ค้าน “สุชาติ” ปรับเกณฑ์ 1 อ.1ทุน เหตุ “กีดกันเด็กจน/ชนบท” ผิดวัตถุประสงค์โครงการ
อดีตนักเรียนทุน ทำจดหมายเปิดผนึกผ่านเฟซบุ๊คส์ถึง รมว.ศึกษาฯ ค้านปรับเกณฑ์ 1 อำเภอ 1 ทุน “ไม่ดูรายได้ครอบครัว-เพิ่มคะแนน” เหตุเปิดช่องโหว่เด็กไม่จนได้ทุน-ทำเด็กชนบทเสียเปรียบเมือง
วันที่ 31 มี.ค.55 มีจดหมายเปิดผนึกถึงดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง “เรียกร้องให้ทบทวนหลักเกณฑ์การรับสมัครเพิ่มเติมทุนหนึ่งอำเภอหนึ่งทุนรุ่นที่ 3” ผ่านเฟซบุ๊คส์ “Thanon Vee” ใจความว่าในนามของนักเรียนทุนโครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน รุ่นที่1 รุ่นที่ 2 นักเรียนทุนอื่นๆ และบุคคลทั่วไป (ตามรายชื่อด้านล่าง) ยินดีอย่างยิ่งที่รัฐบาลเห็นความสำคัญพัฒนาศักยภาพการศึกษาเยาวชน และดำเนินการโครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุนต่อเป็นรุ่นที่ 3 เพื่อจัดสรรทุนให้แก่นักเรียนที่มีผลการเรียนดีแต่มีฐานะยากจนจากทุกอำเภอ ได้มีโอกาสศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาทั้งในและต่างประเทศ อันจะนำสู่การพัฒนาศักยภาพบุคลากรของชาติ และเป็นรากฐานการแก้ไขปัญหาความยากจนของประเทศอย่างยั่งยืน
แต่ไม่เห็นด้วยกับกรณีที่กระทรวงศึกษาธิการเตรียมประกาศรับสมัครเพิ่มเติมทุนโครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุนรุ่นที่ 3 (ซึ่งขณะนี้เหลืออีกกว่า 600 อำเภอที่ยังไม่มีผู้ผ่านการคัดเลือก) โดยมีนโยบายจะปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การรับสมัคร โดยมีประเด็นที่สำคัญคือ 1.ผู้สมัครทุนนี้ไม่จำเป็นต้องยื่นหลักฐานรับรองรายได้ของครอบครัว และไม่มีการจำกัดสิทธิ์เฉพาะเด็กยากจน 2.เพิ่มเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำในการสอบผ่านข้อเขียนจากเดิมร้อยละ 60 เป็นร้อยละ 80
ทั้งนี้จดหมายเปิดผนึกดังกล่าว ระบุเหตุผลคัดค้าน ได้แก่ 1.การปรับความยืดหยุ่นให้ผู้สมัครไม่ต้องยื่นหลักฐานรับรองรายได้ครอบครัว และเปิดช่องโหว่ให้ผู้ที่ไม่ได้มีฐานะยากจนจริงสามารถสมัครทุนนี้ได้ ด้วยหวังจะให้จำนวนผู้สอบผ่านข้อเขียนมีมากขึ้น ขัดกับวัตถุประสงค์หลักของโครงการที่ต้องการกระจายและเปิดโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียนที่เรียนดีแต่มีฐานะยากจน
หากคณะกรรมการเห็นว่าเกณฑ์รายได้ของครอบครัวจากเดิมไม่เกิน 150,000 บาท/ ปี เป็นการจำกัดสิทธิผู้สมัครบางราย ก็อาจปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม (เช่น ไม่เกิน 200,000 บาท/ ปี หรืออาจแบ่งเกณฑ์รายได้แบบเจาะจงพื้นที่ตามอัตราค่าครองชีพในแต่ละจังหวัด หรือแต่ละอำเภอ เป็นต้น) ทั้งนี้ต้องเป็นรายได้ที่อยู่ในข่าย "ยากจน" และสอดคล้องกับข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐหรือองค์กรภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น พวกเราเห็นว่ายังมีความจำเป็นที่ต้องกำหนดเงื่อนไขให้ใช้หลักฐานรับรองรายได้ของครอบครัวประกอบการรับสมัครเพิ่มเติม
2. การเพิ่มฐานคะแนนขั้นต่ำสำหรับการสอบข้อเขียนจากเดิมต้องผ่านร้อยละ 60 เป็นร้อยละ 80 ไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหาที่ในหลายอำเภอไม่มีผู้ผ่านการสอบข้อเขียน เพราะผู้ที่จะมาสมัครในรอบใหม่ก็คือนักเรียนกลุ่มเดิมหรือกลุ่มใหม่ที่มีศักยภาพใกล้เคียงกัน ซึ่งเป็นการยากที่นักเรียนกลุ่มนี้จะสามารถสอบข้อเขียนได้ถึงร้อยละ 80 หรือมากกว่า ทั้งนี้ยิ่งเป็นการตอกย้ำและผลิตซ้ำอย่างหนักหน่วงถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในสังคมไทย ที่นักเรียนยากจน/ในชนบทต้องเสียเปรียบนักเรียนฐานะดี/ในมืองในหลายๆด้าน ซึ่งทุกด้านล้วนมีผลต่อคะแนนในการสอบข้อเขียนทั้งสิ้น
3. ไม่เห็นด้วยหากคณะกรรมการเห็นว่าเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำของการสอบผ่านข้อเขียนมีความสำคัญ เช่น อาจส่งผลต่อการสำเร็จการศึกษาของผู้รับทุน และความคุ้มค่าที่ประเทศจะได้รับจาก "การลงทุน" โดยเฉพาะกับผู้ที่จะเดินทางไปศึกษายังต่างประเทศ แต่ขอเสนอให้คงเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำไว้ที่ร้อยละ 60 เท่าเดิม หรือยืดหยุ่นให้ผู้ที่ได้คะแนนไม่ถึงร้อยละ 60 มีสิทธิ์ได้รับทุนในกรณีที่อำเภอนั้นไม่มีผู้ได้คะแนนถึงเกณฑ์ดังกล่าว
แต่ต้องมีมาตรการในการฝึกอบรมและเตรียมความพร้อมอย่างเข้มข้นก่อนเดินทางไปศึกษาต่อ หรือ อาจกำหนดเป็นเงื่อนไขว่าผู้สมัครที่สอบได้คะแนนข้อเขียนในระดับใดต้องเรียนในประเทศหรือสามารถเลือกไปศึกษายังต่างประเทศได้ หรืออาจสร้างระบบคัดกรองชั้นที่สองขึ้นเพื่อประเมินผู้ได้รับทุนในด้านอื่นประกอบ เช่นศักยภาพในการเรียนรู้ การปรับตัวและการพัฒนาตนเอง ฯลฯ เพื่อพิจารณาว่าผู้ได้รับทุนสามารถไปศึกษาต่อต่างประเทศได้หรือไม่ เป็นต้น
การกีดกันนักเรียนยากจนที่สอบข้อเขียนได้คะแนนน้อย ด้วยการยืดหยุ่นและเปิดช่องโหว่ให้นักเรียนฐานะดีที่มีแนวโน้มจะสอบข้อเขียนได้คะแนนสูงสามารถสมัครทุนนี้ได้ ขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ของโครงการฯ อีกทั้งปิดกั้นโอกาสและดูถูกศักยภาพบุคคลว่าไม่อาจสามารถพัฒนาตนเองได้ ที่สุดแล้ว แนวนโยบายดังกล่าวถือเป็นการตอกย้ำและผลิตซ้ำความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในสังคมไทยให้ดำรงอยู่ต่อไป
จดหมายเปิดผนึก ระบุว่า กลุ่มนักเรียนทุนและคนไทยผู้ตระหนักกับปัญหาที่เกิดขึ้น ขอเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการพิจารณาทบทวนนโยบายที่จะปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การรับสมัครเพิ่มเติมทุนโครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุนรุ่นที่ 3 อย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงหลักการเจตนารมณ์ของโครงการเป็นสำคัญ
________________________________________________________________________________________________________________________
ดาวน์โหลด
ผู้ร่วมลงนามในจดหมายเปิดผนึก “เรียกร้องให้ทบทวนหลักเกณฑ์การรับสมัครเพิ่มเติมทุนหนึ่งอำเภอหนึ่งทุนรุ่นที่ 3”