กฎหมายห้ามชุมนุมในรัฐทหาร
หากยังมีใครเชื่อว่ากฎหมายห้ามชุมนุม หรือพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 เป็นกฎหมายที่มุ่งคุ้มครองผู้ชุมนุมอยู่อีก เขาผู้นั้นก็คงจะหูหนวกและตาบอดสนิท เทียบไม่ได้กับชาวบ้านธรรมดา ๆ ที่มองเห็นโลกตามความเป็นจริงเสียยิ่งกว่า ดังเสียงสะท้อนแผ่วเบาของชาวบ้านคนหนึ่งในพื้นที่คัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลยพูดเอาไว้ได้น่าสนใจว่า “ก่อน คสช. ทำการรัฐประหาร พวกนายทุนหรือบริษัทฟ้องคดีเรา แต่พอหลัง คสช. รัฐประหาร รัฐกลับเป็นผู้ฟ้องคดีเรา”
นั่นคือเสียงสะท้อนจากรูปธรรมในพื้นที่ที่ผู้หญิง 7 คน ถูกรัฐกลั่นแกล้งโดยกฎหมายห้ามชุมนุมพ่วงกฎหมายอาญา โดยมีการกระทำเป็นขบวนการเริ่มจากสมาชิก อบต.เขาหลวงในเขตหมู่บ้านโซนบนของตำบลแจ้งข้อหา ตำรวจทำสำนวน และอัยการจังหวัดเลยส่งฟ้องศาลในวันสตรีสากลปี 2560 พอดิบพอดี ในข้อหา หนึ่ง-เป็นผู้จัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุม สอง-เป็นผู้เข้าร่วมการชุมนุมโดยไม่ชอบตามกฎหมาย และสาม-กระทำการบังคับและข่มขืนใจสมาชิก อบต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย จำนวน 16 คนในเขตหมู่บ้านโซนบนของตำบลในระหว่างการประชุมสภาโดยบังคับและข่มขืนใจไม่ให้มีมติอนุญาตใช้พื้นที่ป่าไม้และ ส.ป.ก. เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด
และน่าจะมีคดีใหม่ตามกฎหมายห้ามชุมนุมเกิดขึ้นอีกในเร็ว ๆ นี้ เป็นคดีคล้ายกันแต่ต่างกรรมต่างวาระอันเนื่องมาการประชุมสภา อบต. เขาหลวงหลายครั้งหลายหนในช่วงสามปีที่ผ่านมาเพื่อพิจารณาวาระการอนุญาตขอใช้พื้นที่ป่าไม้และพื้นที่ ส.ป.ก. เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัทฯ ซึ่งชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านได้เข้าร่วมประชุมด้วยทุกครั้ง และก็เกิดความวุ่นวายปั่นป่วนแทบทุกครั้งเหตุเพราะสมาชิก อบต. เขาหลวงในเขตหมู่บ้านโซนบนของตำบลดื้อรั้นและดันทุรังผลักดันวาระการขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าไม้และพื้นที่ ส.ป.ก. เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำเข้าสภา ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่แก่ใจว่าการผลักดันเรื่องดังกล่าวจะก่อให้เกิดความขัดแย้งและผลกระทบรุนแรงกับชาวบ้านในเขตหมู่บ้านโซนล่างของตำบลที่ตั้งอยู่ใกล้เขตเหมืองแร่
ข้อความในเครื่องหมายคำพูดไม่ได้หมายความว่าพวกนายทุนฟ้องคดีชาวบ้านน้อยลง แต่หมายถึงว่าชาวบ้านเจอคดีมากขึ้นจากการที่พวกนายทุนมีผู้ส่งเสริมและสนับสนุนคือรัฐที่ออกมาจากที่ซ่อนชัดเจนขึ้น
เหตุที่รัฐฟ้องคดีชาวบ้านมากขึ้นก็เนื่องจากรัฐบาลเผด็จการทหาร คสช. ประกาศใช้กฎหมายห้ามชุมนุม ซึ่งแทนที่จะเป็นกฎหมายที่คุ้มครอง อำนวยความสะดวก ส่งเสริมและสนับสนุนสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน แต่กลับกลายเป็นกฎหมายที่มีไว้ใช้ปกป้องนายทุนไปเสีย
กฎหมายฉบับนี้ได้ปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุมและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาโครงการ นโยบายและกฎหมายร่วมกับรัฐ ด้วยการห้ามทำกิจกรรมแทบทุกรูปแบบที่เป็นการรวมตัวกันของประชาชน เช่น ยื่นหนังสือ ประชุม พิธีกรรม งานบุญ เดินขบวน ฯลฯ กิจกรรมเหล่านี้ถูกตีความว่าเข้าข่ายการชุมนุมตามกฎหมายดังกล่าว โดยบังคับให้ต้องแจ้งการชุมนุม (ถ้าชุมนุมโดยไม่แจ้งก็มีความผิด) ซึ่งตามหลักการแล้วเพียงแค่แจ้งให้ทราบ แต่กลับกลายเป็นว่าเป็นการแจ้งเพื่อขออนุญาต ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็จะไม่อนุญาต หรือถ้าอนุญาตก็จะมีเงื่อนไขต่าง ๆ เต็มไปหมดจนทำให้การชุมนุมไม่มีพลังกดดันและต่อรองกับรัฐได้
จึงส่งผลให้ชาวบ้านหลายพื้นที่ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้คัดค้านโครงการพัฒนา นโยบายและกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมต่าง ๆ ต้องโดนกฎหมายฉบับนี้เล่นงาน นอกเหนือจากคดีของชาวบ้านที่ต่อสู้คัดค้านเหมืองทองคำจังหวัดเลยที่หยิบยกขึ้นมาแสดงให้เห็นไปแล้ว ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่โดนคดีจากกฎหมายฉบับนี้ อาทิเช่น (1) ชาวบ้าน 27 คน จากพื้นที่เหมืองทองคำจังหวัดพิจิตรถูกฟ้องโดยอัยการในข้อหาร่วมกันชุมนุมปิดกั้นทางสาธารณะ ใส่หมวกหรือคลุมใบหน้าเพื่อปิดบังอำพรางตน และเป็นผู้จัดการชุมนุมแต่ไม่ควบคุมดูแลผู้ชุมนุมและไม่แจ้งการชุมนุมด้วย และข้อหาบุกรุกและข่มขืนใจตามกฎหมายอาญา จากกรณีที่ไปขวางรถขนแร่ทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ที่ลักลอบใช้ถนนสาธารณประโยชน์ขนแร่ (2) ชาวบ้านและนักพัฒนาองค์กรพัฒนาเอกชน 9 คน ถูกฟ้องโดยรัฐข้อหาชุมนุมโดยไม่ขออนุญาตและบุกรุกสถานที่ที่ใช้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบาราจังหวัดสตูลในยามวิกาล (3) ประชาชน 7 คนที่ชุมนุมคัดค้านการย้ายสถานีขนส่งจังหวัดขอนแก่นถูกฟ้องโดยอัยการฐานร่วมกันจัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง และกีดขวางทางเข้าออกหรือรบกวนการใช้บริการในสถานีขนส่งสาธารณะและในสถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐ เป็นต้น
ยังไม่นับรวมการถูกข่มขุ่คุกคามที่ไม่เป็นคดีอีกจำนวนมากจนทำให้ประชาชนไม่สามารถลุกขึ้นมาทำการชุมนุมได้ แต่เพียงแค่คดีความที่ยกตัวอย่างให้เห็นก็พอจะบ่งบอกได้ชัดเจนว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มุ่งคุ้มครองผู้ชุมนุม เพราะถ้ามุ่งคุ้มครองผู้ชุมนุมจริง คงไม่มีผู้ชุมนุมรายใดต้องเจอการฟ้องคดีจากรัฐเยี่ยงนี้ ในทางตรงกันข้าม นับตั้งแต่กฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้บังคับยังไม่มีฝ่ายเจ้าพนักงานถูกฟ้องคดีแม้สักรายเดียวโทษฐานละเลยในการทำหน้าที่คุ้มครองผู้ชุมนุม กลับกลายเป็นว่ากฎหมายฉบับนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อฟ้องคดีกลั่นแกล้งประชาชนไปเสีย
ด้วยกฎหมายฉบับนี้ทำให้รัฐบาลเผด็จการทหาร คสช. เดินหน้าโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ได้อย่างรวดเร็วโดยไร้การตรวจสอบและตั้งคำถามจากประชาชน
โดยเนื้อหาสาระแล้ว กฎหมายฉบับนี้มีลักษณะปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพการชุมนุมของประชาชนหลายประการ ดังนี้
ประการแรก มาตรา 7 เปิดโอกาสให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายมีอำนาจประกาศห้ามชุมนุมในรัศมีไม่เกินห้าสิบเมตรรอบรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล และศาลทั้งหลายแหล่ ทั้งนี้ ถึงแม้กฎหมายจะกำหนดให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายต้องคำนึงถึงจำนวนของผู้เข้าร่วมชุมนุมและพฤติการณ์ในการชุมนุมว่าจะอนุญาตให้ชุมนุมรอบสถานที่เหล่านั้นได้หรือไม่ก็ตาม แต่ก็เป็นดุลพินิจกว้างขวางที่อิงอยู่กับด้านของผู้ใช้อำนาจรัฐหรือผู้ปกครองที่มองสถานการณ์และความอ่อนไหวต่าง ๆ ในด้านของรัฐด้านเดียวเป็นหลัก โดยไม่มีหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการที่เป็นมาตรฐานใดกำหนดไว้ ยกเว้นก็แต่เอกสาร ‘คู่มือการปฎิบัติตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558’ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ไม่มีสถานะทางกฎหมาย เป็นเพียงแค่คู่มือแนะนำแก่เจ้าพนักงานเพื่อการบริหารจัดการชุมนุมและแนวทางการสอบสวนดำเนินคดีท่ี่เกิดจากการชุมนุมเท่านั้น
ประการที่สอง มาตรา 8 จงใจที่จะทำให้การชุมนุมเกิดขึ้นไม่ได้ (หรือเกิดขึ้นได้แต่เป็นการชุมนุมแบบติด ๆ ขัด ๆ จนไร้พลังการต่อรอง) ในสถานที่ทำการ ‘หน่วยงานของรัฐ’ ทุกแห่งทุกระดับ ตั้งแต่ส่วนกลางไปจนถึงระดับท้องถิ่น อันได้แก่ ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การของรัฐบาล องค์การมหาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานอืื่นของรัฐ โดยยกเรื่องการกีดขวางทางเข้าออกหรือรบกวนการปฎิบัติงานหรือการใช้บริการสถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐมาเป็นข้ออ้างหรือข้อห้ามไม่ให้เกิดการชุมนุม
ประการที่สาม มาตรา 10 และมาตรา 11 บังคับให้ขออนุญาตทำการชุมนุม ไม่ใช่เพียงแค่แจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมงตามที่เข้าใจกันทั่วไป กล่าวคือ ในด้านผู้ชุมนุมถูกบังคับให้ต้องแจ้งการชุมนุมพร้อมเปิดเผยข้อมูลโดยละเอียดที่ไม่อาจปิดบังอำพรางแผนการชุมนุมที่สร้างแรงกดดันและพลังต่อรองกับรัฐได้เลย เช่น ต้องระบุวัตถุประสงค์ วัน ระยะเวลา สถานที่ชุมนุม จำนวนผู้เข้าร่วมชุมนุม การขอใช้เครื่องขยายเสียงที่ต้องระบุกำลังขยายและระดับเสียงที่จะใช้สำหรับการชุมนุมให้ชัดเจน การขอชุมนุมแบบอยู่ประจำที่หรือจะเคลื่อนไหว/เคลื่อนย้ายไปบริเวณอื่น ฯลฯ แก่ผู้รับแจ้งการชุมนุม ในส่วนของด้านผู้รับแจ้งการชุมนุมกลับเปิดโอกาสให้สามารถมีคำสั่งห้ามชุมนุมได้หากเห็นว่าการชุมนุมที่ได้รับแจ้งนั้นอาจขัดต่อมาตรา 7 และมาตรา 8 ที่เข้าไปชุมนุมในพื้นที่ของรััฐสภา ทำเนียบรัฐบาลหรือศาล หรือฝ่าฝืนรัศมีห้าสิบเมตรของพื้นที่เหล่านั้นที่ถูกประกาศห้าม หรือกีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริการสถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐ ท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีรถไฟ หรือสถานีขนส่งสาธารณะ โรงพยาบาล สถานศึกษา ศาสนสถาน สถานทูตหรือสถานกงสุลของรัฐต่างประเทศ หรือสถานที่ทำการองค์การระหว่างประเทศ และสถานที่อื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
ทั้ง ๆ ที่ควรปล่อยให้เป็นดุลพินิจหรือการตัดสินใจของผู้แจ้งการชุมนุมเป็นด้านหลัก แต่กลับใช้หลักการ ‘หวงห้ามไว้ก่อน’ จนแทบไม่เหลือพื้นที่สาธารณะใด ๆ ให้แก่ผู้ชุมนุมจัดการชุมนุมเพื่อเรียกร้องต่อรองและกดดันรัฐหรือเอกชนให้แสดงความรับผิดชอบทางการเมืองหรือต่อนโยบายสาธารณะใด ๆ ได้อีกต่อไปเลย
บทบัญญัติสองมาตรานี้ยิ่งสะท้อนความลำเอียง ไม่เท่าเทียมและไม่เป็นธรรมของรัฐโดยเลือกคุ้มครองผู้รับแจ้งการชุมนุมและเจ้าพนักงานเป็นด้านหลักด้วยการให้่งดการชุมนุมไว้่ก่อนระหว่างมีคำสั่งห้ามชุมนุม การอุทธรณ์และพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ ซ้ำร้ายยิ่งไปอีกตรงที่หากผู้แจ้งการชุมนุมไม่เห็นชอบด้วยกับคำสั่งห้ามชุมนุม ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือผู้รับแจ้งการชุมนุมขึ้นไปหนึ่งชั้น ซึ่งเป็นตำรวจ ไม่ใช่ศาล โดยให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์นั้นเป็นที่สุด
ประการที่สี่ มาตรา 14 ถูกบังคับให้แจ้งการชุมนุมเพื่อขออนุญาตตามมาตรา 10 ถ้าไม่ปฎิบัติถือว่ามีความผิด รวมถึงการที่ผู้แจ้งการชุมนุมไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้รับแจ้งหรือที่ผู้รับแจ้งมีคำสั่งห้ามการชุมนุมตามมาตรา 11 หรือที่จัดขึ้นโดยไม่แจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง แต่แจ้งการชุมนุมภายหลังพร้อมคำขอผ่อนผันแล้วได้รับหนังสือแจ้งว่าไม่มีเหตุผลอันสมควรที่จะให้จัดการชุมนุมได้ตามมาตรา 12 ให้ถือว่าเป็นการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งสิ้น
ประการที่ห้า ความสำคัญของการชุมนุมสาธารณะก็คือต้องใช้เสียงในการควบคุม ปลุกเร้า แจ้งรายละเอียดและสั่งการมวลชน และใช้เป็นเครื่องมือในการกดดันและต่อรองกับรัฐ แต่มาตรา 15 (7) กลับห้ามใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าที่มีขนาดหรือระดับเสียงตามที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติประกาศกำหนด เมื่อดูลงไปในรายละเอียดของประกาศตามกฎหมายฉบับนี้[ ] ในการชุมนุมกรณีต่าง ๆ จะใช้เครื่องขยายเสียงได้ที่ค่าระดับเสียงสูงสุดไม่เกิน 115 เดซิเบลเอ ซึ่งเป็นระดับเสียงใกล้เคียงกับเสียงขุดเจาะถนนหรือถ้าดังกว่านี้อีกเล็กน้อยก็คือเสียงฟ้าผ่า แต่ก็ใช่ว่าจะใช้เสียงที่ระดับ 115 เดซิเบลเอตลอดเวลาของการชุมนุมได้ ในการชุมนุมตลอดวันหรือ 24 ชั่วโมงจะต้องใช้ระดับเสียงเฉลี่ยอยู่ที่ 70 เดซิเบลเอ ซึ่งเป็นระดับเสียงของเครื่องซักผ้า ไม่เพียงเท่านี้ประกาศฯดังกล่าวยังกำหนดระดับเสียงอันเป็นการรบกวนผู้อื่นไว้ที่ 10 เดซิเบลเอ ซึ่งเป็นเสียงของการหายใจปกติ
ประการที่หก กฎหมายฉบับนี้เปิดโอกาสให้เจ้าพนักงานใช้กำลังสลายการชุมนุมได้สองกรณี กรณีแรก-สลายการชุมนุมได้ในระหว่างรอคำสั่งศาลให้ยุติการชุมนุม ในมาตรา 21 เปิดโอกาสให้เจ้าพนักงานสลายการชุมนุมได้ในระหว่างรอคำสั่งศาลในกรณีการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 14 หรือไม่เลิกการชุมนุมภายในระยะเวลาที่ได้แจ้งไว้ต่อผู้รับแจ้งตามมาตรา 18 และกรณีผู้จัดการชุมนุมหรือผู้ชุมนุมฝ่าฝืนมาตรา 7 หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 8 มาตรา 15 มาตรา 16 หรือเดินขบวนเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมโดยไม่แจ้งล่วงหน้าตามมาตรา 17 เมื่อประกาศให้ผู้ชุมนุมแก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนดแล้วไม่ปฎิบัติตาม ให้เจ้าพนักงานเริ่มต้นกระบวนการโดยร้องขอต่อศาลแพ่งหรือศาลจังหวัดที่มีเขตอำนาจเหนือสถานที่ที่มีการชุมนุมเพื่อมีคำสั่งให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุม ในระหว่างรอคำสั่งศาลให้เจ้าพนักงานมีอำนาจกระทำการที่จำเป็นตามแผนหรือแนวทางการดูแลการชุมนุมได้โดยให้เจ้าพนักงานหลีกเลี่ยงการใช้กำลัง แต่ในกรณีที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงการใช้กำลังได้ ให้ใช้กำลังและเครื่องมือควบคุมฝูงชนได้เพียงเท่าที่จำเป็น
ซึ่งเครื่องมือควบคุมฝูงชน 48 รายการ ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง เครื่องมือควบคุมฝูงชนในการชุมนุมสาธารณะ ประกาศ ณ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 ที่อันตรายก็มีอยู่หลายรายการที่สามารถนำมาใช้ได้เพียงเท่าที่จำเป็นตามดุลพินิจของเจ้าพนักงานฯ ไม่ว่าจะเป็นกระบองยาง แก๊สน้ำตา อาวุธปืนลูกซองสำหรับยิงกระสุนยางหรือแก๊สน้ำตา เครื่องช็อตไฟฟ้า เป็นต้น
กรณีที่สอง-สลายการชุมนุมได้หลังจากที่ศาลมีคำสั่งให้ยุติการชุมนุม หลังจากที่ผู้ชุมนุมไม่ยุติการชุมนุมภายในระยะเวลากำหนดตามคำสั่งศาลตามมาตรา 22 และเมื่อพ้นระยะเวลาที่ประกาศให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ควบคุมตามมาตรา 23 หากยังมีผู้ชุมนุมอยู่ในพื้นที่ควบคุมโดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานให้ถือว่าผู้นั้นกระทำความผิดซึ่งหน้า ให้สามารถจับกุม ค้น ยึด รื้อถอนทรัพย์สินที่ใช้หรือมีไว้เพื่อการชุมนุมและสลายการชุมนุมได้ตามมาตรา 24
จากที่กล่าวมาทั้งหมด ประกอบกับบทลงโทษทั้งจำทั้งปรับที่ค่อนข้างรุนแรงต่อบุคคลและกลุ่ม/องค์กรประชาชนที่ประสงค์จะทำการชุมนุมเพื่อเรียกร้องคัดค้านความไม่เป็นธรรมกรณีต่าง ๆ ทำให้รัฐใช้กฎหมายฉบับนี้ควบคุมความสงบเรียบร้อยของสังคมจนทำให้แทบไม่เกิดการเคลื่อนไหวที่มีพลังต่อรองและกดดันรัฐและเอกชนได้อีกแล้วในยุคสมัยปัจจุบัน แต่กลับพบว่าในรัฐทหารแบบ คสช. ยังไม่พอใจต่อกฎหมายฉบับนี้มากนัก เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้ที่กำหนดให้ตำรวจทำหน้าที่หลักเป็นทั้งผู้รับแจ้งการชุมนุม เจ้าพนักงานและผู้ควบคุมสถานการณ์ยังขาดมุมมองเกี่ยวกับ ‘ภัยคุกคามด้านความมั่นคง’ แบบทหารที่ชอบใช้การทำงานเชิงรุกด้วยการเข้าไปสอดส่องและคุกคามชีวิตประจำวันของประชาชนอยู่อีกมาก จึงพบเห็นแทบทุกกรณีในการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้จะมีเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาแทรกแซงอยู่เป็นประจำ พร้อมกับการบังคับข่มขู่ผู้ชุมนุมที่เกินเลยไปจากบทบัญญัติของกฎหมายฉบับนี้โดยยกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ที่ห้ามมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปพ่วงเข้ามาเพื่อกระทำการข่มขู่คุกคามต่อประชาชนให้หนักข้อยิ่งขึ้น โดยที่กฎหมายห้ามชุมนุมเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับเฉพาะบริเวณพื้นที่ที่ขออนุญาตการชุมนุม แต่คำสั่งดังกล่าวเปิดโอกาสให้ทหารเข้ามาแทรกแซงการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ด้วยการก้าวล่วงเข้าไปในเคหสถานของผู้ชุมนุมเพื่อตรวจค้นหรือทำการข่มขู่คุกคามให้หวาดกลัวจนต้องเปลี่ยนใจหรือหลบหนีไม่ยอมออกมาชุมนุมตามวันเวลาที่ตั้งใจได้
บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาสื่อสารเพื่อให้เข้าใจผิดว่าการบังคับใช้กฎหมายห้ามชุมนุมโดยตำรวจดีกว่าทหารแต่อย่างใด เพราะโดยเนื้อหาที่ปรากฎอยู่ในกฎหมายฉบับนี้ไม่ว่าจะบังคับใช้โดยใครก็เลวร้ายด้วยกันทั้งสิ้น เพราะมุ่งให้ความคุ้มครองผู้รับแจ้งการชุมนุม เจ้าพนักงานและผู้ควบคุมสถานการณ์เป็นหลัก เพียงแต่ต้องการชี้ให้เห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายห้ามชุมนุมในยุครัฐทหารแบบ คสช. มีความเลวร้ายมากไปกว่าตัวบทกฎหมายที่ถูกบัญญัติไว้ในกฎหมายฉบับนี้ เพราะใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และกฎหมายว่าด้วยความมั่นคงฉบับอื่น ๆ เข้ามาพัวพันเกี่ยวข้องในการตัดสินใจที่จะให้หรือไม่ให้ชุมนุมกรณีต่าง ๆ ของประชาชน
มีความเกี่ยวเนื่องอีกประเด็นหนึ่งก็คือถึงแม้โดยหลักการผู้รับแจ้งการชุมนุม เจ้าพนักงานและผู้ควบคุมสถานการณ์์จะต้องใช้ดุลพินิจและวิจารณญาณที่สมควรแก่เหตุในการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้แก่ผู้ชุมนุม ไม่ลุแก่อำนาจมากเกินไป แต่สิ่งเหล่านี้ก็มีตัวแปรอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง นั่นก็คือ การทำหน้าที่ที่ไม่สอดคล้องกันของ ‘บทบัญญัติในกฎหมาย’ กับ ‘อำนาจรัฐ’ โดยเฉพาะในยุคสมัยของรัฐทหารแบบ คสช. ที่ผู้รับแจ้งการชุมนุม เจ้าพนักงานและผู้ควบคุมสถานการณ์ตามกฎหมายฉบับนี้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตำรวจที่ต้องทำงานรับใช้ทหารอาจมีดุลพินิจและวิจารณญาณท่ี่เกินเลยหรือไม่ผูกพันบทบัญญัติได้ ซึ่งเกิดจากอุปนิสัยส่วนตัวและองค์กรของผู้ใช้อำนาจรัฐที่ต้องพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อข่มขู่คุกคามประชาชนไม่ให้ออกมาชุมนุมเพื่อสร้างพลังต่อรองและกดดันรัฐได้
ข้อถกเถียงในเรื่องที่ว่ากฎหมายฉบับนี้คุ้มครองผู้ชุมนุมจริงหรือไม่ ไม่สามารถถกเถียงกันบนโต๊ะประชุม หรือไม่สามารถผุดหลักการหรือข้อคิดเห็นออกมาจากการจัดเวทีหรือเอกสารได้อีกต่อไป มีเพียงอย่างเดียวเท่านั้นคือต้องเอาชีวิตและร่างกายเข้าเสี่ยงด้วยการออกมาชุมนุมบนท้องถนนและพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ เพื่อผลักดันหลักการไปให้สุดหนทางเท่าที่ยังพอมีอยู่ เพื่อดูว่าการคุ้มครองผู้ชุมนุมจะเป็นจริงได้หรือไม่ท่ามกลางสภาวะความตีบตันของสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมสุดบรรยายในยุคสมัยนี้
หมายเหตุ : ภาพประกอบจากไทยรัฐออนไลน์