใจบริสุทธิ์ นึกถึงผู้อื่นตลอดเวลาอุทิศชีวิตทั้งกายและใจให้กับงานชิ้นนี้
นายอานันท์ กล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย ซึ่งนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงษ์ เป็นผู้ก่อตั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นกำลังสำคัญที่ทำให้เกิดและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เป็นระบบที่พิสูจน์แล้วว่า ช่วยทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้เมื่อยามจำเป็น
นายอานันท์ กล่าวว่า วันนี้หลายครัวเรือนไม่ต้องล้มละลายจากการเจ็บป่วยด้วยโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง โดยรัฐบาลใช้เงินภาษีของประชาชนเพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับคนไทยทุกคน ประชาชนมากกว่าร้อยล่ะ 90 พึงพอใจต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ ประเทศต่างๆในโลกได้ส่งทีมงานมาเรียนรู้การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศอย่างมากในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา
"อย่างไรก็ตามความท้าทายที่สำคัญของระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่คุณหมอสงวนได้ริเริ่มวางรากฐานไว้แล้ว คือเราจะสร้างความยั่งยืนให้กับระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้อย่างไร ภายใต้การเปลี่ยนแปลงจากหลายปัจจัย เช่น สังคมผู้สูงอายุที่ทำให้ค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้น เทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ๆที่มีราคาแพง เหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องหาแนวทางเพื่อให้ประเทศสามารถจัดการกับความท้าทายดังกล่าวได้"
สำหรับแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาความท้าทายดังกล่าว นายอานันท์ กล่าวว่า คือการนำแนวทางพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้กับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับประเทศ การเสริมสร้างความเข้มแข็งของบริการปฐมภูมิ ใกล้บ้านใกล้ใจ เช่น โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาคตำบล และคลินิกชุมชนอบอุ่นของเอกชน เป็นต้น และที่สำคัญอีกหนึ่งสิ่งคือนำแนวคิดจิตรอาสามิตรภาพบำบัด เพื่อนช่วยเพื่อน ผู้ป่วยช่วยผู้ป่วย คนที่เจ็บป่วยก็ย่อมต้องการคนเข้าใจและคำแนะนำในการปฏิบัติตัวจากประสบการณ์จริงๆของเพื่อนคนไข้ด้วยกัน
"การมีเพื่อนมีประสบการณ์และประสบปัญหาในแบบเดียวกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ให้ข้อมูลกัน เป็นแนวทางสำคัญที่จะทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวสามารถที่จะสู้โรคภัยได้อย่างเข้มแข็ง ซึ่งช่วงท้ายชีวิตของคุณหมอสงวนได้พยายามพัฒนาให้เป็นส่วนหนึ่งในระบบบริการสุขภาพของไทย ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าดำเนินงานจิตรอาสามิตรภาพบำบัด เพื่อนช่วยเพื่อน ผู้ป่วยช่วยผู้ป่วย ยังคงต้องดำเนินต่อไป แม้จะมีอุปสรรค์มาก แต่ถ้ารัฐบาลทุกรัฐบาลให้การสนับสนุนดำเนินต่อไป ก็จะเป็นการลงทุนเพื่อสร้างสุขภาพให้กับประชาชน เพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรง เป็นกำลังของการพัฒนาประเทศ และกำลังของการรักษาความมั่นคงของประเทศด้วย ความเจริญของประเทศ ไม่ว่าด้านเศรษฐกิจหรือสังคมเติบโตได้ย่อมต้องเกิดจากประชาชนที่มีสุขภาพแข็งแรง มีจิตใจอาสาสมัคช่วยเหลือกัน และเป็นการสานต่องานของคุณหมอสงวน"
นายอานันท์ กล่าวตอนท้ายว่า นพ.สงวน ถือเป็นรัฐบุรุษของประเทศ ท่านเป็นผู้ปิดทองหลังพระ ทำงานไม่เคยแสวงหาชื่อเสียงเกียรติยศ หรือสิ่งตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น ท่านเป็นคนไทยที่เพิ่มความสุข ความสงบทางจิตใจให้เพื่อนร่วมประเทศ
"ผมเสียดายที่ท่านเสียชีวิตเร็วไปหน่อย มิเช่นนั้น ผมแน่ใจว่า จะมีคนเสนอท่านให้ได้รับรางวัลแมกไซไซ ในยามที่ประเทศชาติมีการทะเลาะเบาะแว้ง ต่อสู้กันทางอุดมการณ์ มีการปล่อยข่าวลือ แสดงความตั้งใจไม่ดีต่อเพื่อนร่วมชาติ สิ่งที่หมอสงวนทำมา สิ่งที่แพทย์ชนบททำมา ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้คนไทยภาคภูมิใจ เชิดชูเกียรติยศประเทศไทยทั้งประเทศ สื่อควรเผยแพร่ทำความดีงาม เชิดชูคนที่เราควรเชิดชู ในยามที่สังคมถือเรื่องเงินเรื่องอำนาจ เอาเปรียบคนอื่น คุณงามความดี ของหมอสงวน และเพื่อนร่วมงาน สิ่งเหล่านี้ช่วยบำบัดความโลภของคนไทย และส่งเสริมสุขภาพจิตของคนไทยด้วยกันด้วย"