เอ็กซ์คลูซีฟ:ไขปม 2 ข้อมูลลับสุดท้าย 'นอมินี&เงื่อนเวลา' คดีฉ้อโกงเงินประกันครูมหาสารคาม126ล.
"... ในการทำประกันชีวิต 4 รายการ ของสหกรณ์ครูจังหวัดมหาสารคาม รวมวงเงินกว่า 126 ล้านบาท ระบุเงื่อนไขระยะเวลาไว้เพียงแค่ 1 ปี เท่านั้น ซึ่งในแต่ละปี อาจจะมีสมาชิกของสหกรณ์เสียชีวิตลงบาง แต่วงเงินที่ประกันต้องจ่ายชดเชยให้มีสัดส่วนที่น้อยกว่าเงินที่สหกรณ์ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันเป็นอย่างมาก เงินค่าเบี้ยประกันชีวิตที่เหลืออยู่ จะกลายเป็นผลกำไรตอบแทนให้กับบริษัทประกันชีวิตทันที.."
ในที่สุดคดีสหกรณ์ออมทรัพย์ครูจังหวัดมหาสารคามถูกปลอมแปลงเอกสารนำเงินของสมาชิกไปซื้อประกันกลุ่ม โดยแอบอ้างชื่อบริษัท สยามซิตี้ ประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับดำเนินการให้ แต่กลับมีการโอนเงินค่าเบี้ยประกัน จำนวน 126 ล้านบาท ของสมาชิก 1.3 หมื่นราย ไปให้กับ บริษัท สยามซิตี้ไลฟ์แอดวานซ์ จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับรับซื้อพืชผลทางการเกษตรแทน ก็มีการแถลงข่าวเปิดเผยรายละเอียดจากเจ้าหน้าที่ตำรวจออกมาเป็นทางการ
โดย พ.ต.อ.ชัยโรจน์ นาคราช ผู้กำกับการตำรวจภูธรจ.มหาสารคาม ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า สมาชิกสหกรณ์ครูมหาสารคาม ได้แจ้งความดำเนินคดีกับผู้บริหารสหกรณ์ฯ ซึ่งพนักงานสอบสวนสรุปมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157 แต่เนื่องจากผู้บริหารเป็นข้าราชการ ระดับ 8 จึงส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.มหาสารคาม ตั้งแต่วันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่คดีนี้ผู้เสียหายแจ้งความไว้หลายที่ และเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ได้เข้ามาขอข้อมูลจากทางพนักงานสอบสวนซึ่งได้มอบให้ไปแล้ว นอกจากนี้ ยังมีคดีที่อยู่ระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวนอีกหลายคดี รวมถึงคดีที่มีผู้เสียหาย ที่ไม่ได้รับเงินสินไหมจากกรมธรรม์ ที่ซื้อโดยมิชอบของผู้บริหารสหกรณ์ สอดคล้องกับข้อมูลเชิงลึกหลายส่วนที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอไปก่อนหน้านี้ (อ่านประกอบ : ล้วงผลสอบสหกรณ์จว.สั่งคดีเงินประกันครูมหาสารคาม126ล.!จี้หาผู้รับผิดชอบชดใช้-โทษอาญา, หลักฐานถึงผู้บริหาร! เผยเบื้องหลังตร.ส่งป.ป.ช.สอบคดีเงินประกันชีวิตส.ครูมหาสารคาม126ล.)
อย่างไรก็ดี ในขั้นตอนการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจคดีนี้ นอกเหนือจากข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทางการเงิน ที่สำนักข่าวอิศรานำมาเปิดเผยไปแล้วว่า ภายหลังจากที่เงินจำนวน 126 ล้านบาท ของสหกรณ์ฯ ถูกโอนต่อเข้ามาในบัญชีเงินฝากธนาคารธนชาต ของ บริษัท สยามซิตี้ไลฟ์แอดวานซ์ จำกัด ในกทม. สาขาศาลอุทธรณ์ ผู้บริหารบริษัทสยามซิตี้ไลฟ์แอดวานซ์ ได้มีการเซ็นใบมอบฉันทะ ให้กับบุคคลหลายคน ไปดำเนินการถอนเงินออกจากบัญชี ทั้งในรูปแบบเงินสด หรือโอนเงินต่อไปยังบัญชีธนาคารอื่นๆ
ขณะที่ในการถอนเงินออกจากบัญชีนั้น มีข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือ ในการทำธุรกรรมทั้งการถอนเงินสดหรือโอนเงินต่อทุกครั้ง จำนวนเงินจะอยู่ที่จำนวนครั้งละไม่เกิน 1.9 ล้านบาท ไม่ถึงจำนวน 2 ล้านบาท เพราะถ้าถึง 2 ล้านบาท ตามกฎหมายจะต้องมีการแจ้งสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ให้รับทราบตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 (อ่านประกอบ : เลี่ยงแจ้งปปง.!เซ็นมอบฉันทะถอนสดครั้งละ1.9ล.-เปิดเส้นทางเงินคดีฉ้อโกงประกันครูมหาสารคาม126ล.)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลว่า ในการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ยังพบข้อมูลที่น่าสนใจอีก 2 ประเด็น คือ 1. การใช้ตัวแทนหรือนอมินีกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง และ 2. การแสวงหาผลประโยชน์จากช่องโหว่ในการทำประกันภัย
ทั้งนี้ ในประเด็นเรื่องการใช้ตัวแทนหรือนอมินี นั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้เชิญตัวผู้เกี่ยวข้องในคดีนี้หลายรายคนมาสอบปากคำ โดยเฉพาะในส่วนของบุคคลที่ปรากฎชื่อเป็นกรรมการและผู้ก่อตั้งบริษัท สยามซิตี้ไลฟ์แอดวานซ์ จำกัด ได้รับการยืนยันข้อมูลตรงกันว่า ไม่มีส่วนรู้เห็นอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้มากนัก เพราะถูกหยิบยืมชื่อมาใช้ร่วมจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเท่านั้น
เช่นเดียวกับบุคคลที่ปรากฎชื่อเป็นผู้รับได้รับมอบฉันทะ ในการไปถอนเงินหรือโอนเงินออกจากบัญชีบริษัทฯ ก็ล้วนแล้วแต่มีสถานะถูกไหว้วานให้มาช่วยดำเนินธุรกรรมทางการเงินแทน
ส่วนประเด็นกล่าวเกี่ยวกับการแสวงหาผลประโยชน์จากช่องโหว่ในการทำประกันภัย นั้น ในขั้นตอนการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ ตร. ได้รับการยืนยันข้อมูลจากผู้เกี่ยวข้องว่า เงื่อนไขระยะเวลาในการทำประกันชีวิต คือ องค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เกิดช่องโหว่ การทุจริตของสหกรณ์
กล่าวคือ ในการทำประกันชีวิต 4 รายการ ของ สหกรณ์ครูมหาสารคาม รวมวงเงินกว่า 126 ล้านบาท ระบุเงื่อนไขระยะเวลาไว้เพียงแค่ 1 ปี เท่านั้น ซึ่งในแต่ละปี อาจจะมีสมาชิกของสหกรณ์เสียชีวิตลง แต่วงเงินที่ประกันต้องจ่ายชดเชยให้มีสัดส่วนที่น้อยกว่าเงินที่สหกรณ์ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันเป็นอย่างมาก เงินค่าเบี้ยประกันชีวิต ที่เหลืออยู่ จะกลายเป็นผลกำไรตอบแทนให้กับบริษัทประกันชีวิตทันที เมื่อวงเงินผลตอบแทนจากการดำเนินธุรกิจลักษณะนี้ มีมูลค่าสูง
จึงทำให้คนบางกลุ่มฉวยโอกาสนี้ใช้เป็นช่องโหว่สำคัญในการเจรจาต่อรองกับบริษัทเอกชนเพื่อร่วมมือกันเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากเงินสมาชิกสหกรณ์
อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีของสหกรณ์ครูจังหวัดมหาสารคาม ในขั้นตอนการสืบสวนพบว่า การอนุมัติเงินของสมาชิกมาใช้ทำประกันชีวิต อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นครั้งนี้ เป็นครั้งแรก น่าจะมีการทำกันมาก่อนหน้านี้แล้ว ในการบริหารงานของคณะกรรมการชุดอื่นๆ
และหากมีการขยายผลการตรวจสอบส่วนนี้ ไปยังสหกรณ์แห่งอื่นทั่วประเทศ สาธารณชนอาจจะได้เห็นภาพข้อมูลปัญหาในลักษณะเดียวกันเกิดขึ้น กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศก็เป็นได้
ปัญหาการถูกฉ้อโกงเงินประกัน ของกลุ่มสหกรณ์ครูจังหวัดมหาสารคาม ที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ แท้จริงแล้วอาจเป็นเพียงแค่หนังตัวอย่างเรื่องหนึ่งเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ผู้เกี่ยวข้องคดีนี้ในส่วนของสหกรณ์ครูมหาสารคาม ที่ถูกเปิดเผยชื่อออกมา ปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนการไต่สวน ยังไม่ได้ถูกตัดสินชี้มูลความผิด จึงถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
อ่านประกอบ :
เผยโฉมกรมธรรม์ปลอมคดีฉ้อโกงเงินประกันครูมหาสารคาม126ล.-อิศราแกะรอยบช.แบงก์ยังไม่ถูกอายัด?
126ล้าน-สมาชิกเสียหาย1.3 หมื่นราย! ขมวดชัดๆ พฤติการณ์คดีฉ้อโกงเงินประกันส.ครูมหาสารคาม
เพิ่งจ้างคนตั้งบ.ให้ช่วงกลางปี59! เปิดตัวบ.ธุรกิจพืชผลพันคดีฉ้อโกงเงินประกันส.ครูมหาสารคาม
จ่ายค่าจ้างแค่2.5พัน รีบเอาเอกสารเปิดบช.แบงก์! ลุยพิสูจน์บ.พันคดีเงินประกันส.ครูมหาสารคาม
เผยโฉม 3 ผู้ก่อตั้งบ.พืชผล พันคดีฉ้อโกงเงินประกันส.ครูมหาสารคาม-'หุ้นใหญ่' คนบุรีรัมย์