ท้องถิ่นถอดบทเรียน โครงการเทศบาลเมืองคาร์บอนต่ำ พบยังขาดงบหนุนองค์ความรู้
ท้องถิ่นถอดบทเรียน โครงการเทศบาลไทยมุ่งสู่เมืองคาร์บอนต่ำ พบอุปสรรคความไม่ชัดเจนของนิยาม ขาดการเชื่อมโยงในระดับชาติ ไม่มีงบประมาณ ด้านนักวิชาการเผยสถานการณ์กองทุนโลกยังยากที่เข้าถึงต้องเน้นประสานเข้ายุทธศาสตร์ชาติ
เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.60 ในเวทีเสวนาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ : ปฏิบัติการ รุก รับ ปรับตัว บนโลกที่เปราะบาง ที่อาคารเฉลิมบรมราชกุมารี 60 พรรษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโดย สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมและ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ดร.อำไพ หรคุณารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวถึงกลไกด้านการเงินกับการปรับตัวด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่า วันนี้สภาวะโลกที่ร้อนในแต่ละองศาที่เพิ่มขึ้นสร้างความเดือดร้อนให้เรามากขึ้น จากสถานการณ์ทั่วโลกประมาณการณ์ใช้เงินเอาไว้ต่อการปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงจนถึงปี 2593 ว่าจะต้องใช้เงินมากถึง 1.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งในข้อตกลงปารีสถือว่าเป็นข้อตกลงระดับโลกในการให้ความสนใจในทุกมิติ กลไกการเงินเพื่อที่จะสนับสนุนการรองรับการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าเป็นการปรับตัว ขณะนี้แม้จะมีการพยายามระดมทุน แต่ยังไม่เพียงพอ
"ภายใต้ข้อตกลงปารีสกำหนดว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วจะต้องระดมทุนกันให้ได้ ถึง 3.4 ล้านล้านบาท ซึ่งจำนวนเงินมากนี้ยังไม่เพียงพอที่จะหยุดสถานการณ์ได้ โดยคาดว่าในประเด็นเรื่องการปรับตัวจะมีที่อาชีพที่เสี่ยงเผชิญหน้าความรุนแรงมากที่สุดคือ เกษตร ป่าไม้ ประมง แหล่งน้ำเพื่อการบริโภค ปัจจุบันไทยถูกจัดให้เป็นหนึ่งในสิบประเทศแรกที่จะได้รับผลกระทบจากสภาวะโลกร้อน แหล่งทุนส่วนใหญ่เงินที่ระดมมา ณ ปัจจุบัน ส่วนใหญ่ใช้เรื่องการลดก๊าซ แต่กองทุนใช้ในเรื่องปรับตัวยังน้อย"
ดร.อำไพ กล่าวอีกว่า วันนี้สำหรับแหล่งทุนที่ท้องถิ่น หรือภาคส่วนอื่นๆ ของไทยสามารถเข้าถึงได้ แม้จะยังมีขั้นตอนที่ยาก คือ กองทุนภูมิอากาศสีเขียว หรือ Green Climate Fund ซึ่งเป็นเป็นกองทุนเพื่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในความดูแลของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) เพื่อนำไปใช้เป็นทุนในการช่วยเหลือกลุ่มประเทศที่ยากจนโลก ปัจจุบันปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทย ทำหน้าที่ในฐานะผู้มีอำนาจสำหรับการขอทุนจากโครงการในไทย
“ การเข้าถึงเงินกองทุนนี้ยังยาก เพราะหลักเกณฑ์เน้นประเทศที่ยากจนจริง ดังนั้นสำหรับการเดินหน้าเรื่องการลดสภาวะโลกร้อน ไม่ว่าใครก็ตามจะเป็นองค์กรท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐจึงจำเป็นต้องเน้นกระบวนการทำงานให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงนโยบาย”
ด้านน.ส.ธารี กาเมือง ตัวแทนจากกลุ่มสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย กล่าวถึงความตื่นตัวและการดำเนินงานในระดับพื้นที่ โดยถอดบทเรียนจากโครงการเทศบาลไทยมุ่งสู่เมืองคาร์บอนต่ำ ซึ่งเป็นโครงการที่สนองต่อแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาภูมิอากาศ พ.ศ. 2555- 2593 โดยพบว่าที่ ผ่านมาแม้ว่านโยบายชาติจะมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ แต่ยังไม่มีนิยาม กรอบแนวคิด แนวทางปฏิบัติ มาตรฐานและเกณฑ์ตัวชี้วัดที่ชัดเจนทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น โดยเสนอว่า ควรประกาศเป็นวาระของชาติ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ เพราะยังขาดความรู้ ความเข้าใจ เห็นเป็นเรื่องไกลตัว ไม่มีนโยบายจากหน่วยงานโดยตรงร วมถึงไม่มีงบประมาณในการสนับสนุน
น.ส.ธารี กล่าวถึงบทเรียนการทำงานด้วยว่า ที่ผ่านมายังขาดความเชื่อมโยงการขับเคลื่อนเรื่องนี้ในระดับชาติลงสู่ระดับท้องถิ่นอย่างจริงจังและมากพอ การถ่ายทอดเรื่องราวที่เป็นเชิงวิชาการด้านนี้ลงสู่ท้องถิ่น ทั้งยังขาดการถ่ายทอดอย่างต่อเนื่อง ใช้ภาษาที่ง่ายต่อการเข้าใจ โดยเสนอมีการพัฒนาสื่อที่สามารถสื่อสารให้คนท้องถิ่นเข้าใจได้ง่าย นำภารกิจที่ท้องถิ่นต้องปฏบัติอยู่เเล้วมาบูรณาการกับแนวทางปฏิบัติที่จะช่วยลดคาร์บอน
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ตลอดเวทีการพูดคุยนั้น เป็นการถอดบทเรียนและทบทวนการดำเนินงานด้านการรุกรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศจากระดับพื้นที่ไปสู่การจัดทำแผนการปรับตัวต่อของประเทศ เพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลและกระบวนาการประชาธิปไตยอย่างมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการจัดทำแผนและนโยบายระดับประเทศและเสริสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มที่เผชิญหน้ากับความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ