อึ้งเด็กตปท.อายุ 12-13 ปี ทำ CPR - ใช้เครื่อง AED ได้
สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉิน หวังให้เด็กไทยมีทักษะดูแลตนเองไม่ให้เจ็บป่วย ยันในต่างประเทศเด็กทำ CPR ใช้เครื่อง AED ได้ แต่ไทยยังเน้นเรื่องติดตั้ง
เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม เวลา 09.30 น. ที่ อุทยานการเรียนรู้ TK park สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ TK park หน่วยงานภายใต้สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ จัดกิจกรรมเข้าค่ายฝึกทักษะ “รู้รอดปลอดภัย” โดยเปิดโอกาสให้เยาวชนอายุระหว่าง 9-12 ปี เข้าร่วมกิจกรรมเต็มรูปแบบ เพื่อเสริมทักษะการดูแลตนเองให้ปลอดภัย โตไปเป็นผู้ใหญ่ที่แข็งแรง รู้วิธีร้องขอเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินได้
ทั้งนี้ภายในงานยังมีวิทยากร ทีมบุคลากรจากโรงพยาบาลราชวิถี กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกระทรวงมหาดไทย สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. มูลนิธิร่วมกตัญญู มูลนิธิป่อเต็กตึ้ง ศูนย์ความปลอดภัย โรงพยาบาลรามาธิบดี และสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ
ศ.เกียรติคุณ นพ.สันต์ หัตถีรัตน์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กิจกรรมเข้าค่ายรู้รอดปลอดภัย เน้นฝึกทักษะให้ความรู้ ภายใต้โครงการส่งเสริมและป้องกันคนไทยไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน โดยเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยได้เรียนรู้วีธีป้องกันตนเองได้ และสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง เน้นกระตุ้นให้เด็ก เยาวชน ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไปให้ใส่ใจดูแลสุขภาพของตนเองและคนรอบข้างไม่ให้เจ็บป่วย หรือหากเจ็บป่วยแล้วสามารถควบคุมโรคและไม่กระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน หรือหากมีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินก็สามารถดูแลตนเองในเบื้องต้นได้ เพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงของโรค หรือเมื่อมีเหตุฉุกเฉินสามารถเรียกหน่วยกู้ชีพฉุกเฉิน1669ได้
“จากข้อมูลสถิติของศูนย์วิจัยเพื่อสร้างความปลอดภัยในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่า เด็กอายุตั้งแต่ 1-14 ปี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจำนวน 2,200 รายต่อปี เป็นการเสียชีวิตจากการจมน้ำและอุบัติเหตุจราจร ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการจัดกิจกรรมในครั้งนี้"
ศ.เกียรติคุณ นพ.สันต์ กล่าวอีกว่า ทักษะการดูแลตนเองและช่วยเหลือผู้อื่นในภาวะฉุกเฉินได้บรรจุเข้าเป็นหลักสูตรหรือในวิชาทักษะชีวิตจะเป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก เพราะเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้เรียนจะได้เรียนรู้วิธีป้องกันตนเองหรือคนรอบข้างไม่ให้เจ็บป่วยได้
"ในอดีตเรามีการเรียนการสอนในวิชาลูกเสือ แต่ปัจจุบันเด็กต้องเรียนและมีเนื้อหาการศึกษาต่างๆเป็นจำนวนมาก จึงทำให้การเสริมทักษะในด้านนี้ลดลง” ศ.เกียรติคุณ นพ.สันต์ กล่าว
พญ.ณธิดา สุเมธโชติเมธา กลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน รพ.ราชวิถี กล่าวว่า การนำเอาเยาวชนที่สนใจที่อยู่ในระดับประถมปลายเข้ามาเรียนรู้เรื่องการดูแลตนเองไม่ให้เจ็บป่วยและการปฐมพยาบาล ซึ่งเด็กในวัยนี้เราไม่คาดหวังที่เขาจะไปช่วยเหลือผู้อื่นได้ แต่เราคาดหวังให้เขารู้จักดูแลตนเอง และสามารถร้องขอความช่วยเหลือจากบุคคลหรือหน่วยงานอื่นเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้นมาได้ การปลูกฝังทัศนคติในเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งที่จำเป็น ซึ่งเมื่อเยาวชนโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถดูแลตนเองได้เป็นโรคน้อยลง เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพแข็งแรงไม่เจ็บป่วยเหมือนปัจจุบันที่คนไข้ล้นห้องฉุกเฉิน ล้นโรงพยาบาล ซึ่งในอนาคตประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
“เมื่อเทียบกับเด็กต่างประเทศในวัยเดียวกัน เด็กไทยมีองค์ความรู้เรื่องการดูแลตนเอง การปฐมพยาบาลน้อยกว่าประเทศอื่น ระบบการศึกษาไทยไม่เอื้อต่อการเพิ่มองค์ความรู้ อาทิ ในต่างประเทศเด็กอายุ 12-13 ปี สามารถทำ CPR หรือ ใช้เครื่อง AED ได้ ในขณะที่ประเทศไทยยังคงเน้นเรื่องของการติดตั้งเครื่อง AED ให้มีในที่สาธารณะ แต่ไม่เคยฝึกการใช้เครื่อง” พญ.ณธิดา กล่าว
ด้าน ดร.อธิปัตย์ บำรุง ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ กำกับดูแลสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ TK park กล่าวถึงค่ายรู้รอดปลอดภัย เป็นกิจกรรมที่ต่อยอดจากนิทรรศการเตรียมตัว รู้รอด ภาค 3 First Aid ที่จัดขึ้น ณ อุทยานการเรียนรู้ ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี นำมาสู่ค่ายการเรียนรู้ ซึ่งมีเนื้อหาที่เข้มข้น เน้นทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อให้เด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรม สามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้