หมอประเสริฐ ชี้ศตวรรษแห่งการเรียนท่องจำหมดไปแล้ว แนะรัฐปลดล็อค เลิกสอบเข้าป.1
หมอประเสริฐ ชี้ศตวรรษแห่งการท่องจำหมดไปแล้ว ทักษะโลกยุคใหม่ต้อง คือ EF เด็กต้องควบคุมตัวเองได้ แนะรัฐ-พ่อแม่ ปลอดล็อคข้อจำกัด ด้านนักวิชาการเผยภาพรวมพัฒนาการด้าน EF ของเด็กไทยวัย 2-6 ปี ควรพัฒนาและปรับปรุงถึงเกือบ 30% ถ้ายังต้องสอบเข้าป.1 ก็แก้ยาก
เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 60 ที่ โรงแรมเซ็นจูรี่ปาร์ค สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย และองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย จัด “พิธีมอบรางวัลและสารคดีเชิงข่าวส่งเสริมสิทธิเด็ก ประจำปี 2560"
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์และนักวิชาการด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน กล่าวถึงภาพความเหลื่อมล้ำแบบสมัยก่อนที่เด็กมีฐานะเดินทางมาเรียนในพิเศษกรุงเทพนั้นเริ่มไม่สามารถการันตีความสำเร็จได้ในยุคศตวรรษที่ 21 แล้ว ยุคศตวรรษก่อนหน้า การเรียนเน้นท่องจำอาจทำให้ประสบความสำเร็จได้จริง เพราะงานการสมัยก่อนเน้นทำงานตามสายพาน สมองไม่ต้องคิดมาก งานบรรลุก็รับเงินเดือน แต่ศตวรรษนี้ไม่ใช่แล้ว งานไม่ได้เป็นตามสายพาน แต่มีตัวแปรมากเกินกว่านั้นมาก กลายเป็นว่า เด็กจำนวนมากจบออกมาไม่รู้จะทำอะไร ดังนั้นการศึกษาประเภทท่องแล้วสอบได้ทุกวิชา กลายเป็นหมดสมัยเเล้ว
นพ.ประเสริฐ กล่าวถึงการเลี้ยงลูกเพื่อให้มีสมองที่ดีพอ รับมือกับศตวววษนี้ เรียกว่า Executive Function ( EF) คือ ความสามารถของสมองที่จะควบคุมความคิด อารมณ์ การกระทำ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย ประเด็นคือว่า สมัยก่อนเราไม่ต้องมีเป้าหมาย เพราะพ่อแม่เป็นผู้กำหนด เช่น อยากให้เป็นหมอ ก็เรียนให้สอบได้หมอ ตอนนี้ไม่ใช่ บ้านที่ยังกำหนดทิศทางให้ลูกแบบนี้ นับว่า มีความเสี่ยงมาก กลับกันบ้านไหนที่เลี้ยงลูกให้มีความสามารถ ปล่อยให้เด็กกำหนดเป้าหมายตัวเองจะประสบความสำเร็จมากกว่า
"ถ้าเข้าใจเรื่องเหล่านี้ สามารถทลายความเหลื่อมล้ำทิ้งได้ เพราะวันนี้แหล่งเรียนรู้จริงๆ คืออยู่ในสมาร์ทโฟนเครื่องเดียว ไม่ได้อยู่ที่หลักสูตร หรือโรงเรียนอีกแล้ว ถึงเวลาปลดล็อค เพื่อให้เด็กกำหนดทางเดินชีวิตได้เอง"นพ.ประเสริฐ กล่าว และว่า สังคมไปปัดเด็กทิ้ง วันนี้ต้องไม่อยู่ภายใต้ระบบแบบนี้อีกแล้ว เราอยู่ในยุคสมาร์ทโฟน Wifi เหลือแต่มีปัญญาใช้หรือเปล่า
นพ.ประเสริฐ กล่าวอีกว่า การเลี้ยงลูกให้มี EF คือเด็กที่มีปัญญา ใช้เครื่องมือเป็น เพราะว่าเครื่องมือนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ไม่ใช่ที่โรงเรียน เราต้องการเด็กที่มีสมองที่ดี ประกอบด้วย (1) ความสามารถในการควบคุมต้องเอง เพราะในมือถือ อินเทอร์เน็ตมีตัวแปรมากมายที่ชวนให้วอกแวกได้ง่าย (2) ไม่วอกแวก (3)ความสามารถในการอดเปรี้ยวไม่กินหวาน ทำงานก่อนเล่นทีหลัง นอกจากนี้ยังรวมไปถึงองค์ประกอบความจำใช้งาน ความจำที่อยู่หน้างานที่พร้อมที่จะงัดออกมาชั่งน้ำหนัก ข้อดีข้อเสียได้ตลอดเวลา เช่น ความรู้เรื่องอบายมุขทั้งหมด เป็นต้น
ส่วนความสามารถในการคิดวิเคราะห์นั้น นพ.ประเสริฐ กล่าวว่า เป็นความสามารถของสมองไม่ใช่นิสัย ประเด็นคือว่า ทักษะEF ในช่วงวัย3-6 ขวบ ซึ่งเป็นวัยแห่งการเรียนรู้ของเด็ก สมองส่วนหน้ากำลังทำงาน ถ้าเด็กคนไหนใช้สมองส่วนนี้จะโตกว่าสามารถควบคุมตัวเอง คิดวิเคราะห์ ดังนั้นการปล่อยให้เด็กเล่นอะไรที่ใช้นิ้วทั้งสิบ พวกนี้จะดีเพื่อรองรับการพัฒนาของสมอง มนุษย์เป็นสัตว์ชนิดเดียวที่มีนิ้วแล้วสามารถเอานิ้วโป้ง แตะได้ทั้งสี่นิ้วที่เหลือ เด็กอนุบาลควรเล่นมากที่สุดไม่ใช่เรียนตำรา
“นี่เป็นโอกาสของพ่อแม่ที่ยากจน ที่จะสร้างลูกเป็นลูกพันธุ์ใหม่ รัฐต้องปลดล็อค งานรวมๆ ที่ต้องทำเช่น การอ่านนิทาน รัฐต้องเข้ามาส่งเสริม หนังสือนิทานต้องถูกลง พ่อแม่ต้องทำในวัย 3 ขวบแรกเป็นอย่างน้อย สวัสดิการของพ่อแม่ต้องปรับตัว ต่อมาเด็กก่อน 2 ขวบต้องไม่อนุญาตให้อยู่หน้าจอ เพราะภาพเคลื่อนไหวจะกระทบสมองอย่างมาก ความเสียหายไม่คุ้ม” นพ.ประเสริฐ กล่าว และว่า ก่อน 7 ขวบควรปล่อยให้เด็กเล่นอย่างเดียว ต้องไม่มีการเรียน
ส่วนการอ่านเขียนคิดเลขนั้น นักวิชาการด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน กล่าวว่า ต้องทำกันที่อายุ 7 ขวบ ถ้ารัฐไม่ปลดล็อคเราก็จะเดินอยู่ที่เดิม เพราะต่อให้พ่อแม่ที่รู้ทันก็อาจทำได้แต่ยากหน่อย ต้องมาลางาน ทั้งๆ ที่ยังปากกัดตีนถีบ
“ความจริงการอ่านออกเขียนได้ไม่เป็นไร รัฐต้องปลดล็อคการศึกษา ระบบการสอบชนะให้มีคนแพ้ทางการศึกษา หรือปัดลงข้างทางต้องยกเลิก เด็กควรเรียนรู้จากการได้ลองทำงาน 12 ปีในวัยเรียน เราสามารถจะสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่ดีได้ แต่วันนี้เราปล่อยมา 40 ปีไม่ทำอะไร นี่จึงเป็นโอกาสเพราะว่าแหล่งเรียนรู้ง่ายขึ้น โรงเรียนมีบทบาทลดลงน้อยลง การเรียนรู้อยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กเอง อยู่ในสมาร์ทโฟน โอกาสปลดล็อคให้พ่อแม่ทั่วประเทศทำได้ก็จะมากขึ้น "
ด้าน ดร.นุชนาฎ รักษี รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า พ่อแม่มีความเข้าใจว่า เด็กอ่านออกเขียนได้ถือว่า เก่ง จริงๆ แล้วช่วงเล็กๆในวัยก่อน 7 ขวบเป็นช่วงที่สมองยังพัฒนาไม่เต็มที่ แต่เมื่อถูกบังคับนั่งไปเขียน นั่งเรียนกวดวิชาก็เกิดภาวะเครียดขึ้นมา เด็กที่มีฐานะ ถูกให้เรียนเพิเศษ ในโลกวันนี้ไม่ใช่เเล้ว การเรียนอย่างเดียวไม่ช่วยให้เขาประสบความสำเร็จได้ เขาไม่มีความสุขไม่สามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นได้
"วัยเล็กๆ ในการพัฒนาเด็กต้องมีความต้่อเนื่องกัน ควรจะมีการส่งต่อพัฒนาเป็นช่วงๆ เด็กตอนนี้มีการรณรงค์กันว่า การสอบเป็นการทำร้ายเด็ก เพราะพ่อแม่ต้องส่งไปกวดวิชา ถ้ายังมีการสอบเข้าป.1 ตรงนี้จะแก้ยากมาก"
ดร.นุชนาฎ กล่าวด้วยว่า ในงานวิจัยของต่างประเทศความเครียดในเด็กมีผลต่อสมอง ทำให้เซลล์ประสาทลดจำนวนลง เด็กไม่มีความสุข แกนสมองเหี่ยวลง เมื่อเทียบกับเด็กปกติ การเรียนพิเศษไม่ได้เกิดจากความอยากเรียน ทักษะEF ของเด็กไทย ในวัย2-6 ปีอยู่ในภาวะที่ปรับปรุง คือ 30% สอดคล้องกับอัตราพัฒนาการเด็กที่มีปัญหาต้องแก้ไขที่อยู่ที่ 30% ส่วนเรื่องไอคิวพบว่า 32% ต่ำกว่าเกณฑ์
“ส่วนของปฐมวัยสำคัญก็จริง วัยอื่นก็สำคัญ เราสามารถพัฒนาได้ เมื่อก่อนคิดว่า อายุเยอะเเล้วเซลล์สมองไม่มีเเล้ว แต่ตอนนี้วิทยาศาสตร์พบว่า สมองส่วนคิดและจำถึงแม้อายุเยอะเเล้ว สามารถสร้างเซลล์ใหม่ขึ้น เรียนรู้ได้ แต่ว่าช้ากว่าเด็กๆ” ดร.นุชนาฎ กล่าว และว่า ในช่วงของวัยรุ่น เป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนเยอะ มีความอยากเป็นตัวเอง เรื่องการฝึกทักษะสำคัญ คิดวิเคราะห์ได้ คนที่อยู่รอบลข้างให้โอกาสได้เลือกตัดสินใจว่า อยากทำอะไร มีเป้าหมายชัดเจน เด็กพอเป็นวัยรุ่น บอกว่า แม่ให้ข้อมูลก็พอ การตัดสินใจขอทำเอง บางทีเราต้องถอยออกมา ซึ่งเราต้องให้เขาได้ลอง
“ในศตวรรษที่21สิ่งที่สำคัญต้องลงมือทำด้วย เรียนรู้ไปด้วยว่าเกิดปัญหาจะแก้ยังไง เด็กจะสูญเสียความมั่นใจถ้าเราไปขัดหรือเข้าไปแก้ให้ ต้องปล่อยให้เรียนและลงมือทำเอง”